เริ่มต้นปีด้วย 5 New Year’s Resolution ด้านการเงิน

27 December 2021

ช่วงเวลาสิ้นปีหรือเริ่มต้นปีใหม่เป็นช่วงที่เหมาะที่สุดที่เราจะทบทวน Financial habits หรือ นิสัยด้านการเงินของตัวเอง ว่าตลอดทั้งปีที่ผ่านมามีอะไรที่เราควรปรับปรุงแล้วเริ่มต้นอีกครั้งในปีใหม่บ้าง

เชื่อไหมว่าการมี New Year’s Resolution ด้านการเงิน เพียง 1-2 ข้อ บวกกับการสร้างทัศนคติที่ดีต่อการวางแผนด้านการเงิน ก็ช่วยให้คุณเริ่มต้นปีได้แบบมีชัยไปกว่าครึ่ง เพราะนอกจากจะช่วยให้คุณคุมค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นได้ดีขึ้น ช่วยลดความกังวลเรื่องเงินให้น้อยลง ยังส่งผลดีกับสุขภาพจิตและสุขภาพการเงินโดยรวมอีกด้วย

StashAway จึงอยากแนะนำให้คุณเริ่มต้นปี 2022 ด้วย New Year’s Resolution ด้านการเงิน ทั้ง 5 ข้อนี้

1. วางแผนการใช้จ่าย

หลายๆ คนคงเคยซื้อของแล้วกลับมาเสียใจทีหลังโดยเฉพาะในช่วงล็อกดาวน์ที่ผ่านมา เราอาจเผลอสั่งซื้อของบางอย่างไปโดยไม่ทันได้คิดให้รอบคอบ เช่น อุปกรณ์ออกกำลังหรือเครื่องใช้ในครัว การช้อปปิ้งอย่างเพลิดเพลินอาจทำให้คุณรู้สึกดีในช่วงสั้นๆ แต่มันก็อาจจะกระทบกับแผนการเงินหรือค่าใช้จ่ายยามฉุกเฉินของเราในวันข้างหน้าได้ อย่าลืมว่า ‘การใช้จ่ายในวันนี้ = คุณกำลังเอาเงินสำหรับอนาคตมาใช้’

ดังนั้น การวางแผนการใช้จ่ายจะช่วยไม่ให้คุณเผลอใช้จ่ายเกินความจำเป็น และจะไม่กระทบกับแผนการออมหรือการลงทุนซึ่งเป็นสิ่งสำคัญ เริ่มต้นได้ง่ายๆ ด้วยการทำบัญชีรายรับ-รายจ่ายย้อนหลัง 2-3 เดือน เพื่อดูว่าเราใช้จ่ายไปกับสิ่งเหล่านี้เท่าไหร่บ้าง:

  • สิ่งจำเป็น เช่น อาหาร ค่าเช่าห้อง และค่าน้ำค่าไฟ
  • สิ่งของที่ซื้อตามความต้องการ เช่น สิ่งของเพื่อความบันเทิงและการพักผ่อน
  • เงินออม เงินลงทุน และหนี้สินคงเหลือ

ข้อมูลส่วนนี้จะช่วยให้เราเห็นภาพชัดขึ้นว่าเราควรจัดสรรเงินในแต่ละเดือนอย่างไร และสามารถตัดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นออกเพื่อแบ่งเป็นเงินออมเพิ่มขึ้นได้มากน้อยแค่ไหน หรือ ลองใช้หลักการ 50/30/20 เพื่อแบ่งเงินที่จะใช้รายเดือนออกเป็น

50% สำหรับค่าใช้จ่ายจำเป็น: ค่าใช้จ่ายรายวัน ค่าอาหาร หรือเงินซื้อของเข้าบ้าน

30% สำหรับซื้อของที่เราอยากได้

20% กันไว้เป็นเงินออม เงินลงทุน หรือไว้จ่ายหนี้

นี่เป็นเพียงแนวทางเท่านั้น แต่เราอยากแนะนำให้คุณปรับสัดส่วนเงินให้เหมาะกับตัวเอง โดยเน้นส่วนที่เป็นเงินออมหรือลงทุนให้ได้มากที่สุดเท่าที่ทำได้ เพราะยิ่งคุณสามารถแบ่งเงินมาลงส่วนนี้ได้มากเท่าไหร่ คุณก็จะบรรลุเป้าหมายทางการเงินได้เร็วขึ้น ที่สำคัญคือ เมื่อจัดสรรสัดส่วนแล้วต้องมีวินัยในการใช้จ่ายให้ได้ตามงบประมาณที่วางไว้

2. จ่ายหนี้บัตรเครดิตให้หมด

การเริ่มปีใหม่แบบไม่มีหนี้บัตรเครดิตค้างอยู่ย่อมทำให้สบายใจกว่า เพราะอัตราดอกเบี้ยบัตรเครดิตของไทยอาจสูงถึงปีละ 18% ดังนั้น ถ้าถึงรอบกำหนดชำระแล้วคุณเลือกที่จะจ่ายค่าบัตรเครดิตด้วยจำนวนเงินขั้นต่ำไปเรื่อยๆ ก็เหมือนกับคุณเอาเงินเดือนที่ได้จากการทำงานหนักมาจ่ายดอกเบี้ยที่จะทบต้นไปเรื่อยๆ เช่นกัน

ยกตัวอย่างเช่น ถ้าคุณมีหนี้บัตรเครดิตอยู่ 100,000 บาท และคุณจ่ายขั้นต่ำ 10,000 บาทต่อเดือนที่อัตราดอกเบี้ย 18% ต่อปี คุณจะต้องใช้เวลาทั้งหมด 11 เดือน เพื่อจ่ายหนี้บัตรเครดิตก้อนนี้ให้ครบและต้องจ่ายค่าดอกเบี้ยเพิ่มถึง 7,421 บาท

ด้วยอัตราดอกเบี้ยบัตรเครดิตที่สูงระดับนี้ เราจึงแนะนำให้คุณเคลียร์หนี้คงค้างของบัตรเครดิตทั้งหมดโดยเร็วที่สุด แม้ว่าอาจจะต้องดึงเงินบางส่วนมาจากงบค่าใช้จ่ายหรืองบสำหรับเงินออมและเงินลงทุนก็ตาม

สรุปได้ว่า บัตรเครดิตจะเป็นเครื่องมือทางการเงินที่ดีและมีประโยชน์จากคะแนนสะสมหรือโปรโมชัน Cashback ก็ต่อเมื่อคุณชำระยอดใช้จ่ายเต็มจำนวนและไม่ต้องจ่ายดอกเบี้ยเท่านั้น

3. เก็บเงินสำรองเผื่อฉุกเฉิน

การแพร่ระบาดของโควิด-19 น่าจะเป็นตัวอย่างที่ดีที่สุดของความไม่แน่นอน ซึ่งรวมถึงการที่เราไม่สามารถคาดเดาเหตุการณ์ฉุกเฉินได้เลย

สิ่งสำคัญที่จะช่วยได้ คือ การมีเงินสำรองเผื่อฉุกเฉินให้พอกับค่าใช้จ่ายของเราอย่างน้อย 6 เดือน ซึ่งจะช่วยให้เรามีเงินสำรองใช้หากเกิดเหตุไม่คาดฝันต่างๆ เช่น การโดนเลิกจ้าง การรักษาตัวเมื่อเจ็บป่วย ถ้ามีเงินสำรองเผื่อฉุกเฉินส่วนนี้ไว้แล้ว เราก็ไม่จำเป็นต้องดึงเงินจากส่วนที่ออมหรือลงทุนไว้เพื่อเป้าหมายระยะยาวอย่างเงินเพื่อการเกษียณ หรือ เงินเพื่อการศึกษาลูก

4. ทบทวนเป้าหมายการเงินอีกครั้ง

ช่วงปีใหม่คือช่วงเวลาที่ดีในการรีเฟรชเป้าหมายการเงินใหม่ ลองพิจารณาดูว่ามีเป้าหมายการเงินที่ตั้งใจไว้แต่ยังทำไม่สำเร็จในปีที่ผ่านมาหรือไม่ เป็นเพราะอะไร แล้วเรามาเริ่มต้นใหม่กัน!

เป้าหมายการเงินของคุณอาจจะแบ่งตามระยะเวลาที่คุณอยากไปให้ถึง คือ เป้าหมายการเงินระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว เช่น เก็บเงินสำหรับทริปเดินทางปลายปี เก็บเงินสำหรับซื้อบ้านใน 5 ปีข้างหน้า หรือ เป้าหมายเก็บเงินเพื่อใช้ในยามเกษียณ

โดยแต่ละเป้าหมายการเงินของคุณจะต้องใช้แผนการออมและการลงทุนที่ต่างกัน ขึ้นอยู่กับ:

  • ระยะเวลาที่ตั้งไว้
  • จำนวนเงินที่จำเป็นต้องใช้

ถ้าเป็นเป้าหมายระยะสั้น เราจะสามารถเก็บเงินไว้ในบัญชีออมทรัพย์แบบพิเศษที่ไม่มี Lock-up period แต่ให้ดอกเบี้ยสูงกว่าบัญชีออมทรัพย์ทั่วไปได้ หรือนำเงินไปลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำมากอย่างกองทุนรวมตลาดเงินเพื่อลดผลกระทบจากความผันผวนในระยะสั้นของตลาดที่อาจเกิดขึ้น และยังมั่นใจได้ว่าถ้าต้องการใช้เงินก็สามารถนำเงินส่วนนี้มาใช้ได้ทันที

แต่สำหรับเป้าหมายระยะยาว เราอยากแนะนำให้คุณลงทุนในพอร์ตที่มีการกระจายการลงทุนที่ดีในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงขึ้น ซึ่งจะช่วยเพิ่มโอกาสในการสร้างผลตอบแทนที่ดีในระยะยาว นอกจากนี้ ควรนำทั้งดอกเบี้ย เงินปันผล และผลตอบแทนจากการลงทุนที่ได้กลับไปลงทุนต่อ เพื่อให้คุณสามารถสร้างผลตอบแทนแบบทบต้นให้กับพอร์ตการลงทุนของคุณได้แบบไม่รู้จบ และจะเป็นตัวช่วยเร่งให้คุณบรรลุเป้าหมายทางการเงินได้เร็วขึ้นอีกทาง

ยกตัวอย่าง ถ้าคุณมีเป้าหมายการเงิน คือ การดาวน์บ้านด้วยเงินจำนวน 1,000,000 บาท และคุณจะเก็บเงินด้วยการลงทุนเดือนละ 20,000 บาท ในพอร์ตการลงทุนที่เติบโตปานกลางซึ่งมีผลตอบแทนประมาณ 6% ต่อปี เป้าหมายการเงินนี้ของคุณจะสำเร็จได้ภายในเวลา 4 ปี และยังมีมูลค่ารวมสูงกว่าการเก็บเป็นเงินสดในระยะเวลาเท่ากันถึง 121,956 บาท

เริ่มต้นปีด้วย 5 New Year’s Resolution ด้านการเงิน

5. เริ่มแผนการลงทุนรายเดือน

ตลาดการเงินมีความผันผวนเสมอ วิธีรับมือที่ดีที่สุด คือ ไม่นำเงินทั้งหมดไปเสี่ยงในภาวะตลาดใดตลาดหนึ่งและลงทุนอย่างสม่ำเสมอในจำนวนเท่าๆ กัน หรือการทำ DCA

ตลาดจะมีช่วงขึ้นลงเป็นปกติ ดังนั้นเมื่อคุณทำ DCA หรือลงทุนเป็นประจำทุกเดือน จะทำให้คุณได้ลงทุนทั้งในช่วงที่ราคาสูงและราคาต่ำ แต่ถ้ามองภาพในระยะยาวตลาดมีแนวโน้มที่จะเติบโตขึ้นเรื่อยๆ การทำ DCA ของคุณจึงเป็นการลดความเสี่ยงในการจับจังหวะซื้อ-ขายหลักทรัพย์ (Time the market) หรือการลงทุนด้วยเงินจำนวนมากในเวลาที่ผิดนั่นเอง

นอกจากนี้ การลงทุนอย่างสม่ำเสมอยังเป็นการเพิ่มโอกาสสร้างผลตอบแทนตามการเติบโตของตลาดและผลตอบแทนทบต้นให้กับพอร์ตการลงทุนของคุณ รวมทั้งเป็นการสร้างวินัยทางการเงินที่ดีอีกด้วย

เราอยากให้คุณมองแผนการลงทุนรายเดือนเป็นการสร้างความมั่งคั่งในระยะยาวไม่ใช่การตัดงบค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือน เพราะอนาคตทางการเงินที่มั่นคงจะเกิดขึ้นจากการที่คุณมีวินัยในการลงทุนทุกๆ เดือน โดยที่คุณไม่จำเป็นต้องใช้เวลาหรือเงินจำนวนมากเลย

ทิปส์: การตั้งค่าฝากเงินลงทุนรายเดือนอัตโนมัติ เป็นวิธีที่ง่าย ประหยัดเวลา และไม่ต้องมาคอยจับจังหวะซื้อ-ขายหลักทรัพย์ซึ่งเป็นเรื่องยากในแต่ละเดือนอีกด้วย

เริ่มสร้างวินัยการเงินที่ดี ปีใหม่นี้เริ่มเลย!

เมื่อคุณมี New Year’s Resolution ด้านการเงิน ทั้ง 5 ข้อนี้แล้ว อีกสิ่งที่สำคัญคือ การสร้างแรงบันดาลใจและให้รางวัลตัวเองเล็กๆ น้อยๆ ตลอดเส้นทางของแผนการเงินของคุณ  หรืออาจลองแชร์แผนเหล่านี้กับครอบครัวหรือคนที่คุณรัก เพื่อคอยเตือนให้คุณยังมีวินัยและเดินตามเป้าหมายการเงินอยู่เสมอ รวมทั้งการใช้ตัวช่วยอย่างการตั้งเตือนในปฏิทินมือถือเพื่อคอยติดตามความคืบหน้า และอย่าลืมว่า New Year’s Resolution ด้านการเงินของคุณสามารถปรับเปลี่ยนให้เหมาะกับแต่ละช่วงเวลาของปีได้เสมอ แล้วคุณจะมีสุขภาพและวินัยการเงินที่ดีขึ้นในปี 2022 แน่นอน!


แชร์บทความนี้

  • linkedin
  • facebook
  • twitter
  • email

อยากอ่านเพิ่ม?

เราหวังว่าคุณจะได้ประโยชน์ จากบทความของเรา

ร่วมเป็นส่วนหนึ่งกับผู้คนอีกหลายแสนคนที่ต้องการวางแผนการเงินและการลงทุนอย่างยั่งยืนด้วยการสมัครรับบทความและบทวิเคราะห์ของเราที่จะส่งตรงถึงอีเมลของคุณ