ทำไมพอร์ตการลงทุนที่ดีต้องมี ‘ทองคำ’

14 January 2023
Stephanie Leung
Group CIO

ยังมีหลายเรื่องที่นักลงทุนอาจเข้าใจผิดเกี่ยวกับสินทรัพย์อย่าง ‘ทองคำ’ หลายคนอาจรู้สึกว่าทองคำเป็นการลงทุนที่ล้าสมัย หรือยังลังเลที่จะลงทุนในทองคำเพราะไม่มีเงินปันผล และไม่ได้สร้างผลตอบแทนจากกำไรเหมือนกับหุ้น แต่นักลงทุนอาจยังไม่ทราบถึงบทบาทสำคัญของทองคำในการจัด Asset Allocation ที่จะช่วยสร้างสมดุลและลดความผันผวนให้กับพอร์ตโดยรวมได้

ทองคำช่วยลดผลกระทบจากการอ่อนค่าลงของ USD

เวลาคุณลงทุนในสินทรัพย์ของสหรัฐ เมื่อค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ (USD) อ่อนค่าลงอาจกระทบต่อผลตอบแทนของคุณ ซึ่งทองคำอาจช่วยลดผลกระทบนี้ได้

เพราะอะไร?

เมื่อปริมาณ USD เพิ่มสูงขึ้นจนเกิด Oversupply หรือภาวะล้นตลาด ทำให้ USD อ่อนค่าลงได้อย่างมาก ซึ่งในสถานการณ์แบบนี้ นักลงทุนและธนาคารกลางหลักทั่วโลกมักพยายามลดการถือครอง USD ลง เพื่อรักษามูลค่าของสินทรัพย์ในสกุลเงินของประเทศตนเอง โดยการเทขายเงินทุนสำรองฯ ที่อยู่ในสกุล USD และหันมาซื้อทองคำแทน

การเทขาย USD ด้วยเม็ดเงินมหาศาลนี้ ทำให้ USD อ่อนค่าลงและยังเพิ่ม Demand ของทองคำ และเมื่อ Demand ในทองคำเพิ่มขึ้น ราคาก็จะขยับสูงขึ้นตามกันไปด้วย ซึ่งสถานการณ์แบบนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้วหลังวิกฤติการเงินโลกปี 2008 ที่ Fed ออกมาตรการ QE หรือการอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบ ทำให้ USD อ่อนค่าลงมากกว่า 20% ภายในปี 2011 (ด้วยรูปแบบ Trade-Weighted Basis) ขณะที่ราคาทองคำเพิ่มขึ้นเกือบ 100% จนถึงปี 2012

ทองคำเพิ่มการปกป้องให้กับพอร์ตในช่วงวิกฤตการเงิน

ปัจจัยที่จะบอกว่าสินทรัพย์ใดช่วยกระจายความเสี่ยงได้ดี ดูได้จากการเคลื่อนไหวของราคาสินทรัพย์นั้นจะต้องไม่สัมพันธ์กับสินทรัพย์อื่นในพอร์ตอยู่ตลอดเวลา โดยค่า Correlation หมายถึง ค่าที่แสดงความสัมพันธ์ของการเคลื่อนไหวระหว่างสินทรัพย์ 2 ประเภท ถ้าสินทรัพย์ 2 ประเภทมีค่า Correlation เป็นบวก หมายถึงมูลค่าของสินทรัพย์ 2 ประเภทนี้เคลื่อนไหวไปในทิศทางเดียวกัน ขณะที่ค่า Correlation เป็นลบ เกิดขึ้นเมื่อ 2 สินทรัพย์นั้นมีการเคลื่อนไหวสวนทางกัน

กรณีของทองคำและหุ้น ในช่วงที่ตลาดหุ้นดี ราคาทองคำจะมีค่า Correlation ที่ต่ำ (หรือมีความสัมพันธ์กันน้อย) กับตลาดหุ้น ขณะเดียวกันจะมีค่า Correlation เป็นบวกเมื่อตลาดหุ้นปรับตัวขึ้นอย่างมาก

กราฟด้านล่าง แสดงให้เห็นความสัมพันธ์ว่า ราคาทองคำจะเคลื่อนไหวอย่างไรขึ้นอยู่กับว่า ดัชนี S&P 500 มีการปรับตัวขึ้น-ลงมากน้อยแค่ไหน โดยพบว่าเมื่อดัชนี S&P 500 ปรับขึ้น-ลงเล็กน้อย (น้อยกว่า 2 Standard Deviations) ราคาทองคำจะมีค่า Correlation กับตลาดหุ้นต่ำมาก แต่เมื่อดัชนี S&P 500 ปรับตัวขึ้นอย่างมาก (มากกว่า 2 Standard Deviations) ราคาทองคำจะมีค่า Correlation เชิงบวกที่สูงกับตลาดหุ้น ทำให้ทองคำมักปรับตัวขึ้นตามตลาดหุ้น

สาเหตุที่ทองคำมีความสำคัญต่อการปกป้องพอร์ตในช่วงวิกฤติการเงินเห็นได้เมื่อดัชนี S&P 500 ปรับตัวลงมาก (มากกว่า 2 Standard Deviations) ราคาทองคำจะมีค่า Correlation เชิงลบที่สูง หรืออาจสรุปได้ว่า เมื่อตลาดหุ้นร่วงอย่างรุนแรง ราคาทองคำจะปรับตัวสูงขึ้นมาก

ค่า Correlation ของตลาดหุ้นสหรัฐกับ ทองคำ และสินค้าโภคภัณฑ์อื่นๆ

Correlation of Gold and other Commodities to the S&P 500

อ้างอิง: Bloomberg, NBER, ICE Benchmark, Administration World Gold Council

ในช่วงวิกฤติการเงิน ทองคำเป็นสินทรัพย์ที่มีแนวโน้มทำผลตอบแทนได้ดีกว่าสินทรัพย์อื่นๆ เช่น หุ้นกู้ และอสังหาริมทรัพย์ ยกตัวอย่างในช่วงวิกฤติการเงินโลกปี 2008 ที่ราคาอสังหาริมทรัพย์ลดลงอย่างมาก รวมถึงผลกระทบจากวิกฤติที่ทำให้ราคาหุ้นกู้ลดลง (Yield เพิ่มขึ้น) เนื่องจากนักลงทุนเทขายหุ้นกู้และหันไปหาสินทรัพย์ปลอดภัย (Safe-haven) อย่าง ‘ทองคำ’

ดังนั้น นอกจากการกระจายการลงทุนในหุ้นและตราสารหนี้แล้ว พอร์ตลงทุนควรมีการลงทุนทองคำในสัดส่วนที่เหมาะสม เพื่อช่วยลดความเสี่ยงและผลกระทบจากวิกฤติการเงินที่อาจเกิดขึ้นด้วย

ทองคำ คือ Safe-haven เมื่อเกิดความไม่แน่นอนทางการเมือง

ราคาทองคำมักปรับตัวสูงขึ้นเมื่อเกิดสถานการณ์ด้านภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitical) ที่ทวีความรุนแรงขึ้น โดยในช่วงที่เกิดวิกฤติการเมือง ผู้คนมักหันมาสะสมทองคำแท่งและรูปพรรณ เพราะทองคำเป็นสินทรัพย์ที่ได้รับการยอมรับไปทั่วโลกและมีมูลค่าในตัวเอง โดยไม่จำเป็นต้องใส่ใจว่ามาจากที่ไหนหรืออยู่ในสกุลเงินใด

นับตั้งแต่เกิดสงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีน รวมถึง Brexit หลายองค์กรและสถาบันการเงินขนาดใหญ่ เช่น Hedge Fund และธนาคารกลาง ต่างเริ่มสะสมทองคำเพิ่มขึ้นเพื่อสร้างสมดุลและความมั่นคงท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงทางภูมิรัฐศาสตร์ครั้งสำคัญของโลก เช่น ธนาคารกลางของจีน (PBOC) สะสมทองคำมากกว่า 100 ตันในช่วงสงครามการค้าปี 2019

ทั้งนี้ ปัจจัยทางการเมืองอาจส่งผลให้เกิดความผันผวนในตลาด แต่ความไม่แน่นอนเหล่านี้กลับเป็นแรงขับเคลื่อนที่ทำให้ Demand ของทองคำเพิ่มสูงขึ้น ดังนั้นพอร์ตการลงทุนที่มีทองคำในสัดส่วนที่เหมาะสม จะเผชิญความผันผวนน้อยกว่าพอร์ตที่ไม่มีทองคำ

ทองคำช่วยลดความเสี่ยงท่ามกลางความไม่แน่นอน

แม้ทองคำจะไม่สามารถจ่ายเงินปันผล หรือสร้างผลตอบแทนอย่างสม่ำเสมอให้นักลงทุนได้ แต่ทองคำยังมีหน้าที่สำคัญในการบริหารความเสี่ยงเพื่อช่วยปกป้องพอร์ตลงทุนจากเหตุการณ์ไม่คาดคิด ทั้งความไม่แน่นอนทางการเมือง เศรษฐกิจ และวิกฤติการเงิน รวมถึงการอ่อนค่าลงอย่างมากของ USD ที่แม้จะไม่ได้เกิดขึ้นบ่อย แต่เมื่อเกิดขึ้นแล้วอาจทำให้นักลงทุนขาดทุนหนักในช่วงเวลาเพียงสั้นๆ หากไม่มีเครื่องมือช่วยบริหารความเสี่ยงที่เหมาะสมอย่างทองคำ

ทั้งหมดนี้ สรุปได้ว่า การลงทุนในทองคำในสัดส่วนที่เหมาะสม จะช่วยลดผลกระทบจากสถานการณ์ไม่คาดคิด รวมถึงช่วยให้นักลงทุนก้าวข้ามความผันผวนในระยะสั้นและเพิ่มโอกาสสร้างผลตอบแทนของพอร์ตได้ในระยะยาว


แชร์บทความนี้

  • linkedin
  • facebook
  • twitter
  • email

อยากอ่านเพิ่ม?

เราหวังว่าคุณจะได้ประโยชน์ จากบทความของเรา

ร่วมเป็นส่วนหนึ่งกับผู้คนอีกหลายแสนคนที่ต้องการวางแผนการเงินและการลงทุนอย่างยั่งยืนด้วยการสมัครรับบทความและบทวิเคราะห์ของเราที่จะส่งตรงถึงอีเมลของคุณ