บทความนี้เป็นสรุปกลยุทธ์การลงทุนของ StashAway ที่มีชื่อว่า ERAA™ (Economic Regime-based Asset Allocation) และหลักการทั้ง 3 ข้อของกลยุทธ์นี้
จากงานวิจัย SPIVA US Scorecard ของปี 2017 พบว่า 90% ของผู้จัดการกองทุนมืออาชีพทำผลตอบแทนได้ต่ำกว่า Benchmark นอกจากนี้ งานวิจัยอีกหลายฉบับยังชี้ให้เห็นว่า 80%-96% ของผลตอบแทนในพอร์ตเกิดจากการบริหาร Asset Allocation มากกว่าการเลือกหลักทรัพย์รายตัว ดังนั้น การบริหาร Asset Allocation จึงเป็นปัจจัยสำคัญในการบริหารการลงทุนของ StashAway เราจึงพัฒนากลยุทธ์การบริหาร Asset Allocation ตามภาวะเศรษฐกิจที่มีชื่อว่า Economic Regime-based Asset Allocation หรือ ERAA™ ขึ้นเพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงการลงทุนที่มีมาตรฐานเดียวกับสถาบันการเงินระดับโลกได้
กลยุทธ์การลงทุน ERAA™ ถูกคิดค้นขึ้นจากงานวิจัยย้อนหลังหลายสิบปีและประสบการณ์ของทีมผู้จัดการกองทุนชื่อดังที่บริหารกองทุนมูลค่าหลายแสนล้านบาท จนเกิดเป็นกลยุทธ์การลงทุนที่ใช้ Data Point ทางเศรษฐกิจหลายพันจุดในการวิเคราะห์และบริหารพอร์ตอย่างเป็นระบบโดยปราศจากอารมณ์และความรู้สึกของมนุษย์ โดยมีหลักการทั้งหมด 3 ข้อ ได้แก่
หลักการที่ 1: ภาวะเศรษฐกิจ (Economic Regime) - ผลตอบแทนและความเสี่ยงของสินทรัพย์แต่ละประเภทแตกต่างกันไปในแต่ละภาวะเศรษฐกิจ ด้วยเหตุนี้ ERAA™ จึงวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงของอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อเพื่อระบุภาวะเศรษฐกิจ แล้วจึงจัด Asset Allocation ที่เหมาะสมที่สุดกับภาวะเศรษฐกิจนั้นๆ อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่ ERAA™ ไม่สามารถระบุภาวะเศรษฐกิจได้เนื่องจากข้อมูลมีความไม่ชัดเจน ระบบจะวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลง (Momentum) ของอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อเพื่อดูทิศทางการเคลื่อนไหว และถ้าไม่สามารถหาข้อสรุปได้ ระบบจะปรับกลยุทธ์การลงทุนเป็นแบบ All-Weather ซึ่งออกแบบมาเพื่อรับมือกับภาวะเศรษฐกิจที่ไม่แน่นอน
หลักการที่ 2: กลไกป้องกันความเสี่ยง (Risk shield) - ERAA™ ใช้กลไก Risk Shield ในการตรวจจับสัญญาณความผิดปกติของตลาดที่อาจนำไปสู่การปรับตัวลงอย่างรุนแรง โดยใช้ค่า Exponential Moving Average (EMA) เพื่อหา Death Cross ในกรณีที่เกิด Death Cross สองครั้งขึ้นไป กลไก Risk Shield จะถูกนำมาใช้แทนหลักการข้อที่ 1 และจะปรับ Asset Allocation ของพอร์ตให้เป็นกลยุทธ์แบบ Protective เพื่อปกป้องพอร์ตจากความเสี่ยงในสถานการณ์ที่ตลาดมีความผันผวนสูงผิดปกติ
หลักการที่ 3: ช่องว่างของมูลค่า (Valuation gaps) - ERAA™ จะใช้ผลต่างระหว่าง Actual Total Return กับ Model Total Return หรือที่เราเรียกว่า Valuation Gap ในการวิเคราะห์มูลค่าสินทรัพย์ตามหลักการ Mean-Reversion เพื่อหาแนวโน้มของผลตอบแทนในอนาคตของสินทรัพย์นั้นๆ
เมื่อ ERAA™ ตรวจพบการเปลี่ยนแปลงตามหลักการข้อใดข้อหนึ่ง ระบบจะทำการ “Re-optimisation” หรือการปรับ Asset Allocation ของพอร์ตให้เหมาะสม โดยเป้าหมายหลักของการทำ Re-optimisation คือ (1) การรักษาความเสี่ยงของพอร์ตให้อยู่ในระดับ StashAway Risk Index ที่กำหนดและ (2) เพิ่มโอกาสในการสร้างผลตอบแทนในภาวะเศรษฐกิจใหม่
การบริหารความเสี่ยงเป็นหัวใจสำคัญของ ERAA™ โดยเราได้ออกแบบกลยุทธ์นี้มาเพื่อรับมือกับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากความผันผวนในภาวะเศรษฐกิจต่างๆ หลังจากการทำ Backtest อย่างละเอียด ทำให้เรามั่นใจว่ากลยุทธ์ ERAA™ สามารถสร้างผลตอบแทนได้ดีกว่า Benchmark** ที่มีระดับความเสี่ยงเท่ากันในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจปี 2008**
โดยทั่วไปกลยุทธ์ในการบริหารพอร์ตการลงทุนมักจะยึดตามทฤษฎี Modern Portfolio Theory (MPT) ของ Harry Markowitz ที่ได้รับรางวัล Nobel สาขาเศรษฐศาสตร์ แต่งานวิจัยหลายฉบับในภายหลังได้สรุปว่า ทฤษฎีนี้ไม่ได้คำนึงถึงปัจจัยภายนอก (Externalities) ซึ่งรวมถึงการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจที่สามารถส่งผลต่อความเสี่ยงและผลตอบแทนของพอร์ตได้อย่างมาก
กลยุทธ์การลงทุน ERAA™ จึงนำทฤษฎี MPT นี้มาพัฒนาขึ้นอีกขั้นเพื่อให้ครอบคลุมถึงปัจจัยทางเศรษฐกิจที่จะส่งผลกระทบต่อผลตอบแทน ความผันผวน และความสัมพันธ์ของสินทรัพย์ โดยหลักการทั้ง 3 ข้อของกลยุทธ์ ERAA™ จะทำงานร่วมกันจนเกิดเป็นกลยุทธ์การบริหารพอร์ตด้วยหลักเศรษฐศาสตร์มหภาคเพื่อสร้างผลตอบแทนที่ดีและควบคุมความเสี่ยงได้ตามที่กำหนดไม่ว่าภาวะเศรษฐกิจจะเปลี่ยนไปอย่างไร
ก่อนที่เราจะลงรายละเอียดเรื่องกลยุทธ์การลงทุน ERAA™ เรามาทำความเข้าใจกันก่อนว่าทำไม ERAA™ จึงเน้นการบริหาร Asset Allocation แทนการเลือกหลักทรัพย์รายตัว
งานวิจัย SPIVA US Scorecard ในปี 2017 พบว่าในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา
92.33% ของผู้จัดการกองทุนที่เน้นลงทุนในหุ้นของบริษัทขนาดใหญ่ (Large-Cap) และ
95.73% ของผู้จัดการกองทุนที่เน้นลงทุนในหุ้นของบริษัทขนาดเล็ก (Small-Cap) ในสหรัฐฯ ทำผลตอบแทนได้ต่ำกว่า Benchmark
ซึ่งหมายความว่ามีผู้จัดการกองทุนแบบ Active เพียง 4-8% เท่านั้นที่สามารถเอาชนะตลาดได้ ซึ่งข้อมูลจากประเทศอื่นๆ ก็ได้ข้อสรุปที่ใกล้เคียงกัน นอกจากนี้ ข้อมูลจากงานวิจัยระยะยาวอีกหลายฉบับยังได้ข้อสรุปว่า 80-96% ของผลตอบแทนของพอร์ตเกิดจากการบริหาร Asset Allocation ไม่ใช่การเลือกหลักทรัพย์รายตัว
นี่คือสาเหตุที่ทำให้ StashAway ไม่ลงทุนในหลักทรัพย์รายตัว และเลี่ยงการลงทุนในกองทุนรวมแบบ Active ในทางกลับกัน เราเลือกที่จะสร้างพอร์ตของลูกค้าผ่านการลงทุนใน ETF (กองทุนรวมดัชนีที่ซื้อ-ขายผ่านตลาดหลักทรัพย์) ซึ่งมีการกระจายความเสี่ยงที่มีประสิทธิภาพ มีสภาพคล่องสูง และมีค่าธรรมเนียมต่ำ นอกจากนี้ การลงทุนใน ETF ยังทำให้เราสามารถเข้าถึงสินทรัพย์ที่หลากหลายจากภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลกได้อีกด้วย
ดังนั้น แทนที่เราจะวิเคราะห์หุ้นรายตัวเพื่อตัดสินใจลงทุนในหุ้น Coca-Cola หรือ Nike เราจะเน้นการวิเคราะห์ข้อมูลทางเศรษฐกิจเพื่อกำหนด Asset Allocation ของพอร์ตให้เหมาะกับภาวะเศรษฐกิจแทน เช่น ในขณะนั้นเราควรลงทุนใน ETF ของดัชนีหุ้นเทคโนโลยีในสหรัฐฯ หุ้นของบริษัทในตลาดเกิดใหม่ พันธบัตรรัฐบาลระยะยาว หรือทองคำหรือไม่ และในสัดส่วนเท่าไหร่
ภาวะเศรษฐกิจเป็นปัจจัยหลักในการสร้างผลตอบแทนของสินทรัพย์ในระยะกลาง เราจึงใช้หลักการนี้ในการกำหนด Asset Allocation ของพอร์ต โดย ERAA™ จะวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงของอัตราเงินเฟ้อที่สัมพันธ์กับอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจเพื่อดูว่าเศรษฐกิจอยู่ในภาวะใด โดยเราแบ่งภาวะเศรษฐกิจออกเป็น 4 ภาวะ ได้แก่ 1. ภาวะ Recession 2. ภาวะ Disinflationary Growth หรือ Good Times 3. ภาวะ Inflationary Growth 4. ภาวะ Stagflation
ภาวะ Recession (ภาวะ A) หรือภาวะเศรษฐกิจถดถอย เป็นช่วงที่อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจมักจะติดลบ ซึ่งส่งผลให้ผู้บริโภคมีรายได้สำหรับจับจ่ายใช้สอยน้อยลง ทำให้ราคาสินค้าและบริการลดลงตามไปด้วยจนเกิดภาวะเงินฝืด ตัวอย่างของภาวะ Recession (ภาวะ A) ที่เห็นได้ชัดคือช่วงวิกฤติเศรษฐกิจปี 2008 (วิกฤติแฮมเบอร์เกอร์)
โดยปกติ หลังจากผ่านภาวะ Recession (ภาวะ A) ไปแล้ว เศรษฐกิจจะเริ่มฟื้นตัวอีกครั้ง อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจจึงเริ่มปรับตัวเป็นบวก โดยที่อัตราเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับต่ำ เราเรียกช่วงนี้ว่าภาวะ Disinflationary Growth (ภาวะ B) หรือ Good Times ซึ่งเป็นช่วงที่เศรษฐกิจเติบโตได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตัวอย่างของภาวะเศรษฐกิจนี้คือเศรษฐกิจโลกช่วงหลังวิกฤติเศรษฐกิจปี 2008 (ระหว่างเดือนมีนาคม 2012 ถึงกุมภาพันธ์ 2015) ซึ่งเป็นการฟื้นตัวจากจุดต่ำสุดในกลางปี 2009
เมื่อเศรษฐกิจเติบโตอย่างรวดเร็วจนถึงจุดหนึ่ง อัตราเงินเฟ้อจะเริ่มเพิ่มขึ้นจนถึงจุดที่ทำให้การเติบโตของเศรษฐกิจมีประสิทธิภาพลดลง ในภาวะนี้ ต้นทุนการผลิตสินค้าและบริการที่สูงขึ้นเรื่อยๆ จะส่งผลให้กำไรของบริษัทต่างๆ เริ่มลดลง ซึ่งทำให้ผลตอบแทนจากหุ้นของบริษัทเหล่านี้ลดลงตามไปด้วย ตัวอย่างของภาวะเศรษฐกิจนี้ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมาคือ เศรษฐกิจของสหรัฐฯ ในช่วงเดือนตุลาคม 2007 ถึงมีนาคม 2008 และช่วงเดือนพฤษภาคม 2011 ถึงพฤศจิกายน 2011 นอกจากนี้ เหตุการณ์ในยุค 1980 และต้นยุค 1990 ยังชี้ให้เห็นว่า อัตราเงินเฟ้อที่สูงสามารถทำให้มูลค่าของพอร์ตลดลงได้อย่างมากถ้าไม่ได้เตรียมรับมือกับภาวะเศรษฐกิจนี้ให้ดี หรือถ้าเก็บเงินสดไว้มากเกินไป
เมื่อมีการเติบโตของอัตราเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้นแต่ไม่ได้รับการควบคุมหรือสูงจนกระทั่งไม่สามารถควบคุมได้แล้ว ต้นทุนในการผลิตสินค้าและบริการจะเพิ่มสูงขึ้นจนผู้ประกอบการไม่สามารถแบกรับไหว อีกทั้งราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้นจะทำให้รายได้ที่ใช้จ่ายได้จริง (Disposable Income) ของผู้บริโภคลดลง โดยอัตราเงินเฟ้อที่สูงเกินไปจะค่อยๆ หักล้างการเติบโตทางเศรษฐกิจจนทำให้อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นลบ เราเรียกภาวะเศรษฐกิจที่อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจติดลบและอัตราเงินเฟ้อสูงนี้ว่าภาวะ Stagflation (ภาวะ D) อย่างไรก็ตาม ภาวะนี้ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยนัก ยกตัวอย่าง ช่วงวิกฤตการณ์น้ำมันปี 1973 และเศรษฐกิจสหรัฐฯ ช่วงเดือนมิถุนายน 2008 ถึงมกราคม 2009 ซึ่งเป็นช่วงก่อนที่วิกฤติเศรษฐกิจปี 2008 จะรุนแรงที่สุด
จุดเด่นของกลยุทธ์การลงทุน ERAA™ คือ ความสามารถในการปรับ Asset Allocation ให้ตอบสนองกับภาวะเศรษฐกิจที่เปลี่ยนไปได้อย่างเป็นระบบ และยังรักษาระดับความเสี่ยงที่นักลงทุนแต่ละรายกำหนดไว้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเราเรียกกระบวนการการปรับพอร์ตนี้ว่า “Re-optimisation” ซึ่งมีเป้าหมายหลัก คือ การรักษาระดับความเสี่ยงของพอร์ตให้ได้ตามที่ลูกค้ากำหนดและหาโอกาสสร้างผลตอบแทนที่ดีไปในเวลาเดียวกัน ไม่ว่าภาวะเศรษฐกิจจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร กลยุทธ์การลงทุน ERAA™ จะพิจารณาการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจที่มีผลกระทบต่อพอร์ตการลงทุนในระยะยาว และจะไม่ตอบสนองต่อความเคลื่อนไหวและความผันผวนของตลาดในระยะสั้น
ERAA™ จะคอยวิเคราะห์ข้อมูลทางเศรษฐกิจอย่างสม่ำเสมอและจะทำการ Re-optimisation เมื่อข้อมูลชี้ชัดว่ามีการเปลี่ยนแปลงตรงตามเงื่อนไขข้อใดข้อหนึ่งดังต่อไปนี้ (1) ตรวจพบการเปลี่ยนแปลงของภาวะเศรษฐกิจ (Economic Regime) (2) ตรวจพบความไม่แน่นอนในตลาด (Risk Shield) (3) ตรวจพบการเปลี่ยนแปลงของมูลค่าสินทรัพย์อย่างมีนัยสำคัญ (Valuation Gap) ทั้ง 3 ข้อนี้คือหลักการของกลยุทธ์การลงทุน ERAA™ ที่เราจะอธิบายเพิ่มเติมหลังจากนี้
ERAA™ จะปรับพอร์ตการลงทุนของลูกค้าโดยการทำ Re-optimisation เมื่อภาวะเศรษฐกิจมีการเปลี่ยนแปลง ซึ่งโดยปกติแล้วการเปลี่ยนแปลงของภาวะเศรษฐกิจจะเกิดขึ้นทุก 3-7 ปี อย่างไรก็ตามในช่วงที่เศรษฐกิจมีความไม่แน่นอนสูง การทำ Re-optimisation อาจเกิดขึ้นได้บ่อยกว่านั้น เช่น ในช่วง 1 ปีก่อนเกิดวิกฤติเศรษฐกิจปี 2008 ที่มีการเปลี่ยนแปลงของภาวะเศรษฐกิจเกิดขึ้นหลายครั้ง โดยเฉพาะในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2007 ถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2010 ที่มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นถึง 4 ครั้ง
การปรับ Asset Allocation ให้เหมาะกับภาวะเศรษฐกิจที่เปลี่ยนไปเป็นสิ่งสำคัญ เนื่องจากสินทรัพย์แต่ละประเภทมีระดับความเสี่ยงและผลตอบแทนที่แตกต่างกันไปในแต่ละภาวะเศรษฐกิจ ยกตัวอย่าง เมื่อภาวะเศรษฐกิจเปลี่ยนจากภาวะ Disinflationary Growth เป็นภาวะ Recession ERAA™ จะปรับ Asset Allocation ของพอร์ตโดยลดการลงทุนในหุ้น และเพิ่มการลงทุนในตราสารหนี้และทองคำ นอกจากนี้ ระบบจะปรับสัดส่วนของหุ้นโดยเพิ่มน้ำหนักในหุ้นตั้งรับ (Defensive Stocks) เช่น หุ้นกลุ่ม Consumer Staples อีกชั้นหนึ่ง
หลักการแรกของกลยุทธ์การลงทุน ERAA™ คือ “ผลตอบแทนและความผันผวนของสินทรัพย์แต่ละประเภทจะแตกต่างกันไปในแต่ละภาวะเศรษฐกิจ” จากการศึกษาข้อมูลย้อนหลังพบว่า หุ้นมักจะสร้างผลตอบแทนได้ดีในช่วงที่เศรษฐกิจเติบโต ส่วนตราสารหนี้และทองคำจะสร้างผลตอบแทนได้ดีในช่วงที่เศรษฐกิจถดถอย อย่างไรก็ตาม หุ้นแต่ละประเภทไม่ได้สร้างผลตอบแทนที่ดีเหมือนกันเสมอไป เช่น หุ้นบริษัทขนาดเล็ก (Small-Cap) จะสร้างผลตอบแทนได้ดีกว่าหุ้นกลุ่ม Consumer Staples ในช่วงที่เศรษฐกิจดี แต่หุ้นกลุ่ม Consumer Staples จะสร้างผลตอบแทนได้ดีกว่าในช่วงที่เศรษฐกิจถดถอย
ดังนั้น ภาวะเศรษฐกิจจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องพิจารณาในการกำหนด Asset Allocation เพราะว่าผลตอบแทนและความผันผวนของสินทรัพย์แต่ละประเภทจะแตกต่างกันไปในแต่ละภาวะเศรษฐกิจ เช่น ถ้าเราดูผลตอบแทนของหุ้นบริษัทขนาดใหญ่ (Large-Cap) ในสหรัฐฯ โดยใช้ SPY (ETF ที่อิงตามดัชนี S&P 500) เป็นตัวอย่าง จะเห็นได้ว่าถึงแม้ผลตอบแทนระยะยาวของ SPY จะอยู่ที่ 9.8% แต่เมื่อเราดูผลตอบแทนของ SPY ในภาวะเศรษฐกิจต่างๆ จะพบว่าผลตอบแทนของ SPY นั้นแตกต่างกันไปอย่างมากในแต่ละภาวะเศรษฐกิจ
จากภาพที่ 2 เราจะเห็นผลตอบแทนของ S&P 500 ในภาวะเศรษฐกิจต่างๆ ตั้งแต่เดือนมกราคม 1982 ถึงธันวาคม 2017 ดังนี้
ภาวะ Stagflation (ภาวะ D): เศรษฐกิจอยู่ในภาวะนี้ประมาณ 9.7% โดย S&P 500 มีผลตอบแทนเฉลี่ยอยู่ที่ +2.7% YoY
ภาวะ Inflationary Growth (ภาวะ C): เศรษฐกิจอยู่ในภาวะนี้ประมาณ 28% โดย S&P 500 มีผลตอบแทนเฉลี่ยอยู่ที่ +8.8% YoY
ภาวะ Disinflationary Growth (ภาวะ B): เศรษฐกิจอยู่ในภาวะนี้ประมาณ 50.7% โดย S&P 500 มีผลตอบแทนเฉลี่ยอยู่ที่ +16.4% YoY
ภาวะ Recession (ภาวะ A): เศรษฐกิจอยู่ในภาวะนี้ประมาณ 11.6% ของช่วงเวลา 35 ปีที่นำมาประเมิน โดย S&P 500 มีผลตอบแทนเฉลี่ยอยู่ที่ -10.3% YoY
นอกจากนี้ ภาวะเศรษฐกิจยังทำให้ความผันผวนของสินทรัพย์แตกต่างกันไป โดยค่าความผันผวนเฉลี่ยรายปีของ S&P 500 เพิ่มขึ้นจาก 14.7% ในช่วงภาวะ Disinflationary Growth เป็น 19% ในช่วงภาวะ Recession
ด้วยเหตุนี้ StashAway จึงนำข้อมูลพฤติกรรมของสินทรัพย์แต่ละประเภทในภาวะเศรษฐกิจต่างๆ มาวิเคราะห์และปรับพอร์ตของลูกค้าให้เหมาะกับภาวะเศรษฐกิจในช่วงเวลานั้นมากที่สุด เพื่อเพิ่มโอกาสในการสร้าง Risk-adjusted return ที่ดียิ่งขึ้นสำหรับนักลงทุนลูกค้าของเรา
สรุปได้ว่า การพิจารณาผลตอบแทนและความผันผวนในแต่ละภาวะเศรษฐกิจสามารถให้ข้อมูลเชิงลึกและเป็นประโยชน์ในการบริหารพอร์ตการลงทุนได้มากกว่าการวิเคราะห์ด้วยค่าเฉลี่ยระยะยาวเพียงอย่างเดียว
จะเกิดอะไรขึ้นถ้าข้อมูลทางเศรษฐกิจมีความไม่ชัดเจน เช่น ถ้าอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจอยู่ที่ 0.1% เราควรที่จะปรับพอร์ตให้เป็นแบบ Growth-oriented หรือไม่ และถ้าอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจอยู่ที่ -0.1% พอร์ตควรถูกปรับเป็นแบบ Protective แล้วหรือยัง
เมื่อข้อมูลทางเศรษฐกิจมีความไม่ชัดเจน ระบบ ERAA™ จะทำการวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลง (Momentum) ของอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อเพิ่มเติมเพื่อดูแนวโน้มของเศรษฐกิจ แต่ถ้าไม่สามารถหาข้อสรุปได้ ระบบจะปรับพอร์ตด้วยกลยุทธ์แบบ All-Weather แทน
กลยุทธ์ All-Weather ออกแบบมาเพื่อรองรับช่วงที่เศรษฐกิจมีความไม่แน่นอนสูงและรอให้เศรษฐกิจมีความชัดเจนมากขึ้น ซึ่งกลยุทธ์ All-Weather จะลดความผันผวนของพอร์ตเพื่อการรักษาเงินต้นและสร้างผลตอบแทนที่ดีไปพร้อมกัน โดยประเภทของกลยุทธ์ All-Weather ที่ใช้จะแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับว่า ความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้นนั้นสัมพันธ์กับอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อ หรือทั้งสองข้อประกอบกัน
กลไกป้องกันความเสี่ยง (Risk shield) ของ ERAA™ ถูกสร้างมาเพื่อตรวจจับสัญญาณความผิดปกติของตลาดที่อาจนำไปสู่การปรับตัวลงอย่างรุนแรงได้ โดยระบบจะทำการวิเคราะห์ค่าความเสี่ยงต่างๆ ด้วยการวิเคราะห์ปัจจัยทางเทคนิค (Technical Analysis) เพื่อตรวจสอบว่าพฤติกรรมของตลาดสอดคล้องกับข้อมูลทางเศรษฐกิจหรือไม่
ERAA™ จะระบุความผิดปกติของสินทรัพย์เมื่อเกิด “Death Cross” อย่างน้อยสองครั้งขึ้นไป โดย Death Cross จะเกิดขึ้นเมื่อเส้น Exponential Moving Average (EMA) ที่มีระยะสั้นตัดลงต่ำกว่าเส้น EMA ที่มีระยะยาวกว่า โดยช่วงเวลาของเส้น EMA จะถูกกำหนดโดยใช้พฤติกรรมราคาตามวัฏจักร (Cyclical Behavior) ของสินทรัพย์ตัวนั้นโดยเฉพาะที่ประเมินด้วย ERAA™ เช่น ระบบอาจใช้เส้น EMA ระยะเวลา 26 วัน 69 วัน 252 วัน หรือนานกว่านั้น หาก ERAA™ พบ Death Cross อย่างน้อยสองครั้ง กลไก Risk Shield จะถูกนำมาใช้แทนหลักการที่ 1 โดยระบบจะปรับ Asset Allocation ของพอร์ตให้เป็นกลยุทธ์แบบ Protective เพื่อรับมือกับความผันผวนของตลาดจนกว่าสภาวะตลาดจะกลับมาเป็นปกติ
ในช่วงตลาดขาลงที่เคยเกิดขึ้นสองครั้งในอดีต การใช้กลไก Risk Shield ของ ERAA™ เพียงอย่างเดียวสามารถช่วยลดการขาดทุน (วัดจากจุดสูงสุดถึงจุดต่ำสุด) ได้มากถึง 78.8%** ในช่วงตลาดขาลงปี 2000-2002 และ 82.9%** ในปี 2008-2009
กลไก Risk shield นี้จะทำงานทุกวันเพื่อช่วยให้เราปรับกลยุทธ์ให้สามารถรับมือกับความผิดปกติของตลาดได้ทันเวลา
นอกจากนี้ ERAA™ จะทำการ Re-optimisation เมื่อระบบตรวจพบว่า “มูลค่าปัจจุบัน” ของสินทรัพย์นั้นแตกต่างจาก “มูลค่าที่แท้จริง” อย่างมีนัยสำคัญ เราเรียกสิ่งนี้ว่า Valuation Gap ในกรณีที่สินทรัพย์มีมูลค่าสูงกว่าความเป็นจริง (Overvalued) ระบบจะลดน้ำหนักการลงทุนในสินทรัพย์ตัวนั้นเพื่อบริหารความเสี่ยงของพอร์ต ในทางกลับกัน หากพบว่าสินทรัพย์มีมูลค่าต่ำกว่าความเป็นจริง (Undervalued) ระบบจะปรับผลตอบแทนคาดหวังของสินทรัพย์ตัวนั้นขึ้น ซึ่งอาจนำไปสู่การเพิ่มน้ำหนักการลงทุนในสินทรัพย์ดังกล่าวเพื่อเพิ่มโอกาสในการสร้างผลตอบแทน โดย ERAA™ จะคอยประเมินมูลค่าของสินทรัพย์อย่างสม่ำเสมอและเมื่อตรวจพบ Valuation Gap ที่มีนัยสำคัญ ระบบจะปรับพอร์ตของลูกค้าให้เหมาะสม เช่น ถ้า ERAA™ ประเมินว่า ETF หุ้นในทวีปเอเชียนั้น Undervalued อย่างมีนัยสำคัญ ระบบจะปรับพอร์ตโดยเพิ่มน้ำหนักในสินทรัพย์นี้เพื่อเพิ่มโอกาสในการสร้างผลตอบแทนให้ดียิ่งขึ้น
การทำ Re-optimisation ที่เกิดจากหลักการ Valuation Gap มักจะเกิดขึ้นปีละ 1-2 ครั้ง แต่การเปลี่ยนแปลงของพอร์ตจะไม่มากเท่ากับการทำ Re-optimisation ที่เกิดจากหลักการที่ 1 และหลักการที่ 2
จากภาพที่ 3 เราจะเห็นการเปรียบเทียบ Actual 3-Year Total Return (เส้นสีส้ม) กับ Model 3-Year Total Return ที่ประเมินด้วย ERAA™ (เส้นสีดำ) เพื่อหา Valuation Gap (เส้นสีเขียว) โดยใช้ XLK ซึ่งเป็น ETF หุ้นเทคโนโลยีของสหรัฐฯ เป็นตัวอย่าง จะเห็นว่า Actual 3-Year Total Return มีแนวโน้มใกล้เคียงกับ Model 3-Year Total Return แต่มีบางช่วงที่ Actual 3-Year Total Return และ Model 3-Year Total Return มีระยะห่างจากกัน ซึ่งค่าความต่างของสองเส้นนี้คือ Valuation Gap ทื่สามารถนำมาสร้างเป็นกราฟเส้นสีเขียวด้านล่างได้
เมื่อ ERAA™ พบว่า XLK มี Valuation Gap ที่สูงอย่างมีนัยสำคัญ แสดงให้เห็นว่าสินทรัพย์นี้มีมูลค่าสูงกว่าความเป็นจริง (Overvalued) เมื่อเปรียบเทียบกับการประเมินมูลค่าที่แท้จริงของ XLK ที่คิดจากอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อ และอัตราดอกเบี้ย ซึ่งมูลค่าที่สูงกว่าความเป็นจริง (Overvalued) นี้ อาจเกิดจากการที่นักลงทุนเข้าซื้อสินทรัพย์มากเกินไปโดยไม่มีเหตุผลรองรับจนทำให้เกิดภาวะฟองสบู่ และทำให้ความเสี่ยงของสินทรัพย์นี้เพิ่มขึ้นมากกว่าปกติ ในกรณีนี้ ระบบจะลดผลตอบแทนคาดหวังของ XLK ลงตาม Valuation Gap ต่อปีที่เกิดขึ้น และเพิ่มค่าความผันผวนขึ้นโดยอิงตามค่าความสัมพันธ์ทางสถิติระหว่างความผันผวนและผลตอบแทนของ XLK กระบวนการดังกล่าวอาจทำให้ ERAA™ ลดน้ำหนักการลงทุนใน XLK ลง โดยขาย XLK ออกแล้วนำเงินส่วนนี้ไปลงทุนในสินทรัพย์อื่นในสัดส่วนที่จะช่วยรักษาระดับความเสี่ยงโดยรวมของพอร์ต
ในทางกลับกัน ถ้าค่า Valuation Gap ของ XLK ที่ติดลบอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งมีความหมายว่าสินทรัพย์นี้มีมูลค่าต่ำกว่าความเป็นจริง (Undervalued) ในภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน ดังนั้น ERAA™ จะเพิ่มผลตอบแทนคาดหวังและลดค่าความผันผวนลง ซึ่งอาจนำไปสู่การเพิ่มน้ำหนักการลงทุนใน XLK เพื่อเพิ่มโอกาสในการสร้างผลตอบแทนให้ดียิ่งขึ้น
เราได้ทำการทดสอบ Backtest** เพื่อประเมินประสิทธิภาพของกลยุทธ์การลงทุน ERAA™ ในการรับมือกับวิกฤติเศรษฐกิจในอดีต โดยสามารถดูตัวอย่างจากวิกฤติเศรษฐกิจปี 2008 ได้ตามภาพด้านล่าง
จากภาพที่ 4 เราจะเห็นว่าในช่วงปลายปี 2007 เศรษฐกิจของสหรัฐฯ ได้เปลี่ยนจากภาวะ Disinflationary Growth หรือ Good Times มาเป็นภาวะ Inflationary Growth โดยมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่เป็นบวกและอัตราเงินเฟ้อที่สูงกว่า 3.1% หลังจากนั้น 6 เดือน เศรษฐกิจของสหรัฐฯ ได้มีการเปลี่ยนแปลงอีกครั้งจากภาวะ Inflationary Growth เป็นภาวะ Stagflation โดยมีสัญญาณที่บ่งบอกถึงแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจเกิดขึ้นครั้งแรกในเดือนพฤษภาคม 2008 เมื่อดัชนี US Industrial Production ติดลบที่ -1.0% YoY หลังจากนั้นอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจเริ่มลดลง ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับสูงที่ 4.1% และมีแนวโน้มที่จะสูงขึ้นเรื่อยๆ จากนั้นเมื่อธนาคาร Lehman Brothers ประกาศล้มละลายในเดือนกันยายน 2008 ดัชนี US Industrial Production ได้ลดลงจาก -1% ไปเป็น -8.3% YoY ซึ่งอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจได้ติดลบมานานกว่า 5 เดือนแล้ว
หลังจากธนาคาร Lehman Brothers ประกาศล้มละลาย อัตราเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับสูงที่ประมาณ 5% ไปอีกระยะหนึ่งและเริ่มปรับตัวลดลงเป็นครั้งแรกในเดือนธันวาคม 2008 หลังจากนั้นอัตราเงินเฟ้อก็เริ่มลดลงอย่างรวดเร็วจนเศรษฐกิจของสหรัฐฯ เข้าสู่ภาวะ Recession อย่างเต็มรูปแบบในเดือนกุมภาพันธ์ 2009
ข้อสรุปจากการทดสอบ Backtest** พบว่า ERAA™ จะสามารถตรวจพบการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจเมื่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ ใกล้เข้าสู่ภาวะ Stagflation ในเดือนพฤษภาคม 2008 และจะทำการปรับลดความเสี่ยงของพอร์ตลงให้เหมาะสมกับภาวะนั้น นอกจากนี้ ในเดือนธันวาคม 2008 ERAA™ ก็สามารถตรวจจับแนวโน้มของอัตราเงินเฟ้อที่ลดลงและทำการ Re-optimisation เพื่อเตรียมรับมือกับภาวะ Recession อีกด้วย
จากภาพที่ 4 จะเห็นว่าพอร์ตที่บริหารโดยกลยุทธ์การลงทุน ERAA™ สามารถรับมือกับวิกฤติเศรษฐกิจปี 2008 ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่าดัชนี S&P 500 และพอร์ต Benchmark** แบบหุ้น 60% ตราสารหนี้ 40% นอกจากนี้ ยังได้รับผลกระทบจากการปรับตัวลงของตลาดน้อยกว่า ซึ่งช่วยให้พอร์ตฟื้นตัวได้เร็วและสามารถสร้างผลตอบแทนที่ดีกว่าได้ในช่วงหลังวิกฤติเศรษฐกิจ
งานวิจัยหลายฉบับได้ข้อสรุปว่าผลตอบแทนในการลงทุนส่วนใหญ่เกิดจากการบริหาร Asset Allocation มากกว่าการเลือกหลักทรัพย์รายตัว นอกจากนี้ข้อมูลในอดีตยังชี้ให้เห็นว่าปัจจัยทางเศรษฐกิจเป็นปัจจัยหลักในการสร้างผลตอบแทนในระยะกลางและระยะยาว โดยทั่วไปแล้ว การจัด Asset Allocation ของพอร์ตจะกำหนดระดับความเสี่ยงในตอนแรก แต่อาจไม่ได้มีการบริหารความเสี่ยงอย่างต่อเนื่องในภายหลัง แต่ที่ StashAway เราเชื่อว่าการบริหารความเสี่ยงเป็นปัจจัยสำคัญในการลงทุนให้ประสบความสำเร็จ เราจึงนำกลยุทธ์การบริหารความเสี่ยงที่เป็นกรรมสิทธิ์ของเรามาผสมผสานกับการบริหาร Asset Allocation ให้เหมาะสมกับภาวะเศรษฐกิจและพัฒนาต่อจนเป็นกลยุทธ์การลงทุน ERAA™ ที่จะสามารถสร้างผลตอบแทนที่ดีไปพร้อมกับการรักษาระดับความเสี่ยงให้ได้ตามที่คุณกำหนด ไม่ว่าภาวะเศรษฐกิจจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร
**หมายเหตุ
การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนโปรดทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทนและความเสี่ยง ก่อนตัดสินใจลงทุน; ผลการดำเนินงานจาก Backtest ไม่ใช่ผลการดำเนินงานในอดีตและไม่ได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต; การเปรียบเทียบผลการดําเนินงานดังกล่าวมาจากผลตอบแทนก่อนหักค่าธรรมเนียม โดยอยู่ในสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ; Benchmark ที่เราใช้ในการเปรียบเทียบมาจาก Vanguard Total Stock Market Index (ในส่วนของหุ้น 60%) และ Vanguard Total Bond Market Index (ในส่วนของตราสารหนี้ 40%)
บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน สแทชอเวย์ (ประเทศไทย) จำกัด (ทะเบียนนิติบุคคลเลขที่: 0105562135522) ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภท ค (การจัดการกองทุนส่วนบุคคลเลขที่ ลค-0136-01) จากกระทรวงการคลังและดำเนินการภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.).
เนื้อหาในหน้าเว็บไซต์นี้เป็นไปตามข้อกำหนดและเงื่อนไขของเราซึ่งระบุไว้ ที่นี่