คุณควรเก็บเงินสดไว้เท่าไหร่

11 November 2019
Philipp Muedder
Head of Partnerships

การจัดการเงินสดอย่างมีประสิทธิภาพเป็นปัจจัยสำคัญในการวางแผนการเงินให้ประสบความสำเร็จ ซึ่งการจัดการเงินสดในที่นี้หมายถึงการเก็บเงินสดไว้เท่าที่จำเป็นในที่ที่เหมาะสม เพราะการเก็บเงินสดไว้มากเกินไปไม่เพียงจะทำให้มูลค่าของเงินลดลงตามอัตราเงินเฟ้อ แต่ยังทำให้คุณพลาดโอกาสในการสร้างผลตอบแทนด้วยการลงทุน ในบทความนี้ เราจะมาดูกันว่าคุณควรเก็บเงินสดไว้เท่าไหร่ ควรเก็บไว้ที่ไหน และควรบริหารเงินส่วนที่เหลืออย่างไร

ควรเก็บเงินสดไว้ในบัญชีออมทรัพย์ทั่วไปเท่าไหร่

บัญชีออมทรัพย์โดยทั่วไปในปัจจุบันได้รับดอกเบี้ยต่ำกว่าอัตราเงินเฟ้อ จึงทำให้เงินมีมูลค่าลดลงเรื่อยๆ ดังนั้น คุณจึงควรเก็บเงินไว้ในบัญชีนี้เท่าที่จำเป็นสำหรับค่าใช้จ่ายใน 1-2 เดือนข้างหน้า เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าอาหาร ค่าเดินทาง ค่าผ่อนบ้าน รวมกับค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่วางแผนไว้ เช่น ทริปเที่ยวทะเลในอีก 2 อาทิตย์ หรือถ้าคุณยังรู้สึกว่าเงินจำนวนนี้อาจน้อยเกินไป คุณก็สามารถเผื่อเงินไว้อีกส่วนหนึ่งได้ แต่อย่าลืมว่าถ้าคุณสำรองเงินไว้มากเกินไป คุณก็อาจจะใช้จ่ายเกินความจำเป็น

เมื่อคุณทราบแล้วว่าจะเก็บเงินไว้ในบัญชีออมทรัพย์ทั่วไปเท่าไหร่ ขั้นตอนต่อไปก็คือการเพิ่มโอกาสให้เงินส่วนที่เหลือได้สร้างผลตอบแทนที่สูงกว่าอัตราเงินเฟ้อ โดยแบ่งเงินที่เหลือออกเป็นสามส่วน คือ เงินสำรองฉุกเฉิน (Emergency Fund) เงินสำหรับเป้าหมายในระยะสั้น และเงินสำหรับเป้าหมายในระยะกลางถึงระยะยาว เรามาดูกันว่าควรเก็บเงินสามส่วนนี้ไว้ที่ไหนเพื่อให้คุณวางแผนการเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด

เก็บเงินสำรองฉุกเฉิน (Emergency Fund) ไว้ที่ไหน

เงินสำรองฉุกเฉินเป็นสิ่งที่สำคัญเพื่อรับมือกับเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด และเป็นเงินที่ไม่ควรนำออกมาใช้บ่อยนัก ดังนั้น เพื่อลดผลกระทบของอัตราเงินเฟ้อ คุณควรเก็บเงินส่วนนี้ไว้ในบัญชีที่มีความเสี่ยงต่ำและให้ผลตอบแทนสูงกว่าอัตราเงินเฟ้อ เช่น บัญชีเงินฝากที่ให้ดอกเบี้ยสูง กองทุนตลาดเงิน (Money Market Fund) หรือพอร์ตการลงทุนที่มีความเสี่ยงต่ำ

ถ้าคุณต้องการฝากเงินไว้ในบัญชีเงินฝากที่ให้ดอกเบี้ยสูง ปัจจัยหนึ่งที่ควรพิจารณาคือข้อกำหนดในการได้รับดอกเบี้ย เพราะบางธนาคารอาจโฆษณาว่ามีบัญชีเงินฝากดอกเบี้ยสูง แต่เมื่อศึกษาข้อกำหนดอย่างละเอียดแล้ว คุณอาจพบว่าเงินทั้งหมดอาจไม่ได้รับดอกเบี้ยตามที่โฆษณาไว้ เช่น ถ้าคุณเก็บเงินสำรองฉุกเฉินจำนวน ฿1,000,000 ไว้ในบัญชีเงินฝากที่ได้ดอกเบี้ย 2% ต่อปีโดยไม่ได้ศึกษาข้อกำหนดอย่างละเอียด คุณอาจได้รับดอกเบี้ย 2% จากเงิน ฿100,000 แรกเท่านั้น และส่วนที่เหลืออาจได้รับดอกเบี้ยเท่ากับบัญชีออมทรัพย์ทั่วไป หรือถ้าคุณต้องการฝากเงินในบัญชีเงินฝากประจำเพื่อให้ได้ดอกเบี้ยที่สูงขึ้น อย่าลืมว่าบัญชีประเภทนี้มักมีข้อกำหนดเรื่องระยะเวลาในการถอนเงิน และคุณอาจไม่ได้ดอกเบี้ยถ้าถอนเงินออกก่อน ดังนั้น บัญชีประเภทนี้จึงไม่เหมาะสำหรับการเก็บเงินสำหรับเหตุการณ์ฉุกเฉินที่อาจทำให้คุณต้องถอนเงินออกมาอย่างกะทันหัน

พอร์ตการลงทุนที่มีความเสี่ยงต่ำและสามารถถอนเงินลงทุนเมื่อไหร่ก็ได้จึงอาจเป็นทางเลือกที่ดีกว่าสำหรับการเก็บเงินสำรองฉุกเฉิน โดย StashAway มีพอร์ตการลงทุนแบบ Goal-based Investing สำหรับเงินสำรองฉุกเฉิน ซึ่งจะช่วยให้เงินก้อนนี้มีโอกาสสร้างผลตอบแทนที่สูงขึ้นโดยที่ยังคงรักษาระดับเสี่ยงไม่ให้สูงจนเกินไป โดยเราแนะนำให้เตรียมเงินสำรองฉุกเฉินเพื่อครอบคลุมค่าใช้จ่ายมากกว่า 6 เดือน โดยเงินสำหรับ 1-2 เดือนแรกควรเก็บในบัญชีออมทรัพย์ทั่วไป ส่วนเงินที่เหลือควรนำมาลงทุนในพอร์ตการลงทุนที่มีความเสี่ยงต่ำและไม่มีข้อกำหนดในการถอนเงิน

เก็บเงินสำหรับเป้าหมายระยะสั้น

ไม่ว่าคุณจะวางแผนซื้อบ้าน จัดงานแต่งงาน หรือซื้อรถคันใหม่ ถ้าคุณมีเป้าหมายที่ต้องใช้เงินในระยะเวลาต่ำกว่า 3 ปี เงินสำหรับเป้าหมายเหล่านี้ไม่ควรอยู่ในพอร์ตการลงทุนที่มีความเสี่ยงสูงมาก เพราะอาจทำให้พอร์ตได้รับผลกระทบจากความผันผวนของตลาดและมีมูลค่าลดลงต่ำกว่าจำนวนเงินเป้าหมายในเวลาที่คุณจะต้องใช้เงิน

พอร์ตการลงทุนแบบ Goal-based Investing ออกแบบมาเพื่อวางแผนการลงทุนสำหรับเป้าหมายทางการเงินต่างๆ และแนะนำระดับความเสี่ยงที่เหมาะสมตามระยะเวลาของเป้าหมาย คุณจึงสามารถเพิ่มโอกาสในการสร้างผลตอบแทนที่ดีได้โดยที่ไม่ต้องกังวลว่าพอร์ตจะได้รับผลกระทบจากความผันผวนของตลาดมากเกินไป นอกจากนี้ คุณยังสามารถถอนเงินลงทุนได้ทุกเมื่อโดยไม่มีค่าธรรมเนียม เพื่อให้คุณสามารถเข้าถึงเงินลงทุนของตนเองได้เสมอ

เก็บเงินสำหรับเป้าหมายระยะกลางถึงระยะยาว

ตอนนี้คุณก็ทราบแล้วว่าควรเก็บเงินสดไว้เท่าไหร่ และควรเก็บเงินสำรองฉุกเฉินและเงินสำหรับเป้าหมายระยะสั้นไว้ที่ไหน สำหรับเงินที่เหลือทั้งหมด (เงินสำหรับเป้าหมายระยะกลางถึงระยะยาว) เราขอแนะนำให้นำมาลงทุนโดยคุณสามารถเลือกระดับความเสี่ยงที่สูงกว่าเป้าหมายระยะสั้นได้ เพราะระยะเวลาที่นานจะช่วยให้พอร์ตสามารถฟื้นตัวจากความผันผวนในระยะสั้นและเพิ่มโอกาสในการสร้างผลตอบแทนที่ดีขึ้นได้ นอกจากนี้ เมื่อคุณนำเงินมาลงทุนอย่างต่อเนื่องในระยะกลางถึงระยะยาว คุณจะได้รับผลตอบแทนที่เพิ่มขึ้นจากการทบต้น (Compound Interest) ซึ่งจะช่วยให้คุณบรรลุเป้าหมายทางการเงินที่วางไว้ได้เร็วขึ้น

การจัดการเงินสดและการวางแผนการเงินอย่างเป็นระบบเป็นวิธีง่ายๆ ที่จะช่วยให้คุณเอาชนะอัตราเงินเฟ้อและได้รับประโยชน์สูงสุดจากเงินของคุณ


แชร์บทความนี้

  • linkedin
  • facebook
  • twitter
  • email

อยากอ่านเพิ่ม?

เราหวังว่าคุณจะได้ประโยชน์ จากบทความของเรา

ร่วมเป็นส่วนหนึ่งกับผู้คนอีกหลายแสนคนที่ต้องการวางแผนการเงินและการลงทุนอย่างยั่งยืนด้วยการสมัครรับบทความและบทวิเคราะห์ของเราที่จะส่งตรงถึงอีเมลของคุณ