Rebalancing คืออะไร

01 March 2017

คุณคงจะเคยได้ยินคำว่า Asset Allocation (การจัดสรรสินทรัพย์) กันมาบ้างแล้ว ซึ่งผู้จัดการกองทุนมักจะกำหนด Asset Allocation ตามระดับความเสี่ยงที่กำหนดไว้ เช่น อาจจะลงทุนในหุ้น 50% และตราสารหนี้ 50% สำหรับพอร์ตที่มีความเสี่ยงปานกลาง แต่ราคาสินทรัพย์ในตลาดมีความผันผวนอยู่ตลอดเวลา แล้วจะเกิดผลกระทบอย่างไรถ้า Asset Allocation ไม่ตรงตามสัดส่วนที่วางไว้

การรักษา Asset Allocation ให้ได้ตามสัดส่วนที่วางไว้

มูลค่าสินทรัพย์ต่างๆ ในพอร์ตของเราสามารถผันผวนได้ตลอดเวลา ถ้าราคาของสินทรัพย์เปลี่ยนแปลงไปอย่างมากเพราะสภาวะเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไป ก็จะทำให้ Asset Allocation ของพอร์ตเปลี่ยนไปจากที่กำหนดไว้ ผู้จัดการกองทุนจึงต้องปรับพอร์ตใหม่เพื่อให้ได้สัดส่วนตามเดิม กระบวนการนี้นี่แหละคือการทำ Rebalancing

สมมุติว่าพอร์ตของคุณมีมูลค่า ฿100,000 โดยกำหนด Asset Allocation ในหุ้น 60% และพันธบัตร 40% แต่พอเวลาผ่านไปสักระยะหนึ่ง หุ้นของคุณก็อาจมีมูลค่าเพิ่มขึ้น 10% ในขณะที่มูลค่าของพันธบัตรยังคงเท่าเดิม เท่ากับว่าตอนนี้มูลค่าของพอร์ตของคุณเท่ากับ ฿106,000 โดยมีการลงทุนในหุ้น ฿66,000 หรือ ประมาณ 62% และในพันธบัตร ฿40,000 หรือ ประมาณ 38% ทำให้พอร์ตของคุณมีระดับความเสี่ยงที่แตกต่างไปจากเดิม ดังนั้นเพื่อให้ได้ Asset Allocation ตามที่เคยวางเอาไว้ ผู้จัดการกองทุนก็จะทำการ Rebalancing โดยจะขายหุ้นไป ฿2,400 และซื้อพันธบัตรเพิ่ม ฿2,400 เพื่อให้พอร์ตที่มีมูลค่า ฿106,000 มีสัดส่วนการลงทุนเป็น 60% ต่อ 40% ตามเดิม

การทำ Rebalancing เป็นสิ่งที่สำคัญเพราะจะช่วยให้พอร์ตมีระดับความเสี่ยงตามที่กำหนดไว้ จากตัวอย่างข้างต้น ถ้าผู้จัดการกองทุนปล่อยให้สัดส่วนหุ้นขึ้นไปถึง 70% และราคาหุ้นปรับตัวลง 70% ของพอร์ตของคุณจะได้รับผลกระทบ แทนที่จะเป็น 60% ตามที่กำหนดไว้ พอร์ตของคุณจึงอาจจะขาดทุนมากกว่าที่ควรจะเป็น

แล้วคุณควรทำ Rebalancing ตอนไหนบ้าง

การทำอะไรมากหรือน้อยเกินไปก็ส่งผลเสียได้ทั้งนั้น การทำ Rebalancing ก็เช่นกัน ถ้าคุณทำ Rebalancing บ่อยเกินไป ผลตอบแทนของพอร์ตก็จะลดลง เพราะต้องเสียค่าธรรมเนียมการซื้อขาย (Transaction Fee) มากขึ้นและอาจจะพลาดโอกาสช่วงขาขึ้นของตลาดไปได้ ในทางกลับกัน ถ้าคุณทำ Rebalancing น้อยเกินไป พอร์ตของคุณก็จะมีระดับความเสี่ยงไม่ตรงตามที่วางไว้และจะต้องรับความเสี่ยงที่มากขึ้นโดยไม่จำเป็น

ความถี่ในการทำ Rebalancing ที่เหมาะสมจะแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับสภาวะเศรษฐกิจ โดยทั่วไป ผู้จัดการกองทุนจะใช้ดุลยพินิจในการทำ Rebalancing แต่ที่ StashAway อัลกอริทึมของเรานำข้อมูลทางเศรษฐกิจมาประกอบการตัดสินใจในการทำ Rebalancing เพื่อกำจัดอคติที่เกิดขึ้นจากอารมณ์และความรู้สึก เพียงเท่านี้ พอร์ตของคุณก็จะมีระดับความเสี่ยงตามที่กำหนดอยู่เสมอ ไม่ว่าสภาวะเศรษฐกิจจะเป็นอย่างไร


แชร์บทความนี้

  • linkedin
  • facebook
  • twitter
  • email

อยากอ่านเพิ่ม?

เราหวังว่าคุณจะได้ประโยชน์ จากบทความของเรา

ร่วมเป็นส่วนหนึ่งกับผู้คนอีกหลายแสนคนที่ต้องการวางแผนการเงินและการลงทุนอย่างยั่งยืนด้วยการสมัครรับบทความและบทวิเคราะห์ของเราที่จะส่งตรงถึงอีเมลของคุณ