มองภาพใหญ่ปี 2022 เราควรเตรียมตัวอย่างไร เมื่อตลาดมีความไม่แน่นอน

25 May 2022
Freddy Lim and Stephanie Leung
CIO Office

อะไรคือสาเหตุของตลาดการลงทุนที่ปรับตัวลงทั่วโลก และผลการดำเนินงานที่ผ่านมาของเราตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบันเป็นอย่างไร

เรามักได้ยินว่าราคาตราสารหนี้จะเคลื่อนไหวสวนทางกับราคาหุ้นเสมอ (เช่น เมื่อตลาดหุ้นปรับตัวลดลง ฝั่งราคาตราสารหนี้จะปรับเพิ่มขึ้น) แต่ในปี 2022 นี้ เรากลับเห็นทั้งตลาดหุ้นและตลาดตราสารหนี้มีผลตอบแทนติดลบทั้งคู่

CIO Insights May22 1

อ้างอิง: Bloomberg 12 พฤษภาคม 2022

นอกจากนี้ยังเห็นภาวะเงินเฟ้อสูงซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อเงินสดที่เราทุกคนมีอยู่ เพราะจะทำให้มูลค่าที่แท้จริงของเงินสด และอำนาจในการซื้อของเราลดลง แม้แต่ตลาด Cryptocurrency ที่นักลงทุนบางคนมองว่าเป็นสินทรัพย์ที่ช่วยลดผลกระทบจากภาวะเงินเฟ้อ กลับราคาร่วงลงเช่นกัน เมื่อหลายตลาดพร้อมใจปรับตัวลง ทำให้ปีนี้เป็นปีที่ท้าทายสำหรับนักลงทุน

และเมื่อนักลงทุนเห็นพอร์ตติดลบ อาจเกิดความไม่สบายใจ หรือกังวลกับความผันผวนที่เกิดขึ้น ซึ่งเป็นธรรมดาที่คุณจะอยาก Take action หรือเลือกทำบางอย่างในสถานการณ์นี้ เช่น

❌  ปรับลดเงินลงทุนสำหรับแผน DCA ที่ตั้งไว้

❌  ปรับพอร์ต หรือ ปรับสัดส่วนสินทรัพย์

❌  ถอนเงินลงทุนทั้งหมด

ทว่าการปรับฐานของตลาดเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้เสมอ ซึ่งหลังจากการปรับฐาน ตลาดมักฟื้นตัวขึ้น นั่นจึงเป็นสาเหตุว่า ทำไมเราต้องโฟกัสที่ภาพการลงทุนระยะยาวและรักษาวินัยตามแผนที่วางไว้แม้ในช่วงที่ตลาดผันผวน

ทั้งนี้จากช่วงต้นปี 2022 กลยุทธ์การลงทุนของเราที่ชื่อว่า ERAA ได้ทำการ Re-optimisation โดยเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในสินทรัพย์ที่ช่วยลดผลกระทบจากสถานการณ์เงินเฟ้อสูง (Inflation protection) ซึ่งผลลัพธ์ คือพอร์ตแบบ General Investing ของเราในทุกระดับความเสี่ยงมีผลการดำเนินงานที่ดีกว่าเมื่อเทียบกับ Benchmark ของตลาด (ข้อมูลนับจากต้นปีจนถึง 29 เมษายน 2022)¹

แต่ก่อนที่เราจะเจาะลึกผลการดำเนินงานของพอร์ตแบบ General Investing เรามาหาคำตอบกันว่า ปีนี้สาเหตุของความผันผวนเกิดจากอะไร

ต้นเหตุของความผันผวนเกิดจากอะไร?

ภาวะเงินเฟ้อสูงทั่วโลก

ปัจจุบันอัตราเงินเฟ้อในระดับสูงเกิดขึ้นจาก 2 สาเหตุใหญ่ คือ

  • ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้น (Cost-push) ราคาสินค้าและบริการเพิ่มขึ้นจาก Supply Chain disruption หรือการชะงักของห่วงโซ่อุปทานที่เกิดจากสถานการณ์ต่างๆ เช่น ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน และจีนกลับมาใช้มาตรการล็อกดาวน์แบบเข้มงวดเพราะสถานการณ์ Covid-19 ที่ปะทุขึ้นอีกครั้ง
  • ความต้องการซื้อเพิ่มขึ้น (Demand-pull) ราคาสินค้าและบริการเพิ่มขึ้นจากความต้องการที่เพิ่มขึ้น ปัจจุบันเราเห็นว่าความต้องการของผู้บริโภคกลับมาเพิ่มขึ้นในทุกพื้นที่ทั่วโลก จากการผ่อนคลายมาตรการ Social distancing ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจเริ่มกลับมาฟื้นตัว

Fed เริ่มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย

ในสหรัฐ อัตราเงินเฟ้อพุ่งขึ้นสู่จุดสูงสุดในรอบ 40 ปี ทำให้ธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) ต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อควบคุมอัตราเงินเฟ้อ ซึ่งตลาดหรือนักลงทุนต่างจับตามองว่า จากนี้ Fed จะขึ้นอัตราดอกเบี้ยฯ รวดเร็วและรุนแรงแค่ไหน ซึ่งจะทำให้สหรัฐเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยหรือไม่ ปัจจัยนี้ทำให้ตลาดเกิดความผันผวนอย่างมากในช่วงที่ผ่านมา

ทั้งนี้ Fed เปิดฉากการขึ้นอัตราดอกเบี้ยฯ ครั้งแรกในเดือนมีนาคม และต้นเดือนพฤษภาคมนี้ได้ประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยฯ ที่ 0.50% ซึ่งเป็นการปรับดอกเบี้ยครั้งใหญ่ที่สุดตั้งแต่ปี 2000 ทำให้ปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยฯ ของ Fed อยู่ระหว่าง 0.75 - 1%

ขณะที่ตลาดคาดการณ์ว่าช่วงที่เหลือของปี 2022 นี้ Fed จะขึ้นดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่อง และคาดว่าภายในสิ้นปีนี้อัตราดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐอาจอยู่ที่ประมาณ 2.75%

ทำความเข้าใจ ‘เงินเฟ้อ-ดอกเบี้ยขาขึ้น’ ด้วยข้อมูลทางเศรษฐกิจ

แม้ปีนี้เราอาจผ่านจุดสูงสุดของเงินเฟ้อแล้ว แต่เงินเฟ้อน่าจะยังคงอยู่ในระดับสูงจนถึงสิ้นปี

มุมมองของตลาดโดยรวม (Market Consensus) คาดว่า เงินเฟ้อของสหรัฐจะทยอยลดลงอย่างต่อเนื่องตลอดปี 2022 หลังผ่านจุดสูงสุดในเดือนมีนาคม

จากกราฟด้านล่าง เราจะเห็นว่าอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐที่เพิ่มสูงขึ้นนับจากปี 2021 มีสัดส่วนเงินเฟ้อในแต่ละหมวดเพิ่มขึ้นที่แตกต่างกัน เช่น ราคาอาหาร ราคาพลังงาน ฯลฯ

CIO Insights May22 2

อ้างอิง: Bloomberg Economics

ส่วนหนึ่งที่ทำให้เงินเฟ้อสหรัฐปีนี้อยู่ในระดับสูง อาจมาจากฐานที่ต่ำกว่าในปี 2021 (Base effect) และจากการที่ราคาสินค้าบางกลุ่มปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างรุนแรง เพราะ เกิด Supply chain disruption ซึ่งเป็นผลมาจากการระบาดของ Covid-19 และสงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน โดยปัจจุบันการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าบางส่วนเริ่มคลี่คลายลงแล้ว ขณะที่สถานการณ์ล็อกดาวน์จีน จากนโยบาย COVID-zero อาจส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อชะลอตัวลง เพราะการล็อกดาวน์ทำให้ความต้องการใช้โลหะอุตสาหกรรมลดลง และอาจทำให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ (Commodities) อื่นๆ ปรับตัวลดลงด้วย

อย่างไรก็ตาม อัตราเงินเฟ้อ ณ สิ้นปี 2022 นี้น่าจะอยู่ในระดับสูงกว่าช่วงก่อนการระบาด Covid-19 เพราะต้นทุนด้านบริการ เช่น ค่าเช่า ค่าขนส่ง ที่เพิ่มขึ้น จะทำให้อัตราเงินเฟ้อในภาพรวมยังอยู่ในระดับสูง จากสถานการณ์นี้ทำให้เราอาจต้องอยู่กับภาวะเงินเฟ้อที่สูง และอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่สูงกว่าที่เราเคยชินในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา อาจเรียกว่าเป็น New Normal ทางการเงินที่จะเกิดขึ้นในปีนี้

การขึ้นดอกเบี้ยของ Fed ไม่ใช่สัญญาณอันตรายสำหรับตลาดเสมอไป

อัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็นเครื่องมือที่ธนาคารกลางของทุกประเทศใช้เพื่อดูแลเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ โดยการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะทำให้ต้นทุนการกู้ยืมสูงขึ้น และจะชะลออัตราเงินเฟ้อ ขณะเดียวกันการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายทั้งภาคธุรกิจและรายย่อยซึ่งจะช่วยขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจเติบโต

หากย้อนดูสถิติอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐจะพบว่า ดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐเคยอยู่ในระดับสูงหลายครั้ง และในปี 2022 การขึ้นอัตราดอกเบี้ยรอบนี้ก็หมายถึง เศรษฐกิจสหรัฐกำลังจะออกจาก ภาวะอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าระดับปกติที่เกิดขึ้นในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา

CIO Insights May22 3

อ้างอิง: Macrotrends

ขณะเดียวกัน สถานการณ์ดอกเบี้ยขาขึ้นอาจไม่ได้ส่งผลกระทบให้ตลาดหุ้นร่วงลงเสมอไป เราได้วิเคราะห์ข้อมูลผลตอบแทนของตลาดหุ้นและตลาดตราสารหนี้หลังจาก Fed ขึ้นดอกเบี้ยครั้งที่ 2 ในวัฏจักรดอกเบี้ยขาขึ้นในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา พบว่า

  • 1 เดือนหลังจากนั้น ตลาดหุ้นและตลาดตราสารหนี้มีการปรับตัวลดลงไม่มากนัก โดยเฉลี่ยติดลบไม่ถึง 1%
  • 1 ปีหลังจากนั้น ตลาดหุ้นและตลาดตราสารหนี้ฟื้นตัวกลับมา และให้ผลตอบแทนเป็นบวก
CIO Insights May22 4

อ้างอิง: StashAway, Bloomberg, พฤษภาคม 2022

CIO Insights May22 5

อ้างอิง: StashAway, Bloomberg, พฤษภาคม 2022

ดังนั้น เมื่อตลาดมีความผันผวนจากการปรับอัตราดอกเบี้ยตามวัฏจักรดอกเบี้ยขาขึ้น นักลงทุนที่มองภาพระยะยาวและยังคงลงทุนอย่างต่อเนื่องจะสามารถมองข้ามความผันผวนในระยะสั้นและได้ผลลัพธ์ที่ดีจากการลงทุนอย่างมีวินัย

ต้นปี 2022 เราได้ทำการปรับพอร์ตของคุณให้พร้อมรับมือภาวะเงินเฟ้อสูง-ดอกเบี้ยขาขึ้น

เดือนมกราคม 2022 ที่ผ่านมา เทคโนโลยีการลงทุน ERAAของเราได้ปรับ Asset Allocation ให้พอร์ตของคุณโดยคำนึงถึงภาวะเงินเฟ้อสูงไว้แล้ว ด้วยการ:

  • ปรับลดสัดส่วนลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว และกลุ่มประเทศเกิดใหม่ โดยแทนที่ด้วยหุ้นกู้ภาคเอกชนคุณภาพดีของสหรัฐ และพันธบัตรรัฐบาลที่อ้างอิงตามอัตราเงินเฟ้อ (Inflation-linked Government Bonds)
  • ปรับลดสัดส่วนลงทุนในหุ้นกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค REITs และกลุ่มพลังงานในสหรัฐ ซึ่งมี Valuation สูง โดยแทนที่ด้วยหุ้นกลุ่มบริษัทขนาดเล็ก (Small-cap) และหุ้นกลุ่มการเงินในสหรัฐ

ทั้งนี้ หลังจากการปรับพอร์ตการลงทุนทั้งหมด เราเห็นแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดี โดยผลการดำเนินงานของเราตั้งแต่ต้นปี 2022 ถึงปัจจุบัน มีผลตอบแทนที่ดีกว่า Benchmark ในทุกระดับความเสี่ยง

CIO Insights May22 6

อ้างอิง: StashAway, Bloomberg เมื่อ 29 เมษายน 2022¹

นักลงทุนควรทำอย่างไรในช่วงที่ตลาดมีความไม่แน่นอนสูง

เมื่อเกิดความผันผวนในตลาดการลงทุน สิ่งที่สำคัญและทำได้ง่ายที่สุดคือ Stay invested หรือเดินหน้าลงทุนอย่างมีวินัยตามเป้าหมายที่วางไว้เดิม เพราะเมื่อต้องเจอกับสถานการณ์ที่มีความไม่แน่นอนสูงอย่างในปัจจุบัน นักลงทุนอาจตัดสินใจด้วยอารมณ์มากกว่าตัดสินใจบนพื้นฐานของสถานการณ์จริงที่เกิดขึ้น ซึ่งอาจยิ่งสร้างความผันผวนให้เกิดขึ้นในตลาด

นักลงทุนที่ประสบความสำเร็จส่วนใหญ่จะเข้าใจธรรมชาติของตลาดว่ามักจะตอบสนองกับความผันผวนมากกว่าความเป็นจริง พวกเขาจึงยังรักษาวินัยและลงทุนอย่างสม่ำเสมอท่ามกลางสภาวะเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา

หากคุณมีเงินเก็บสำหรับค่าใช้จ่ายในระยะสั้น รวมทั้งมีเงินสำรองฉุกเฉินเพียงพอแล้ว จะทำให้คุณก้าวข้ามความผันผวนในระยะสั้นได้ง่ายขึ้น และสามารถลงทุนเพื่อเป้าหมายในระยะยาวได้อย่างสบายใจ

ดังนั้น สิ่งที่นักลงทุนควรทำอย่างต่อเนื่องในช่วงเวลาที่ผลตอบแทนอาจไม่เป็นไปตามเป้า คือ

✅  รักษาระดับเงินลงทุนสำหรับ DCA ไว้ตามเดิม

✅  รักษาระดับ SRI ไว้ หากระดับความเสี่ยงนี้เหมาะกับคุณในระยะยาวอย่างแท้จริง

✅  ลงทุนอย่างมีวินัย

หากคุณยังไม่จำเป็นต้องใช้เงินในช่วงนี้ การ Stay invested จะช่วยให้คุณไม่ต้องขาดทุนภายใต้ความผันผวนที่เกิดขึ้น และยังเป็นการรักษาโอกาสสร้างผลตอบแทนที่ดีเมื่อตลาดฟื้นตัวในอนาคตอีกด้วย


¹Benchmark ที่เราใช้ในการเปรียบเทียบมาจาก MSCI World Equity Index (ในส่วนของหุ้น) และ FTSE World Government Bond Index (ในส่วนของตราสารหนี้) โดยน้ำหนักของ Benchmark ที่เราใช้จะมีค่าความผันผวนที่เกิดขึ้นจริง (Realized Volatility) ในระยะเวลา 10 ปี เท่ากับระดับความเสี่ยง StashAway Risk Index

การเปรียบเทียบผลการดําเนินงานดังกล่าวมาจากผลตอบแทนก่อนหักค่าธรรมเนียม โดยอยู่ในสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ (นับจากต้นปีนี้ถึง 29 เมษายน 2022)

ผลการดำเนินงานในอดีตไม่ได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต การลงทุนมีความเสี่ยง โปรดทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน และความเสี่ยง ก่อนตัดสินใจลงทุน



แชร์บทความนี้

  • linkedin
  • facebook
  • twitter
  • email

อยากอ่านเพิ่ม?

เราหวังว่าคุณจะได้ประโยชน์ จากบทความของเรา

ร่วมเป็นส่วนหนึ่งกับผู้คนอีกหลายแสนคนที่ต้องการวางแผนการเงินและการลงทุนอย่างยั่งยืนด้วยการสมัครรับบทความและบทวิเคราะห์ของเราที่จะส่งตรงถึงอีเมลของคุณ