2024 H1 Macro Outlook

27 December 2023
Stephanie Leung
Group CIO

ปี 2023 กำลังจะผ่านไปแล้ว แต่เศรษฐกิจสหรัฐก็ยังไม่เข้าสู่ภาวะ Recession ตามที่หลายฝ่ายคาดการณ์ไว้ตั้งแต่ต้นปี โดยความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจสหรัฐมีส่วนสำคัญที่ทำให้ผลตอบแทนของหุ้นทั่วโลกเป็นบวกเกือบ 19% ส่วนดัชนี S&P 500 ให้ผลตอบแทนราว 23% (ข้อมูล ณ กลางเดือน ธ.ค.) 

ปัจจุบัน ตลาดได้เปลี่ยนความคาดหวังจาก Recession มาเป็น Soft Landing ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่ธนาคารกลางสามารถควบคุมเงินเฟ้อได้โดยเศรษฐกิจยังเติบโตต่อไปได้อย่างมีเสถียรภาพ ไม่ร้อนแรงหรือชะลอตัวมากจนเกินไป

ในขณะที่เรากำลังก้าวเข้าสู่ปี 2024 คำถามสำคัญ คือ Soft Landing จะเกิดขึ้นได้หรือไม่? สำหรับ StashAway เรามองว่ามีความเป็นไปได้ค่อนข้างน้อย

การเติบโตจะค่อยๆ ชะลอตัว

ในปี 2023 เศรษฐกิจสหรัฐสามารถทนทานต่อการขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างรวดเร็วและรุนแรงได้ดีกว่าคาด โดยคาดการณ์การเติบโตของ GDP สหรัฐในช่วงสิ้นปีนี้ กลับมาเท่ากับในช่วงเริ่มต้นปี 2022 โดยสาเหตุหลักที่ทำให้เศรษฐกิจสหรัฐยังคงแข็งแกร่ง คือ ตลาดแรงงานที่แข็งแกร่งกว่าคาด ซึ่งเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างในตลาดแรงงานในช่วง COVID-19

มุมมองของเรา คือ เศรษฐกิจสหรัฐจะชะลอตัวลงมากกว่านี้ในปี 2024 จากผลกระทบจากอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับสูง อย่างไรก็ตาม ความแข็งแกร่งของตลาดแรงงานอาจทำให้การชะลอตัวเป็นไปอย่างช้าๆ  

เงินเฟ้ออาจยังยืดเยื้อ

เรามองว่าเงินเฟ้อจะเป็นปัจจัยสำคัญที่อาจส่งผลกระทบต่อตลาดมากกว่า เพราะโอกาสที่เงินเฟ้อจะลดลงมาอยู่ในระดับเป้าหมาย 2% ของ Fed ยังคงมีอุปสรรคอยู่ โดยเฉพาะแรงกดดันจากฝั่ง Supply ในตลาดแรงงาน และราคาน้ำมันซึ่งอาจเป็นแรงขับเคลื่อนที่ทำให้เงินเฟ้อพุ่งสูงขึ้น 

ดังนั้นนักลงทุนยังต้องระมัดระวังในประเด็นเหล่านี้ เนื่องจากเงินเฟ้อที่เกิดจากฝั่ง Supply มักจะยืดเยื้อกว่า และอาจทำให้เศรษฐกิจอยู่ในภาวะ Stagflation นานขึ้น 

เรื่องนี้ส่งผลอย่างไรกับพอร์ตของคุณ?

เนื่องจากเศรษฐกิจยังอยู่ในภาวะ Stagflation เทคโนโลยี ERAA™ ของเราจึงยัง Overweight ตราสารหนี้ระยะสั้น เช่น พันธบัตรสหรัฐระยะสั้น และสินทรัพย์ Defensive อย่างทองคำ

เมื่อเงินเฟ้อมีแนวโน้มที่ชัดเจนมากขึ้น และข้อมูลแสดงให้เห็นว่าเศรษฐกิจกำลังเข้าสู่ภาวะ Recession (หรือ Good Times หาก Soft Landing สำเร็จ) ERAA™ จะเพิ่ม Duration หรือ อายุเฉลี่ยของตราสารหนี้ให้นานขึ้น

ขณะที่ตลาดหุ้นกำลัง Price In ความเป็นไปได้ที่จะเกิด Soft Landing และยังให้ผลตอบแทนไปในทิศทางเดียวกันกับตลาดตราสารหนี้ ซึ่งหมายความว่านักลงทุนยังคงต้องระมัดระวังต่อไปในปีหน้า อย่างไรก็ตาม เรายังเห็นโอกาสของธีมการลงทุนต่างๆ ในระยะยาว (ติดตามได้ใน Part 2 ของ H1/2024 Outlook ในเดือน ม.ค.)

ERAA™ มองว่า Soft Landing มีความเป็นไปได้แค่ไหน?

Soft Landing มีแนวโน้มเกิดขึ้นได้ยาก เพราะเมื่อดูตาม Framework ภาวะเศรษฐกิจ 4 แบบของ ERAA™  แล้ว ภาวะเศรษฐกิจมักเปลี่ยนแปลงเป็นวัฏจักรที่ต่อเนื่องกัน

ตั้งแต่เดือน ธ.ค. 2022 เทคโนโลยี ERAA™ ได้จับสัญญาณว่าเศรษฐกิจอยู่ในภาวะ Stagflation (การเติบโตชะลอตัว แต่เงินเฟ้อยังสูงอยู่) ดังนั้นหากเกิด Soft Landing จริง หมายความว่าเศรษฐกิจจะเปลี่ยนจากภาวะ Stagflation ไปเป็น Good Times โดยข้าม Recession ไป ซึ่งการจะเกิดสถานการณ์เช่นนี้ได้ ต้องอาศัยหลายปัจจัยที่เกิดขึ้นพร้อมๆ กัน

ความกังวลของนักลงทุนเองก็มักจะเป็นวัฏจักรเช่นเดียวกับ Framework ของ ERAA™ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อผลตอบแทนของสินทรัพย์ประเภทต่างๆ แตกต่างกันไป เช่น เมื่อนักลงทุนกังวลกับการเติบโต หุ้นก็จะปรับตัวลง แต่ถ้าความกังวลเปลี่ยนเป็นเงินเฟ้อ ตราสารหนี้ก็จะได้รับผลกระทบมากกว่า ยกตัวอย่างเช่น ในช่วงการระบาดของ COVID-19 นักลงทุนต่างกังวลกับการเติบโตของเศรษฐกิจโลก ทำให้หุ้นปรับตัวลดลง แต่ตราสารหนี้กลับปรับตัวขึ้น

ถึงแม้ว่าเศรษฐกิจจะเข้าสู่ Recession ในปีหน้า เราก็ไม่ได้มองว่าเป็นเรื่องเลวร้ายสำหรับการลงทุนเสมอไป เพราะอัตราดอกเบี้ยในระดับสูงอย่างในปัจจุบัน ทำให้ Fed สามารถลดอัตราดอกเบี้ยได้หากจำเป็น ซึ่งจะกลายเป็นแรงสนับสนุนที่ดีต่อทั้งตลาดหุ้นและตลาดตราสารหนี้

อย่างไรก็ตาม Stagflation เป็นภาวะเศรษฐกิจที่ลงทุนค่อนข้างยาก เนื่องจากต้องกังวลทั้งการเติบโตและเงินเฟ้อในเวลาเดียวกัน เราจึงมองว่าความเสี่ยงสำคัญที่สุดในปี 2024 ไม่ใช่เรื่องที่เศรษฐกิจจะเข้าสู่ Recession หรือไม่ แต่เป็นความเสี่ยงที่เศรษฐกิจยังอยู่ในภาวะ Stagflation ต่อไป

เงินเฟ้อที่ยังยืดเยื้ออาจทำให้การ Landing เผชิญอุปสรรคมากขึ้น

เงินเฟ้อจากฝั่ง Supply ที่ยังยืดเยื้อ คือ กุญแจสำคัญสำหรับเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า เนื่องจากเงินเฟ้อประเภทนี้แก้ค่อนข้างยาก หมายความว่าหากเศรษฐกิจชะลอตัวลงมากกว่านี้ก็อาจไม่ทำให้เงินเฟ้อลดความร้อนแรงลง

ข้อมูลแสดงให้เห็นว่านักลงทุนยังควรตัดสินใจอย่างรอบคอบ โดยตารางด้านล่างแสดงให้เห็นข้อมูลของ Fed สาขาซานฟรานซิสโก ซึ่งพบว่าเงินเฟ้อที่ลดลงในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมาเกิดจากการชะลอตัวของฝั่ง Demand (สีฟ้าเข้ม) ขณะที่เงินเฟ้อจากฝั่ง Supply (สีฟ้าอ่อน) ยังคงยืดเยื้อ

2 ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เงินเฟ้อจากฝั่ง Supply ยังคงยืดเยื้อ คือ

  • ความแข็งแกร่งของตลาดแรงงานสหรัฐ ซึ่งเกิดจากการขาดแคลนแรงงานเชิงโครงสร้างในช่วงหลัง COVID-19 (อ่านเพิ่มเติมได้ใน H2/2023 Market Outlook)
  • Supply น้ำมันโลกที่ยังตึงตัวต่อเนื่อง นับตั้งแต่ปี 2021 ที่ OPEC ลดกำลังการผลิตน้ำมัน และน้ำมันสำรองของสหรัฐยังลดลงอย่างเห็นได้ชัด ทำให้ราคาน้ำมันดิบเคลื่อนไหวอยู่ระหว่าง 70-90 ดอลลาร์สหรัฐ ต่างจากช่วงปลายทศวรรษ 2010 ที่ราคาน้ำมันอยู่ระหว่าง 40-70 ดอลลาร์สหรัฐในช่วงที่โลกเผชิญกับปัญหาน้ำมันล้นตลาด

สำหรับน้ำมัน ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์อาจทำให้สถานการณ์ซับซ้อนมากขึ้นไปอีก ซึ่งในอดีต ความขัดแย้งระดับภูมิภาค (เช่น ยุโรปตะวันออกและตะวันออกกลางในเวลานี้) มักจะทำให้เกิดความผันผวนของราคาในระยะสั้นเท่านั้น 

อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบัน ปัจจัยทางภูมิรัฐศาสตร์ส่งผลกระทบต่อเงินเฟ้อมากขึ้น เนื่องจาก Supply น้ำมันที่ตึงตัวและ Core Inflation ที่ยังอยู่ในระดับสูง หมายความว่าหากเกิดเหตุการณ์ที่ทำให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์พุ่งสูงขึ้น เศรษฐกิจและตลาดก็อาจเผชิญความผันผวนมากขึ้นเช่นกัน

ปัจจัยทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นว่า Soft Landing ยากที่จะเกิดขึ้น

มองย้อนกลับไปในทศวรรษ 1990 เพื่อให้เห็นภาพในอนาคต

หากเรามองย้อนกลับไปในอดีตจะพบว่า Soft Landing เกิดขึ้นค่อนข้างยาก

ในช่วงกลางทศวรรษ 1990 ซึ่งเป็นเพียงไม่กี่ครั้งที่ Fed สามารถทำให้เกิด Soft Landing ได้ โดยระหว่างปี 1994-95 Fed ค่อยๆ ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายจาก 3% มาอยู่ที่ 6% จากนั้นจึงลดอัตราดอกเบี้ยลงเหลือ 5.25% ในปีถัดมาเมื่อเศรษฐกิจลดความร้อนแรงลง ซึ่งในช่วงดังกล่าว GDP ของสหรัฐยังสามารถเติบโตเฉลี่ยได้กว่า 3% และอัตราการว่างงานยังลดลง รวมถึงเงินเฟ้อยังชะลอตัวลงด้ว

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ในช่วงทศวรรษ 1990 มีลักษณะค่อนข้างเฉพาะตัว เนื่องจากเป็นช่วงที่เศรษฐกิจขยายตัวอย่างมีเสถียรภาพและไม่มีการปรับตัวขึ้นครั้งใหญ่ของราคาสินค้า (เช่น ราคาน้ำมันในช่วงทศวรรษ 1970-80) ยิ่งไปกว่านั้น ในช่วงปลายทศวรรษ 1990 Productivity ของสหรัฐยังดีขึ้นกว่าเดิมมาก โดยเป็นผลมาจากการพัฒนาเทคโนโลยีที่ช่วยให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างยั่งยืนโดยไม่ทำให้เกิดเงินเฟ้อ

การมองระยะยาว จะทำให้เห็นภาพผลตอบแทนที่ชัดเจนกว่า

ท่ามกลางความไม่แน่นอนทั้งหมดนี้ นักลงทุนควรหยุดลงทุนหรือไม่?

คำแนะนำของเรา คือ การมองระยะยาวจะทำให้เห็นภาพผลตอบแทนที่ชัดเจนและเข้าใจง่ายมากขึ้น เพราะในระยะยาว ผลตอบแทนของหุ้นและตราสารหนี้จะถูกขับเคลื่อนโดยปัจจัยพื้นฐาน ไม่ใช่ผันผวนตามข้อมูลตลาดในระยะสั้น หรือ Sentiment ของตลาด ตัวอย่างเช่น

  • หุ้นสหรัฐ - ให้ผลตอบแทนราว 10-11% ต่อปีนับตั้งแต่สิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 แม้จะมีความผันผวนระยะสั้น แต่ในท้ายที่สุด การเติบโตของผลตอบแทนเหล่านี้จะได้รับแรงขับเคลื่อนจากปัจจัยพื้นฐานของเศรษฐกิจสหรัฐ โดยเฉพาะการเติบโตของ Nominal GDP ซึ่งขยายตัวอย่างสม่ำเสมอที่ราว 6% ตลอดช่วงเวลาดังกล่าว ทำให้กำไร (ก่อนปรับด้วยเงินเฟ้อ) ของบริษัทสหรัฐเติบโตที่ราว 5-6% นอกจากนี้ การซื้อหุ้นคืน (Share Buyback) ยังทำให้ผลตอบแทนเพิ่มขึ้นอีก 2-3% รวมถึงเงินปันผลอีก 1-2% ดังนั้นเมื่อรวมๆ กันแล้ว หุ้นสหรัฐจึงให้ผลตอบแทนที่ราว 10% ต่อปี
  • ตราสารหนี้ - 2 ปีที่ผ่านมาถือเป็นช่วงเวลาที่ยากลำบากสำหรับนักลงทุนในตลาดตราสารหนี้ แต่เรามองว่าสถานการณ์ดังกล่าวเป็นการ Reset และ เปิด Runway ให้ตราสารหนี้ทำผลตอบแทนได้ดีในระยะข้างหน้า โดยความผันผวนของ Yield ตราสารหนี้ในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา ทำให้เราเชื่อว่า Yield ของตราสารหนี้ระยะยาวได้ปรับตัวมาอยู่ในระดับที่เหมาะสมที่ 4-5% แล้ว โดยประเมินจากอัตราเงินเฟ้อระยะยาวที่ 2% และ Neutral Real Interest Rate ที่ 0-0.5% และ Term Premium ที่ 2.5-3% (อ่านเพิ่มเติมได้ใน ‘ความผันผวนในตลาดตราสารหนี้ครั้งนี้ เราจะผ่านมันไปได้อย่างไร’)

ความสำคัญของการ Stay Invested

นับตั้งแต่เกิด COVID-19 เศรษฐกิจโดยรวมยังมีความไม่แน่นอนสูง และอาจต่อเนื่องไปจนถึงปีหน้า ยิ่งไปกว่านั้น ในปี 2024 จะมีการเลือกตั้งใน 40 ประเทศ ซึ่งรวมถึงสหรัฐ รัสเซีย อินเดีย และไต้หวัน โดยการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐในเดือน พ.ย. เป็นสถานการณ์สำคัญที่จะส่งผลต่อปัจจัยทางภูมิรัฐศาสตร์และเศรษฐกิจโลกในระยะยาว ดังนั้นหากเกิดความไม่แน่นอนใดๆ ขึ้น ก็อาจส่งผลให้ตลาดเกิดความผันผวนในระยะสั้นได้

ในท้ายที่สุด ตราบใดที่คุณยังลงทุนในพอร์ตที่มีการกระจายการลงทุนที่ดี ตามระดับความเสี่ยงที่เหมาะสมกับตัวคุณ ความผันผวนระยะสั้นในตลาดก็เป็นเพียง Noise หรือเสียงรบกวนเท่านั้น เพราะภาพระยะยาวยังคงชัดเจนว่า การ Stay Invested ในหุ้นและตราสารหนี้ จะทำให้คุณเห็นผลตอบแทนที่ชัดเจนมากขึ้นไม่ว่าเศรษฐกิจในระยะสั้นจะเป็นอย่างไร

หมายเหตุ: การลงทุนมีความเสี่ยง โปรดทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน และความเสี่ยง ก่อนตัดสินใจลงทุน; ผลการดำเนินงานในอดีตไม่ได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต


แชร์บทความนี้

  • linkedin
  • facebook
  • twitter
  • email

อยากอ่านเพิ่ม?

เราหวังว่าคุณจะได้ประโยชน์ จากบทความของเรา

ร่วมเป็นส่วนหนึ่งกับผู้คนอีกหลายแสนคนที่ต้องการวางแผนการเงินและการลงทุนอย่างยั่งยืนด้วยการสมัครรับบทความและบทวิเคราะห์ของเราที่จะส่งตรงถึงอีเมลของคุณ