StashAway Risk Index (SRI) ระดับไหนที่เหมาะกับคุณ

14 February 2020

เมื่อคุณเริ่มต้นลงทุนกับ StashAway เราจะขอให้คุณเลือก StashAway Risk Index (SRI) ที่คุณต้องการ ซึ่งคุณก็อาจจะสงสัยว่าควรเลือก SRI ระดับไหนดี

ในบทความนี้ เราจะมาทำความเข้าใจกันว่าค่า SRI คืออะไร และมีปัจจัยอะไรบ้างที่ควรพิจารณาเพื่อให้คุณเลือกค่า SRI ได้เหมาะกับคุณที่สุด

แล้ว SRI คืออะไร

การลงทุนในทุกรูปแบบย่อมมีความเสี่ยง และเราเชื่อว่าการบริหารความเสี่ยงเป็นปัจจัยหลักในการลงทุนเพื่อให้ได้ผลตอบแทนที่ดีในระยะยาว เราจึงได้กำหนดประเภทพอร์ตของเราตามระดับความเสี่ยงซึ่งวัดด้วยค่า SRI เพื่อให้คุณทราบว่าพอร์ตของคุณจะต้องรับความเสี่ยงมากน้อยแค่ไหน

ค่า SRI จะอิงตามรูปแบบการวัดความเสี่ยงที่ใช้กันโดยทั่วไป ซึ่งมีชื่อว่าค่า Value-at-Risk (VaR) ค่า VaR คือการวัดมูลค่าของพอร์ตที่มีโอกาสขาดทุนได้ใน 1 ปีตามระดับ Confidence Level ที่กำหนด โดยที่ StashAway เราใช้ Confidence Level ที่ 99% หรือ 99%-VaR ซึ่งหมายความว่าพอร์ตของคุณมีโอกาสเพียง 1% ที่จะขาดทุนมากกว่าค่า 99%-VaR (หรือค่า SRI) ที่เลือกไว้ใน 1 ปี เช่น ถ้าคุณตัดสินใจลงทุน ฿1,000,000 ในพอร์ตที่มีค่า 99%-VaR อยู่ที่ 14% หมายความว่าพอร์ตของคุณมีโอกาส 1% (ซึ่งถือว่าต่ำมาก) ที่จะขาดทุนมากกว่า 14% ของมูลค่าพอร์ต หรือ ฿140,000 (14% ของ ฿1,000,000) หรือมีโอกาส 99% ที่มูลค่าของพอร์ตจะไม่ลดต่ำไปกว่า ฿860,000 ในปีนั้นๆ

StashAway มีค่า SRI ให้เลือก 12 ระดับตามความเสี่ยงที่แตกต่างกันออกไป โดยแบ่งเป็นพอร์ต Core ที่มีค่า SRI อยู่ที่ 6.5% ถึง 22% และพอร์ต Higher-Risk ที่มีค่า SRI อยู่ที่ 26% ถึง 36% เราใช้ค่า SRI ในการออกแบบ Asset Allocation ของพอร์ตของคุณ ยิ่งค่า SRI ที่สูงขึ้นเท่าไหร่  เราก็จะแบ่งเงินของคุณไปลงทุนใน Growth-oriented Asset มากขึ้นเท่านั้น แต่พอร์ตของคุณก็จะมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นด้วย ในทางกลับกัน ถ้าคุณเลือกระดับค่า SRI ที่ต่ำ เราจะเลือกลงทุนใน Protective Asset มากกว่า

วิธีเลือกระดับความเสี่ยงที่เหมาะกับคุณ

ระบบของเราจะแนะนำค่า SRI ที่เหมาะสมโดยอิงตามผลการทำแบบประเมิน Suitability Test ซึ่งเป็นแบบประเมินสถานภาพทางการเงิน รวมถึงความรู้และประสบการณ์ด้านการลงทุนของคุณ

เช่น ถ้าผลจากแบบประเมิน Suitability Test ระบุว่าคุณเป็นนักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้ค่อนข้างน้อย ระบบจะแนะนำพอร์ตที่มีค่า SRI ต่ำ ซึ่งจะเน้นการลงทุนใน Protective Asset ที่มีความเสี่ยงต่ำ เช่น ดัชนีของตราสารหนี้ต่างๆ แต่ถ้าผลจากแบบประเมินระบุว่าคุณเป็นนักลงทุนที่มีความรู้พื้นฐานทางการเงินและสามารถรับความเสี่ยงได้มาก ระบบอาจแนะนำพอร์ตที่มีระดับค่า SRI สูงขึ้น ซึ่งจะลงทุนใน Growth-oriented Asset ที่มีความเสี่ยงสูงกว่า เช่น ดัชนีตลาดหุ้น

นอกจากนี้ ระยะเวลาก็มีส่วนสำคัญในการเลือกค่า SRI เช่นกัน เพราะระยะเวลาในการลงทุนที่นานจะช่วยให้พอร์ตของคุณมีเวลาฟื้นตัวจากการเปลี่ยนแปลงของตลาดและสภาวะเศรษฐกิจในระยะสั้น ดังนั้น เมื่อคุณเลือกลงทุนแบบ Goal-based Investing เราจะแนะนำค่า SRI ที่เหมาะสมตามระยะเวลาของเป้าหมาย โดยสำหรับเป้าหมายระยะสั้น (1-3 ปี) ระบบจะแนะนำค่า SRI ที่ต่ำกว่าเป้าหมายระยะยาว ส่วนการลงทุนแบบ General Investing นั้น เราขอแนะนำให้คุณเลือกค่า SRI ที่ต่ำสำหรับการลงทุนระยะสั้นเช่นกัน ส่วนการลงทุนในระยะเวลาที่นานกว่านั้น คุณสามารถเลือกค่า SRI ที่สูงขึ้นได้

อย่างไรก็ตาม ค่า SRI ที่เราแนะนำเป็นเพียงการประมาณระดับความเสี่ยงที่เหมาะกับคุณเท่านั้น แต่คุณสามารถเลือกระดับค่า SRI ที่สูงหรือต่ำกว่าระดับที่เราแนะนำได้ และคุณยังสามารถเปลี่ยนค่า SRI ของพอร์ตได้ตลอดเวลาโดยไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม เพราะเราเข้าใจว่าเป้าหมายทางการเงินของคุณอาจเปลี่ยนแปลงได้เมื่อเวลาผ่านไป

การลงทุนมีความเสี่ยงสูงไม่ได้ให้ผลตอบแทนที่สูงเสมอไป

หลายคนคงได้ยินมาว่าการลงทุนที่มีความเสี่ยงสูงจะสร้างผลตอบแทนสูงกว่า แต่ในความเป็นจริงอาจจะไม่ได้เป็นไปตามนั้นเสมอไป

จริงอยู่ที่การลงทุนที่มีความเสี่ยงสูงจะให้ผลตอบแทน “เฉลี่ย” ที่สูงกว่าในระยะยาว (3-5 ปี) เพราะมูลค่าของ Growth-oriented Asset มีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นมากกว่า Protective Asset ในระยะยาวอยู่แล้ว แต่ในระยะสั้นคุณก็จะต้องรับความผันผวนที่มากขึ้น เช่น พอร์ตที่มีค่า SRI ที่ 36% จะลงทุนใน Growth-oriented Asset มากกว่าพอร์ตที่มีค่า SRI ที่ 6.5% และมูลค่าของพอร์ตก็จะเคลื่อนไหวตามสภาวะตลาดมากกว่าพอร์ตที่มีค่า SRI ที่ 6.5% เช่นกัน

ดังนั้น ถ้าคุณลงทุนในพอร์ตที่มีระดับความเสี่ยงสูงเกินไป คุณอาจจะรู้สึกกังวลเมื่อราคาสินทรัพย์ลดลงมากกว่าที่คุณยอมรับได้ในตลาดขาลง และอาจทำให้คุณตัดสินใจขายสินทรัพย์ในราคาที่ต่ำหรือขาดทุน (Cut Loss) ซึ่งไม่เพียงแต่จะทำให้คุณขาดทุนในระยะสั้น แต่ยังทำให้คุณไม่ได้รับผลตอบแทนที่คาดว่าจะได้จากพอร์ตที่มีความเสี่ยงสูงนี้ในระยะยาวด้วย

สรุปได้ว่าถ้าคุณสามารถรับความผันผวนในระยะสั้นได้โดยที่ไม่ตัดสินใจขายสินทรัพย์เมื่อราคาลดลง คุณก็สามารถลงทุนในพอร์ตที่มีค่า SRI ที่สูงและลงทุนใน Growth-oriented Asset ได้มากขึ้น แต่ถ้าคุณคิดว่าคุณรับไม่ได้ คุณก็ไม่ควรจะเลือกพอร์ตที่มีความเสี่ยงสูงมากนัก สิ่งที่สำคัญที่สุดเราขอแนะนำให้คุณควรเลือกค่า SRI ตามระดับความเสี่ยงที่คุณรับได้จริงๆ ไม่ใช่ตามผลตอบแทนที่คิดว่าจะได้รับ เพราะการเลือกระดับความเสี่ยงที่เหมาะสมจะทำให้คุณทำตามแผนการลงทุนที่วางไว้ได้ในระยะยาวไม่ว่าสภาวะเศรษฐกิจจะเป็นอย่างไร


แชร์บทความนี้

  • linkedin
  • facebook
  • twitter
  • email

อยากอ่านเพิ่ม?

เราหวังว่าคุณจะได้ประโยชน์ จากบทความของเรา

ร่วมเป็นส่วนหนึ่งกับผู้คนอีกหลายแสนคนที่ต้องการวางแผนการเงินและการลงทุนอย่างยั่งยืนด้วยการสมัครรับบทความและบทวิเคราะห์ของเราที่จะส่งตรงถึงอีเมลของคุณ