คุณมีเงินสำรองฉุกเฉินหรือยัง?

18 May 2022
Michele Ferrario
Co-founder และ Group CEO

ช่วง Covid-19 ที่ผ่านมาหลายคนอาจต้องเจอกับเรื่องฉุกเฉิน หรือเรื่องไม่คาดฝันมากมาย และกลายเป็นจุดที่ทำให้เราทุกคนตระหนักว่า การเตรียมตัวและเตรียมเงินสำรองฉุกเฉินสำคัญแค่ไหน

เงินสำรองฉุกเฉิน คืออะไร?

เงินสำรองฉุกเฉิน เป็นเงินก้อนหนึ่งที่คุณแบ่งไว้สำหรับใช้จ่ายในวันที่ต้องเจอกับเรื่องไม่คาดคิด เช่น การเจ็บป่วยที่ต้องใช้เงินรักษาก้อนใหญ่ ถูกเลิกจ้างกะทันหัน ซ่อมบ้านจากน้ำท่วม ฯลฯ

โดยเงินสำรองฉุกเฉินนี้จะเป็นเหมือนปราการสำคัญให้คุณไม่ต้องเครียดหนัก เมื่อเกิดเรื่องที่ไม่คาดคิดแล้วจะหาเงินจากที่ไหน หรือทำให้คุณไม่ต้องกู้เงินแบบเร่งด่วนที่มักมีดอกเบี้ยสูง ซึ่งอาจกลายเป็นกับดักหนี้ที่คุณต้องใช้เวลาเคลียร์อีกหลายปี

ที่สำคัญเราอยากให้คุณมอง เงินสำรองฉุกเฉิน เป็นเงินส่วนที่คุณต้องได้ใช้แน่นอนในอนาคต ที่จะเป็นเหมือนรางวัลตอบแทนวินัยในการออมเงินเมื่อคุณต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้า คุณจึงไม่ควรรู้สึกแย่ ถ้าวันหนึ่งคุณต้องใช้เงินก้อนนี้บางส่วนหรือทั้งหมดก็ตาม


Key Takeaway

  • เตรียมเงินสำรองฉุกเฉินอย่างน้อย 6 เท่า ของค่าใช้จ่ายประจำในแต่ละเดือน เพื่อเป็นตัวช่วยให้เรารับมือเรื่องที่ไม่คาดคิด เช่น การเจ็บป่วย ตกงาน
  • วางแผนเก็บเงินสำรองฯ โดยเริ่มจากการคำนวณว่า แต่ละเดือนเรามีค่าใช้จ่ายเท่าไร และตั้งเป้าหมายการเก็บออมให้ชัดเจน อาจจะลองดูว่าในแต่ละเดือนสามารถลดค่าใช้จ่ายส่วนไหนเพื่อกันมาเป็นเงินสำรองฉุกเฉินได้บ้าง
  • คุณควรเก็บเงินสำรองฉุกเฉินในที่ที่มีระดับความเสี่ยงต่ำ มีสภาพคล่องสูง แต่ยังสามารถให้ผลตอบแทนที่สูงขึ้นเพื่อลดผลกระทบจากอัตราเงินเฟ้อที่อาจเพิ่มขึ้นในอนาคต

เตรียมเงินสำรองฉุกเฉิน 'เท่าไร' ถึงจะเพียงพอ

เบื้องต้นเราควรมีเงินสำรองฉุกเฉินอย่างน้อย 6 เท่าของค่าใช้จ่ายแต่ละเดือน ซึ่งรวมทั้งค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน และเงินออมต่อเดือนที่เราตั้งเป้าหมายไว้

ข้อดีของการรวมเงินออมต่อเดือนไว้ในการคำนวณเสมอ คือ เงินส่วนนี้จะช่วยให้คุณไปถึงเป้าหมายการเงินในระยะยาวได้ตามที่ตั้งใจโดยไม่ต้องหยุดชะงักเมื่อเจอเรื่องฉุกเฉินในชีวิต

ค่าใช้จ่ายแต่ละเดือนมีอะไรบ้าง?

🟢 ค่าเช่าบ้าน/คอนโด, ค่าน้ำค่าไฟ, ค่าโทรศัพท์, สมาชิกฟิตเนส, บริการ Streaming และค่าใช้จ่ายรายเดือนอื่นๆ

🟢 อาหาร, ค่ายา (ที่ต้องใช้ประจำ), ค่าใช้จ่ายเพื่อการเดินทาง และค่าน้ำมัน

🟢 เบี้ยประกันภัย, ค่างวดสินเชื่อ

🟢 เงินออมรายเดือน/การลงทุน และ เงินออมสำหรับการเกษียณ (รวมทั้ง กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ประกันสังคม ฯลฯ)

🟢 เงินที่ให้พ่อแม่รายเดือน

ค่าใช้จ่ายรายเดือนไม่ควรรวมอะไรบ้าง? 

🔴 กระเป๋าแบรนด์เนม หรือ นาฬิกาหรูที่วางแผนจะซื้อ

🔴 ทริปท่องเที่ยว

ถึงตรงนี้ คุณจะคำนวณได้แล้วว่าเงินสำรองฉุกเฉินสำหรับใช้จ่ายในการใช้ชีวิตได้นาน 6 เดือนของคุณอยู่ที่เท่าไร

วางแผนการเก็บเงินฉุกเฉินอย่างไร?

อย่างแรก หากคุณมีเงินสดก้อนใหญ่อยู่แล้ว ต้องเริ่มจากคำถามว่าคุณพร้อมให้เงินก้อนนี้เป็นเงินสำรองฉุกเฉินหรือไม่ หากคำตอบคือ ใช่ คุณสามารถข้ามไปอ่านหัวข้อต่อไปได้เลย

แต่ถ้าคำตอบคือ ไม่ เรามาเริ่มจากวิธีที่ง่ายและทำได้จริงด้วยแผนการออมรายเดือนเพื่อเงินสำรองฉุกเฉินกันเลย!

คำนวณค่าใช้จ่ายรายเดือน เพื่อให้รู้ว่าออมได้เท่าไร

เมื่อคุณคำนวณค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือนแล้ว นอกจากคุณได้รู้ยอดเงินเป้าหมายที่คุณต้องเก็บให้ครบ 6 เท่า คุณจะพอเห็นด้วยว่าในแต่ละเดือนสามารถออมได้เท่าไร จากนั้นหาคำตอบว่าต้องใช้เวลาประมาณกี่เดือนเพื่อไปถึงเป้าหมาย ด้วยสูตรนี้

how many months to build an emergency fund

ตัวอย่างเช่น

  • หากคุณตั้งเป้าเงินสำรองฉุกเฉินไว้ที่ 500,000 บาท
  • คุณมีเงินสดอยู่ 200,000 บาท
  • แสดงว่าคุณจะต้องเก็บเงินเพิ่มอีก 300,000 บาท

ดังนั้น หากคุณมองว่าในแต่ละเดือนสามารถแบ่งเงินมาเพิ่มได้ 10,000 บาท แปลว่า จากเงินที่ต้องเก็บเพิ่มอีก 300,000 บาท หารด้วย 10,000 บาท เท่ากับคุณจะใช้เวลาราว 30 เดือน เพื่อไปถึงเป้าหมายเงินสำรองฉุกเฉินก้อนนี้ของคุณ

จากตัวอย่างนี้อาจจะใช้เวลานานสักนิด แต่ถ้าอยากให้ไปถึงเป้าหมายเร็วขึ้น คุณอาจเก็บเงินมากขึ้นในแต่ละเดือน หรือลดค่าใช้จ่ายบางส่วนที่คุณมองว่ายังลดลงได้ (เช่น ค่าเครื่องดื่ม ค่าอาหารมื้อพิเศษ ช้อปปิ้งกระเป๋าดีไซเนอร์ดัง ฯลฯ)

กำหนดกรอบเวลาเพื่อถึงเป้าหมายในเวลาที่ต้องการ

อีกหนึ่งวิธี คือ ตีกรอบเวลาให้ชัดเจนว่าคุณอยากเก็บเงินก้อนนี้ให้ได้ภายในระยะเวลากี่เดือน ด้วยสูตรนี้

emergency fund amount calculation

จากตัวอย่างเดิม หากเราตั้งเป้าว่าจะเก็บเงินสำรองฉุกเฉินรวม 500,000 บาท โดยมีเงินสดอยู่แล้ว 200,000 บาท ดังนั้นคุณต้องเก็บเงินเพิ่มอีก 300,000 บาท

หากคุณอยากตั้งเป้าหมายว่าจะเก็บเงินก้อนนี้ภายใน 1 ปี หรือ 12 เดือน สามารถนำ 300,000 บาท หารด้วย 12 เดือน เท่ากับว่าคุณต้องแบ่งเงินเพื่อเติมไปในเงินสำรองฯ เดือนละ 25,000 บาท

ไปถึงเป้าหมายได้เร็วขึ้น แค่ลองปรับพฤติกรรม

หลังจากลองคำนวณรายได้และค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือนแล้ว ถ้าคุณยังรู้สึกว่าแบ่งเงินมาเก็บได้ยาก คุณอาจลองปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์บางอย่างในช่วงเวลานี้เพื่อช่วยลดค่าใช้จ่ายลง เช่น ค่าเช่าที่พัก ลดค่าอาหารมื้อพิเศษ ฯลฯ เพื่อที่คุณจะได้มีเงินมาเติมในส่วนนี้ได้เร็วขึ้น ซึ่งการปรับเปลี่ยนการใช้จ่ายเล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้จะส่งผลดีกับคุณเมื่อในอนาคตเมื่อเกิดเรื่องไม่คาดคิดได้อย่างแน่นอน

ที่สำคัญ หลังจากคุณเก็บเงินสำรองฉุกเฉินได้ตามเป้าแล้ว เงินส่วนที่คุณแบ่งออมมาตลอดเส้นทางสามารถนำไปเริ่มวางแผนการเงินเพื่อเป้าหมายอื่นๆ ต่อได้เลย และวิธีนี้อาจช่วยให้คุณไปถึงเป้าหมายที่สำคัญในชีวิตได้เร็วขึ้น อย่างเช่น สามารถซื้อบ้านได้หลังใหญ่ขึ้น หรือ เกษียณก่อนกำหนดได้ถึง 5 ปี

เงินสำรองฉุกเฉิน ควรเก็บไว้ที่ไหน?

อย่างแรก เงินสำรองฉุกเฉินของคุณต้องสามารถถอนมาใช้ได้อย่างรวดเร็วเมื่อคุณมีเหตุที่ต้องใช้ ซึ่งหมายถึงการเก็บเงินก้อนนี้ในที่ที่มีสภาพคล่องสูง เราจึงแนะนำให้คุณแบ่งเก็บเงินก้อนนี้ประมาณครึ่งหนึ่งใน บัญชีเงินฝากออมทรัพย์พิเศษ หรือ กองทุนรวมตลาดเงิน

อีกส่วนที่เหลือ คุณสามารถนำไปลงทุนในพอร์ตที่ความเสี่ยงไม่สูงนัก ยกตัวอย่างเช่น พอร์ตแบบ General Investing ที่ระดับ SRI 6.5% ซึ่งมีผลตอบแทนเฉลี่ยต่อปีอยู่ที่ 2.3% และมีผลตอบแทนสะสมที่ 11.2%¹

ประกันภัยถือเป็นเงินสำรองฉุกเฉินได้ไหม?

ไม่ว่าจะประกันชีวิต ประกันสุขภาพ หรือประกันแบบอื่นๆ ล้วนเกิดขึ้นมาเพื่อลดความเสี่ยงในแต่ละด้าน แต่อาจไม่เหมาะเป็นเงินสำรองฉุกเฉิน เนื่องจากประกันที่เราซื้อจะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายฉุกเฉินก้อนใหญ่ๆ อย่างเช่น อุบัติเหตุ การเจ็บป่วย

แต่เราไม่ควรมองประกันเทียบเท่ากับเงินในบัญชีธนาคารที่สามารถถอนออกมาได้ทันทีเสมอไป เพราะการเคลมประกัน (หรือเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน) มักใช้เวลาในการทำเรื่องเพื่อเบิกจ่าย จึงยังไม่ตอบโจทย์การเป็นเงินสำรองฉุกเฉินที่ต้องมีสภาพคล่องสูง

เงินสำรองฉุกเฉินควรใช้ตอนไหน?

เมื่อเราเก็บเงินสำรองฉุกเฉินได้ตามเป้าหมายแล้ว เราแนะนำให้คุณใช้เงินก้อนนี้สำหรับเรื่องฉุกเฉินจริงๆ เช่น

  • ถูกเลิกจ้างกะทันหัน
  • หลังคารั่วจนต้องซ่อมแซมด่วน
  • เจ็บป่วยต้องผ่าตัดฉุกเฉิน

เรื่องที่ไม่ฉุกเฉิน เช่น

  • ทริปท่องเที่ยวที่คิดออกในนาทีสุดท้าย
  • ทำศัลยกรรมเพื่อความงาม หรือ ซื้อผลิตภัณฑ์บำรุงผิว/แต่งหน้า
  • เงินดาวน์บ้าน หรือ รถยนต์

ถ้าใช้เงินสำรองฯ แล้ว ต้องทำอย่างไรต่อ?

เมื่อถึงคราวจำเป็นที่ต้องใช้เงินก้อนนี้กับเรื่องฉุกเฉินจริงๆ อย่าลืมขอบคุณและภูมิใจในตัวเองที่ทั้งวางแผน เก็บออมอย่างมีวินัย และสามารถใช้เงินส่วนนี้เพื่อดูแลตัวคุณและครอบครัวกับเรื่องไม่คาดคิดได้เป็นอย่างดี

หลังจากนั้น คุณอาจต้องพักแผนการเก็บเงินสำหรับเป้าหมายอื่นๆ หรือ การลงทุนไว้ก่อน และเริ่มต้นเก็บเงินสำรองฉุกเฉินอีกครั้ง เช่น ชะลอแผนที่จะซื้อบ้านใหม่ในอีก 6 เดือนข้างหน้า แล้วหันมาเติมเงินส่วนนี้ให้เต็มก่อนเพื่อความอุ่นใจในการใช้ชีวิตของคุณและคนที่คุณรักในวันนี้

แล้วตอนนี้คุณมีเงินสำรองฉุกเฉินหรือยัง?

การเก็บเงินสำรองฯ ไม่ใช่เรื่องของเป้าหมายระยะยาว แต่คุณควรสร้างเงินก้อนนี้ให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพราะคุณไม่มีทางรู้ว่าจะมีเหตุให้ต้องใช้เงินแบบฉุกเฉินเมื่อไร

หัวใจสำคัญ คือ คุณควรมีเงินสำรองฉุกเฉิน ก่อนที่จะวางแผนลงทุนหรือวางแผนการเงินเรื่องอื่นๆ ในชีวิต

StashAway เข้าใจว่าการเก็บเงินเพื่อดาวน์บ้านหรือซื้อรถอาจดูน่าตื่นเต้นและจูงใจคุณได้มากกว่าการเก็บเงินสำรองฉุกเฉิน แต่เชื่อเถอะว่า เงินสำรองฉุกเฉินที่คุณเก็บในวันนี้จะเป็นปราการชั้นดีที่ช่วยให้คุณและคนที่คุณรักใช้ชีวิตได้ง่ายขึ้นเมื่อต้องเจอกับเรื่องไม่คาดคิดในอนาคต


¹ ผลการดําเนินงานดังกล่าวมาจากผลตอบแทนก่อนหักค่าธรรมเนียม โดยอยู่ในสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ ผลการดําเนินงานมาจากพอร์ตที่ใช้กลยุทธ์การลงทุน ERAA™ ตั้งแต่เริ่มให้บริการในประเทศสิงค์โปร์ เริ่มในเดือน กรกฎาคม 2017 ถึง มีนาคม 2022

การลงทุนมีความเสี่ยง โปรดทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน และความเสี่ยง ก่อนตัดสินใจลงทุน; ผลการดำเนินงานในอดีตไม่ได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต


แชร์บทความนี้

  • linkedin
  • facebook
  • twitter
  • email

อยากอ่านเพิ่ม?

เราหวังว่าคุณจะได้ประโยชน์ จากบทความของเรา

ร่วมเป็นส่วนหนึ่งกับผู้คนอีกหลายแสนคนที่ต้องการวางแผนการเงินและการลงทุนอย่างยั่งยืนด้วยการสมัครรับบทความและบทวิเคราะห์ของเราที่จะส่งตรงถึงอีเมลของคุณ