Weekly Buzz: สัปดาห์ที่โดดเด่นของกลุ่ม Big Tech 💪

จากข้อมูลล่าสุด 1 พ.ค. ดัชนี S&P 500 ปิดบวกต่อเนื่องเป็นวันที่ 8 ถือเป็นการปรับตัวขึ้นรวม 8.6% ซึ่งถือเป็นช่วงขาขึ้นติดต่อกันยาวนานที่สุดนับตั้งแต่ ส.ค. 2024 และเป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่สนับสนุนแนวคิด Stay Invested
เมื่อพิจารณาจากการที่หุ้นกลุ่ม Magnificent Seven โดยเฉพาะบริษัทเทคโนโลยีใหญ่ๆ มีบทบาทสำคัญในการพยุงดัชนี S&P 500 ตลอด 2 ปีที่ผ่านมา จึงไม่น่าแปลกใจที่นักวิเคราะห์ต่างจับตารายงานผลประกอบการของ Microsoft, Amazon, Meta และ Apple อย่างใกล้ชิดในสัปดาห์นี้
เกิดอะไรขึ้น?
นักวิเคราะห์คาดว่าบริษัททั้ง 4 นี้ รวมถึง Alphabet (บริษัทแม่ของ Google), Nvidia และ Tesla จะมีกำไรใน Q1/2025 เติบโตขึ้นประมาณ 20% YoY โดยข้อมูลล่าสุด Microsoft, Meta และ Alphabet ต่างรายงานรายได้ที่สูงกว่าที่ Wall Street คาดไว้ทั้งหมด และจะปิดท้ายด้วย Nvidia ซึ่งจะเปิดเผยผลประกอบการภายในสิ้นเดือนนี้
ในภาพรวม คาดว่าบริษัทต่างๆ ในดัชนี S&P 500 จะมีกำไรเพิ่มขึ้นราว 10% ในไตรมาสที่ผ่านมา และหากผลประกอบการโดยรวมออกมาดี ก็มีโอกาสที่ตลาดหุ้นสหรัฐจะฟื้นตัวอย่างสมดุลและยั่งยืนยิ่งขึ้น หลังจากต้องเผชิญความผันผวนมาจนถึงตอนนี้

อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวของตลาดจะยังขึ้นอยู่กับแนวโน้มเศรษฐกิจของสหรัฐด้วย โดยข้อมูลที่เผยแพร่วันพุธที่ผ่านมาระบุว่า GDP ของสหรัฐหดตัวลง 0.3% ใน Q1 ซึ่งถือเป็นการลดลงอย่างมากเมื่อเทียบกับการเติบโตในไตรมาสก่อนหน้าที่ 2.4%
นอกจากนี้ ต้องไม่ลืมว่าผลกระทบที่แท้จริงของมาตรการภาษีนำเข้ายังคงคลุมเครืออยู่มาก แม้เศรษฐกิจจะหดตัว แต่บรรดานักเศรษฐศาสตร์ก็ยังคาดว่า GDP จะกลับมาเติบโตราว 2% ใน Q2 ซึ่งถือเป็นความคาดหวังที่สมเหตุสมผล เพราะเมื่อเรามองลึกลงไปจะพบว่าสิ่งที่เป็นตัวฉุดเศรษฐกิจใน Q1 คือการนำเข้าที่พุ่งสูงขึ้น เพราะภาคธุรกิจเร่งกักตุนสินค้าไว้ก่อนภาษีจะมีผล โดยการนำเข้าที่ถูกหักลบในการคำนวณ GDP ก็ไม่ได้สะท้อนว่าพื้นฐานของเศรษฐกิจอ่อนแอแต่อย่างใด โดยผลกระทบที่มากกว่านี้ต่อธุรกิจและผู้บริโภคน่าจะปรากฏให้เห็นชัดขึ้นในช่วงเดือนถัดไป
Key Takeaway
ตอนนี้สายตาทุกคู่กำลังจับจ้องไปที่บรรดาบริษัทเทคฯ ยักษ์ใหญ่ของสหรัฐว่าจะสามารถรายงานผลประกอบการที่แข็งแกร่งได้หรือไม่ ท่ามกลางเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง ซึ่งอาจเปิดทางให้มีการลดดอกเบี้ย และถ้าหากผลประกอบการของบริษัทต่างๆ ออกมาดี บวกกับแนวโน้มการลดดอกเบี้ย ทั้ง 2 ปัจจัยนี้ก็อาจเป็นส่วนผสมที่ตลาดต้องการเพื่อเรียกความเชื่อมั่นกลับมาอีกครั้ง
💡 Investors’ Corner: ปี 2025 เป็นเครื่องพิสูจน์ว่า ‘การกระจายการลงทุน’ มีความสำคัญอย่างยิ่ง
การทุ่มเงินลงทุนไปในบริษัทเดียว กลุ่มธุรกิจเดียว หรือธีมเดียว อาจสร้างความตื่นเต้นให้คุณได้ เพราะมันให้ความรู้สึกเหมือนว่าคุณได้ตัดสินใจอย่างเด็ดขาด และหากการตัดสินใจนั้นไม่ประสบความสำเร็จ อย่างน้อยคุณก็ยังปลอบตัวเองได้ว่าคุณได้พยายามทำอย่างเต็มที่แล้ว แต่ความเสี่ยงของการลงทุนแบบกระจุกตัวนั้นเกิดขึ้นได้ง่าย เนื่องจากการลงทุนแบบนี้จะประสบความสำเร็จได้ก็ต่อเมื่อ ‘แนวคิด’ และ ‘จังหวะเวลา’ ของคุณถูกต้องแบบพอเหมาะพอเจาะเท่านั้น อธิบายง่ายๆ คือ การลงทุนของคุณจะยังขึ้นอยู่กับสภาพเศรษฐกิจ Sentiment ของตลาด และปัจจัยอื่นๆ อีกมาก
อันตรายที่แท้จริง คือ ระหว่างทางอาจมีช่วงเวลาที่ทำให้คุณรู้สึกหวั่นไหวจนตัดสินใจขายหุ้นทิ้งเมื่อสถานการณ์ดูย่ำแย่ โดยการที่พอร์ตปรับตัวลงหนักอาจนำไปสู่การตัดสินใจที่ใช้อารมณ์ และการขาดทุนที่เลวร้ายที่สุดก็มักเกิดขึ้นเมื่อนักลงทุนตัดใจเทขายสินทรัพย์ออกมาตอนราคาต่ำสุด พวกเขาจึงพลาดโอกาสในช่วงที่ตลาด Rebound กลับมา ดังนั้น การ Stay Invested จึงดีกว่าการลงทุนแบบเทหมดหน้าตัก ซึ่งการมีพอร์ตที่มีการกระจายการลงทุนที่ดี จะช่วยให้คุณผ่านทุกความผันผวนไปได้ และยังเป็นวิธีที่เหมาะสมที่สุดในการบรรลุเป้าหมายทางการเงินในระยะยาว
ปี 2025 นี้ อาจไม่ใช่ปีที่ตลาดล่มสลาย แต่มันก็ให้บทเรียนสำคัญกับเรา ในขณะที่ดัชนี Nasdaq และหุ้นกลุ่ม Magnificent Seven ร่วงไปเกือบ 20% จากความผันผวนเรื่องภาษีนำเข้า แต่สินทรัพย์ประเภทอื่นๆ ยังคงทำหน้าที่ของตัวเองได้ดี ตัวอย่างเช่น พอร์ต General Investing ของเราที่มีการกระจายการลงทุนในหลากหลายสินทรัพย์ กลุ่มธุรกิจ และภูมิภาค ซึ่งไม่เพียงช่วยลดแรงกระแทกจากหุ้นสหรัฐ แต่ยังสามารถสร้างผลตอบแทนเป็นบวกใน Q1/2025 ได้อีกด้วย
(อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ใน ผลการดำเนินงาน Q1/2025 ของ StashAway)

เนื้อหาในส่วนนี้เขียนขึ้นร่วมกับ Finimize
🎓Simply Finance: กำไรของบริษัทกับราคาหุ้น
แม้จะเกี่ยวข้องกันอย่างใกล้ชิด แต่ กำไรของบริษัท กับ ราคาหุ้น ไม่ได้เคลื่อนไหวไปในทิศทางเดียวกันเสมอไป โดยราคาหุ้นจะสะท้อนความคาดหวังของนักลงทุนที่มีต่อผลกำไรในอนาคต ไม่ใช่แค่ผลประกอบการในปัจจุบันเท่านั้น นั่นคือเหตุผลว่าทำไมบริษัทหนึ่งอาจรายงานผลประกอบการที่ดี แต่ราคาหุ้นกลับร่วงลงได้ เพราะผลประกอบการที่ออกมาอาจไม่เป็นไปตามที่คาดหวังไว้ หรือมีแนวโน้มในอนาคตที่ไม่น่าประทับใจนัก