มุมมองระยะยาวเกี่ยวกับการปรับตัวสู่จุดสูงสุดของ Cryptocurrency ครั้งล่าสุด

24 November 2021
Stephanie Leung
Group CIO

จากการที่ราคาของ Bitcoin และ Ether ปรับตัวสูงขึ้นในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมานี้ เรากำลังจับตาดูศักยภาพระยะยาวของ Cryptocurrency และเทคโนโลยีเบื้องหลังอย่าง Blockchain

ถือว่าเป็นเป็นอีกเดือนที่น่าจับตาสำหรับ Cryptocurrency ซึ่งจากการที่สหรัฐอเมริกาเปิดตัวกองทุนซื้อขายสัญญาล่วงหน้าที่อ้างอิงราคาของ Bitcoin (Bitcoin Future ETF) กองทุนแรก และราคาของ Bitcoin และ Ether ได้ทุบสถิติสูงสุดครั้งใหม่ (All Time High) นอกจากนี้ Facebook ได้ประกาศรีแบรนด์เปลี่ยนชื่อบริษัทเป็น Meta นั้นส่งผลให้โทเค็นที่เกี่ยวข้องกับ Metaverse อย่างเช่นสกุลเงิน MANA ของ Decentraland มีมูลค่าพุ่งสูงขึ้น

ลูกค้าจำนวนมากของเราตื่นเต้นกับข่าวเหล่านี้ และสงสัยว่า Cryptocurrency เหมาะกับการลงทุนระยะยาว และมีศักยภาพในการเติบโตหรือไม่

จากข่าวล่าสุด เราคิดว่าเราควรแชร์มุมมองและแนวโน้มเกี่ยวเรื่องนี้อย่างไรบ้าง โดยพิจารณาศักยภาพในการเติบโตในระยะยาวของ Cryptocurrency และเทคโนโลยีที่ขับเคลื่อนอยู่เบื้องหลังอย่าง Blockchain

เริ่มที่ คำอธิบายสั้นๆ เกี่ยวกับ Cryptocurrency

Cryptocurrency เช่น Bitcoin และ Ether เป็นสกุลเงินดิจิทัลที่มีความปลอดภัยสูง โดย Cryptocurrency ส่วนใหญ่จะถูกสร้างบนเครือข่ายแบบ Decentralised ซึ่งหมายความว่าจะไม่มีหน่วยงานส่วนกลางใดๆ ที่สามารถเข้าถึง เข้าไปยุ่งเกี่ยวหรือควบคุม Cryptocurrency เหล่านี้ได้แต่เพียงผู้เดียว

เครือข่ายแบบ Decentralised เป็นไปได้ด้วยเทคโนโลยี Blockchain ให้คิดว่า Blockchain เป็นระบบที่จัดระเบียบวิธีการจัดเก็บข้อมูล: ช่วยให้ข้อมูลดิจิทัลสามารถบันทึกและแจกจ่ายได้ แต่ไม่สามารถแก้ไขได้

ตัวอย่างเช่น เมื่อคุณชำระเงินด้วย Cryptocurrency ก็จะมีการจัดการและบันทึกธุรกรรมของคุณโดยคอมพิวเตอร์หลายเครื่อง ไม่ใช่แค่เครื่องเดียว ข้อมูลที่บันทึกจะถูกจัดกลุ่มเป็นบล็อก (Block) และบล็อกเหล่านั้นจะผูกโยงเข้ากับบล็อกอื่นๆ ตามลำดับเวลา ทำให้กลายเป็นเครือข่ายหรือเป็นห่วงโซ่ (Chain) ห่วงโซ่นั้นทำหน้าที่เป็นบัญชีธุรกรรมสาธารณะ (Public Ledger) ที่บันทึกธุรกรรมทั้งหมดเอาไว้โดยไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้

202111-Figure1-CIO-Insights-Blockchain applications

Bitcoin เป็น Cryptocurrency ประเภทหนึ่ง และ Cryptocurrency ถูกสร้างขึ้นจากเทคโนโลยี Blockchain

เทคโนโลยี Blockchain มีศักยภาพที่จะเปลี่ยนแปลงระบบการธนาคารแบบดั้งเดิม แต่ Cryptocurrency ยังคงมีความผันผวนสูงจากหัวข้อข่าวใหม่ๆ ความพยายามที่จะควบคุมโดยภาครัฐ และการเก็งกำไร ที่ทำให้เกิดความผันผวนสูงในระยะสั้น ดังนั้นเพื่อให้เข้าใจถึงศักยภาพในการเติบโต เราจำเป็นต้องมองภาพรวม

Cryptocurrency กำลังกลายเป็นสินทรัพย์ประเภทหลักอย่างหนึ่ง

หากเราดู Bitcoin ซึ่งเป็น Cryptocurrency ที่มีมูลค่าตลาดสูงที่สุด เราจะเริ่มเข้าใจว่า Cryptocurrency แพร่หลายไปมากแค่ไหนแล้ว

แม้ว่า Bitcoin จะเพิ่งมีเมื่อราวๆ 12 ปี เท่านั้น แต่ก็สามารถเติบโตตามทันขนาดของตลาดสินทรัพย์ประเภทอื่นที่มีมานานนับพันปีได้อย่างรวดเร็ว ด้วยมูลค่าตลาด 1.2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ทำให้ Bitcoin กำลังจะชนะตลาดโลหะเงินที่มีมูลค่า 1.3 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ และผู้เชี่ยวชาญบางคนเชื่อว่า Bitcoin กำลังจะตามทันตลาดทองคำที่มีมูลค่า 11 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐได้ในไม่ช้านี้

ด้วย Supply ที่จำกัดของ Bitcoin ที่ 21 ล้านเหรียญ ซึ่งปัจจุบันบริษัทต่างๆ ได้เข้าถือครองประมาณ 8% ของเหรียญทั้งหมด นำโดย Microstrategy (บริษัทด้าน Business Intelligence) Square (บริษัทผู้ให้บริการด้านการเงิน) และ Tesla (บริษัทผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้า)

ยิ่งไปกว่านั้น สถาบันการเงินรายใหญ่ต่างๆ เช่น Visa, Mastercard และ PayPal ยังได้เริ่มเสนอการชำระเงินด้วย Cryptocurrency สำหรับสินค้าและบริการออนไลน์อีกด้วย

Bitcoin เพิ่งอยู่ในระยะเริ่มต้น

Bitcoin อยู่ในระยะเติบโตบนเส้น S-Curve ซึ่งเป็นเส้นที่แสดงถึงเส้นทางของการนำเทคโนโลยีใหม่มาปรับใช้ การประมาณการนี้อ้างอิงจากมูลค่ารวมของตลาดทั้งหมดเท่าที่เป็นไปได้ (Total addressable market) ของ Bitcoin เทียบกับระดับการใช้งานจริง (Penetration rate) ในปัจจุบัน ซึ่งบ่งชี้ว่ายังมีโอกาสอีกมากสำหรับการเติบโตในระยะยาวและในอนาคต

202111-Figure1-CIO-Insights-Bitcoin S-Curve

พิจารณาศักยภาพของเทคโนโลยี Blockchain ในมุมกว้าง

ความสำเร็จของ Cryptocurrency ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ แสดงให้เห็นมากกว่าแค่ศักยภาพในการเติบโต แม้ว่า Cryptocurrency จะเป็นประเภทของ Blockchain ที่ได้รับความนิยมสูง แต่หลายอุตสาหกรรมก็กำลังพัฒนาการใช้งาน (Use case) ใหม่ๆ ด้วยเทคโนโลยี Blockchain อีกมากมาย

ด้วยเหตุนี้ เราจึงไม่สามารถมองแค่ศักยภาพของ Cryptocurrency เท่านั้น แต่ต้องมองไปถึงศักยภาพของ Blockchain ด้วย ยกตัวอย่างการใช้งานสำคัญที่เทคโนโลยี Blockchain จะสามารถเปลี่ยนแปลง (Disrupt) อุตสาหกรรมและสร้างโอกาสใหม่ๆ ได้:

Blockchain สามารถช่วยรักษาความปลอดภัยข้อมูลในอุตสาหกรรม Healthcare

โรงพยาบาลและคลินิกสามารถใช้เทคโนโลยี Blockchain เพื่อจัดเก็บข้อมูลคนไข้ได้อย่างปลอดภัย เช่น ข้อมูลบัตรเครดิตและข้อมูลธนาคาร รวมไปถึงประวัติการตรวจสุขภาพและผลการตรวจจีโนม (Genomic testing records) ในขณะเดียวกันเทคโนโลยี Blockchain ก็ช่วยให้ผู้ป่วยและผู้ให้บริการด้านสุขภาพสามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลได้อย่างรวดเร็วและปลอดภัย

Blockchain สามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการติดตามใน Supply chain

บริษัทสามารถใช้ Blockchain เพื่อสร้าง Digital records สำหรับวัสดุและสินค้าต่างๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการตรวจสอบและติดตามวัสดุและสินค้า ตั้งแต่กระบวนการผลิตไปจนถึงการส่งมอบให้ลูกค้า พร้อมทั้งช่วยลดต้นทุนการบริหารจัดการได้

Blockchain ทำให้ NFT หรือ Non-Fungible Token เกิดขึ้นได้

NFT คือโทเคนที่ไม่สามารถทดแทนกันได้ ซึ่ง NFT เป็นหน่วยข้อมูลที่จัดเก็บไว้ใน Blockchain แต่มีลักษณะพิเศษคือ จะไม่ซ้ำกัน (Unique) และไม่สามารถนำอย่างอื่นมาทดแทน (Non-interchangeable) ได้ โดยต้นฉบับมีเพียงหนึ่งเดียว ซึ่งทำให้เราสามารถเป็นเจ้าของสินทรัพย์และทำการซื้อ-ขายสินทรัพย์บนโลกดิจิทัลได้ง่าย ตัวอย่างเช่น ศิลปินบางคนใช้ NFT เพื่อขายงานศิลปะดิจิทัลและสร้าง Feature ที่ทำให้ได้ส่วนแบ่งจากการขายต่อโดยอัตโนมัติ อีกตัวอย่างหนึ่งคือในโลกเกมมิ่ง ซึ่งผู้เล่นสามารถใช้ NFT สำหรับการสร้าง ครอบครอง และซื้อ-ขายทรัพย์สินในเกมที่ไม่ซ้ำใครได้

มองภาพระยะยาวและทำตามแผนที่วางไว้ต่อไป

จากข้อมูลที่เราศึกษาชี้ให้เห็นถึงโอกาสการเติบโตในระยะยาวของ Blockchain ดังนั้นไม่ว่าตลาดจะมีความน่าตื่นเต้นมากแค่ไหน หรือหัวข้อข่าวล่าสุดจะเป็นอย่างไร ขอแนะนำให้มองศักยภาพระยะยาวของ Cryptocurrency และ Blockchain เป็นหลัก

หากคุณกำลังลงทุนใน Cryptocurrency ขอให้ระลึกไว้เสมอว่าประเภทสินทรัพย์นี้ยังคงมีความผันผวนสูง และไม่มีใครสามารถคาดการณ์ได้ว่า Cryptocurrency จะปรับตัวสูงขึ้นหรือลดลงอย่างรุนแรงครั้งต่อไปเมื่อไหร่ ดังนั้น เราแนะนำให้จำกัดสัดส่วนการลงทุนใน  Cryptocurrency ให้ไม่เกิน 5% ของมูลค่าสินทรัพย์สุทธิโดยรวม (Total net worth) ของคุณ และควรลงทุนใน Cryptocurrency ต่อเมื่อคุณเชื่อมั่นในศักยภาพระยะยาว ทำตามแผนที่วางไว้ และอย่าเสี่ยงเกินความจำเป็น


และคุณอาจสนใจสิ่งต่อไปนี้ด้วย:


แชร์บทความนี้

  • linkedin
  • facebook
  • twitter
  • email

อยากอ่านเพิ่ม?

เราหวังว่าคุณจะได้ประโยชน์ จากบทความของเรา

ร่วมเป็นส่วนหนึ่งกับผู้คนอีกหลายแสนคนที่ต้องการวางแผนการเงินและการลงทุนอย่างยั่งยืนด้วยการสมัครรับบทความและบทวิเคราะห์ของเราที่จะส่งตรงถึงอีเมลของคุณ