ทำไม ‘อินเดีย’ ถึงน่าสนใจสำหรับนักลงทุน

31 October 2023
Stephanie Leung
Group CIO

เศรษฐกิจที่กำลังเป็นขาขึ้นอย่างต่อเนื่องจนนักลงทุนไม่ควรมองข้าม คือ อินเดีย ซึ่งเป็น 1 ในเศรษฐกิจที่เติบโตเร็วที่สุดในโลก วัดได้จากตัวเลข GDP ปี 2023 ที่เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 6.9% YoY ซึ่งนับว่าสูงที่สุดในบรรดาประเทศสมาชิก G20

เศรษฐกิจที่ขยายตัวอย่างรวดเร็วเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญให้ตลาดหุ้นเติบโตอย่างแข็งแกร่ง โดยดัชนี MSCI India Index สามารถทำผลตอบแทน YTD ได้ถึง 7.4% ในสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ และยังสร้างผลตอบแทนเฉลี่ยเกือบ 10% ต่อปี ตลอด 20 ปีที่ผ่านมา

แต่คำถามสำคัญคือ ผลตอบแทนนี้จะยั่งยืนหรือไม่? CIO Insights เดือนนี้ จึงอยากพานักลงทุนเจาะลึกการเติบโตทั้งในแง่บวกและลบของเศรษฐกิจอินเดีย โดยบทสรุปจากการวิเคราะห์แสดงให้เห็นว่า แม้อินเดียจะต้องเผชิญกับความผันผวนของตลาดในระยะข้างหน้า แต่เศรษฐกิจอินเดียยังมีโอกาสเติบโตอย่างยั่งยืนและมีศักยภาพที่จะขยายตัวเร็วขึ้นอีกในอนาคต

4 Key takeaways:

  • อินเดียเป็นเพียงประเทศเดียวที่มีประชากรวัยทำงานจำนวนมหาศาล อายุน้อย และยังขยายตัว นอกจากนี้ชนชั้นกลางกำลังเพิ่มจำนวนอย่างรวดเร็วเพราะรายได้ที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้ปัจจัยด้านประชากรของอินเดียโดดเด่นมากที่สุดในบรรดาประเทศตลาดเกิดใหม่ (EM) ซึ่งจะช่วยสนับสนุนให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างแข็งแกร่งในระยะยาว
  • อย่างไรก็ตาม อุปสรรคที่เห็นชัดที่สุดของอินเดียคือ เงินลงทุนจากทั้งต่างประเทศและภาครัฐที่อยู่ในระดับต่ำ ซึ่งทั้ง 2 ปัจจัยเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญสำหรับการเติบโตอย่างยั่งยืนของ EM แต่ปัญหานี้กำลังเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้น เพราะรัฐบาลอินเดียกำลังปฏิรูปหลายภาคส่วนเพื่อกระตุ้นและปูทางให้การเติบโตทางเศรษฐกิจ
  • เงินเฟ้อสูงยังเป็นความท้าทายสำหรับอินเดียเช่นกัน เนื่องจากนโยบายการเงินที่ผ่านมายังไม่มีประสิทธิภาพมากเท่าที่ควร รวมถึงราคาอาหาร (ที่มักจะผันผวน) ส่งผลกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของอินเดียค่อนข้างมาก ซึ่งทำให้เงินรูปีอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่องเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐ แต่ในปัจจุบันจะมีข้อมูลบ่งชี้ว่าสถานการณ์นี้เริ่มทรงตัวมากขึ้น
  • สำหรับพอร์ตที่กระจายการลงทุนทั่วโลก เรามองว่าอินเดียเป็นประเทศที่นักลงทุนไม่ควรมองข้าม เพราะเมื่อพิจารณาการปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจแล้ว อินเดียมีแนวโน้มจะเติบโตอย่างต่อเนื่องได้ในระยะยาว

โครงสร้างประชากร คือ แรงขับเคลื่อนหลักของอินเดีย

Demographic Dividend หรือโครงสร้างประชากร จะมีบทบาทสำคัญต่อการเติบโตของเศรษฐกิจอินเดียเนื่องจาก

  • อินเดียมีประชากรจำนวนมหาศาลและกำลังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยเมื่อต้นปีที่ผ่านมา อินเดียขึ้นแซงจีนกลายเป็นชาติที่มีประชากรมากที่สุดในโลก และ UN ยังคาดว่าประชากรอินเดียจะขยายตัวต่อเนื่องจนถึงกลางทศวรรษ 2060
  • ประชากรอินเดียในวัยหนุ่มสาวมีจำนวนมากกว่า 2 ใน 3 ของวัยทำงาน โดยมีค่า Median ของอายุอยู่ที่ 28 ปี (ค่า Median ของสหรัฐ 38 ปี และจีน 39 ปี)

โครงสร้างประชากรนี้ไม่เพียงเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญของธุรกิจบริการและภาคการผลิตที่กำลังเติบโตเท่านั้น แต่ยังชี้ให้เห็นว่าการบริโภคภายในประเทศจะเป็นอีกแรงขับเคลื่อนหลักให้เศรษฐกิจเติบโตมากขึ้นในอีกหลายทศวรรษข้างหน้า โดยเฉพาะเมื่อค่าแรงเพิ่มขึ้นและชนชั้นกลางเพิ่มจำนวนมากขึ้น ทั้งนี้ PRICE กลุ่ม Think Tank ของอินเดียคาดว่า ภายในปี 2030 ครอบครัวชนชั้นกลางและชนชั้นกลาง-บนของอินเดียจะเพิ่มขึ้นอีก 75 ล้านครัวเรือน และ 25 ล้านครัวเรือนตามลำดับ ซึ่งจะเพิ่มการใช้จ่ายมากถึง 2.7 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเกือบเท่ากับ GDP ของฝรั่งเศส

โครงสร้างประชากรของอินเดียยังมีความโดดเด่นเมื่อเทียบกับประเทศ EM อื่นๆ โดยประชากรในวัยทำงาน (15-64 ปี) มีจำนวนมากถึง 961 ล้านคน และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นอีก 158 ล้านคนภายในปี 2050 ขณะที่จีนมีประชากรวัยทำงาน 984 ล้านคน แต่คาดว่าจะลดลง 217 ล้านคนภายในช่วงเวลาเดียวกัน ส่วนอินโดนีเซียที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็วเช่นกัน แต่คาดว่าจะมีประชากรวัยทำงานเพียง 1 ใน 5 เมื่อเทียบกับอินเดีย

ที่ผ่านมา เม็ดเงินลงทุนที่น้อยเกินไปเป็นอุปสรรคต่อการเติบโต

ประชากรวัยทำงานจำนวนมากที่กำลังขยายตัวจะช่วยให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างรวดเร็ว แต่การที่เศรษฐกิจจะได้ประโยชน์อย่างเต็มที่จำเป็นต้องมีตำแหน่งงานที่ดีให้เพียงพอกับความต้องการด้วย โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนา เงินลงทุนมหาศาลคือปัจจัยสำคัญในการสร้างตำแหน่งงานที่มีคุณภาพเหล่านั้น ซึ่งอินเดียเผชิญความท้าทายนี้มาโดยตลอด

ในทวีปเอเชีย เงินลงทุนในอินเดียยังตามหลังประเทศเศรษฐกิจหลักอื่นๆ โดยคิดเป็นราว 25% โดยเฉลี่ยของ GDP ตลอดช่วงทศวรรษ 1990 เทียบกับประเทศเพื่อนบ้านอย่าง จีน เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น ที่คิดเป็นกว่า 30% โดยเงินลงทุนในอินเดียนั้นอยู่ในระดับเดียวกับประเทศพัฒนาแล้วอย่างสหรัฐและ EU ซึ่งไม่จำเป็นต้องใช้เม็ดเงินลงทุนเพื่อกระตุ้นการเติบโตมากเท่ากับประเทศกำลังพัฒนา

สำหรับอินเดีย อุปสรรคมาจากหลายปัจจัย เช่น ระบบราชการที่ยุ่งยาก โครงสร้างพื้นฐานที่ไม่เพียงพอ รวมถึงกฎระเบียบที่ค่อนข้างซับซ้อน ซึ่งทั้งหมดนี้ส่งผลให้การลงทุนและการสร้างงานน้อยกว่าจะที่ควรจะเป็น และกระทบกับการพัฒนาเศรษฐกิจโดยรวม

ข่าวดีก็คือ ปัจจัยดังกล่าวกำลังเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้น เพราะรัฐบาลอินเดียได้เริ่มปฏิรูประบบเศรษฐกิจมาตลอดหลายปีที่ผ่านมา โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อปรับปรุงกฎระเบียบให้ทันสมัยขึ้น รวมถึงการขยายฐานภาษี ฟื้นฟูภาคการผลิต ดึงดูดเงินลงทุนจากต่างประเทศ และพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งกระแสนิยมที่ดีของรัฐบาลปัจจุบันจะทำให้นโยบายต่างๆ ยังดำเนินไปได้อย่างต่อเนื่อง อย่างน้อยก็ในอนาคตอันใกล้นี้

แต่…เงินลงทุนจากภาครัฐและเอกชนกำลังขยับขึ้นแล้ว

การปฏิรูปเศรษฐกิจอินเดียเริ่มแสดงผลลัพธ์ที่ดี ซึ่งส่งผลให้เงินลงทุนจากทั้งในและต่างประเทศเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะในการฟื้นฟูภาคการผลิตที่จะเป็นแรงขับเคลื่อนหลักสำหรับการเติบโตของเศรษฐกิจโดยรวม

ทั้งนี้ การลดภาษีนิติบุคคล รวมถึงนโยบายส่งเสริมของภาครัฐได้ช่วยดึงดูดเม็ดเงินจากต่างประเทศมายังภาคการผลิตของอินเดียได้ เช่น แผน Production Linked Incentive (PLI) ซึ่งสามารถดึงยักษ์ใหญ่ในกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์อย่าง Foxconn ที่มีแผนทุ่มเงินกว่า 1,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐเพื่อสร้างโรงงานผลิตในอินเดีย โดยคาดว่าจะสร้างงานมากถึง 100,000 ตำแหน่ง

นอกจากนี้ ปัจจัยด้านภูมิรัฐศาสตร์ยังเป็นประโยชน์กับอินเดีย เพราะยังมีบางบริษัทที่ต้องการกระจายฐานการผลิตออกจากจีน เนื่องจากความสัมพันธ์ทางการค้าที่ค่อนข้างตึงเครียดระหว่างชาติตะวันตกกับจีน

ยิ่งไปกว่านั้น รัฐบาลอินเดียยังเพิ่มเงินลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในปีงบประมาณ 2023-24 มากเป็น 2 เท่า เมื่อเทียบกับช่วงก่อน COVID-19 โดยการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานจะช่วยลดต้นทุนการขนส่ง และสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการทำธุรกิจมากขึ้น ซึ่งจะช่วยดึงดูดเงินลงทุนจากภาคเอกชนมากขึ้นตามไปด้วย

เงินเฟ้อสูงยังเป็นอุปสรรค แต่สถานการณ์เริ่มดีขึ้น

อีกหนึ่งความท้าทายของเศรษฐกิจอินเดีย คือ การเผชิญเงินเฟ้อสูงตลอดหลายปีที่ผ่านมา ทำให้กำลังซื้อของผู้บริโภคลดลงและยังสร้างความไม่แน่นอนให้กับประชาชนและภาคธุรกิจ ซึ่งทำให้การออมเงินและการลงทุนลดน้อยลงด้วย

ส่วนหนึ่งของปัญหาดังกล่าวคือ ระบบการเงินของอินเดียมีความซับซ้อน ซึ่งทำให้นโยบายการเงินต่างๆ ไม่สามารถส่งผลต่อเศรษฐกิจโดยรวมได้อย่างเต็มที่

อีก 1 ปัจจัยคือ องค์ประกอบของเงินเฟ้อในอินเดีย โดยราคาอาหารซึ่งมีความผันผวน คิดเป็นสัดส่วนมากถึง 46% ของดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งอาจไม่แปลกสำหรับ EM แต่จะทำให้ตัวเลขเงินเฟ้อโดยรวมในอินเดียผันผวนมากขึ้นเช่นกัน อย่างไรก็ตาม หากเศรษฐกิจเติบโตต่อไปเรื่อยๆ สัดส่วนดังกล่าวก็จะลดลง ซึ่งจะลดผลกระทบด้านความผันผวนลงไปด้วย

ทั้งนี้ เพื่อแก้ปัญหาเงินเฟ้อ ธนาคารกลางอินเดีย (RBI) ได้ออกหลายมาตรการเพื่อปรับปรุงนโยบายการเงินให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ตัวอย่างเช่น ตั้งแต่ปี 2016 ออกนโยบายควบคุมเงินเฟ้อเพื่อรักษาเงินเฟ้อให้อยู่ในกรอบเป้าหมาย 4% (± 2%)

แม้แผนดังกล่าวจะยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น แต่เงินเฟ้อของอินเดียเริ่มทรงตัวมากขึ้น โดยอัตราเงินเฟ้อของอินเดียส่วนใหญ่ยังอยู่ในกรอบเป้าหมายของธนาคารกลางที่ราว 5% โดยเฉลี่ย ซึ่งต่ำกว่าช่วงก่อนหน้านี้ที่ 8% โดยเฉลี่ย

อุปสรรคที่กล่าวมาทั้งหมดล้วนส่งผลกระทบต่อนักลงทุนต่างประเทศ เนื่องจากเงินเฟ้อสูงของอินเดียโดยเฉพาะเมื่อเทียบกับของสหรัฐ ทำให้เงินรูปีอ่อนค่าลงเรื่อยๆ (เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ) ประมาณ 5% ต่อปีโดยเฉลี่ยนับตั้งแต่ทศวรรษ 1990 ซึ่งจะทำให้นักลงทุนได้ผลตอบแทนน้อยลงเมื่อแลกเงินกลับเป็นดอลลาร์สหรัฐ

ข้อมูลแสดงให้เห็นโอกาสของอินเดียในระยะยาว

การเติบโตของผู้บริโภคจำนวนมหาศาล นโยบายที่เป็นมิตรต่อการทำธุรกิจมากขึ้น (โดยเฉพาะสำหรับภาคการผลิต) รวมถึงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และเศรษฐกิจโดยรวมที่มีเสถียรภาพมากขึ้น ปัจจัยทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นว่าโครงสร้างเศรษฐกิจอินเดียกำลังเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้น 

จากข้อมูลดังกล่าว เศรษฐกิจอินเดียมีศักยภาพที่จะขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะส่งผลดีต่อตลาดหุ้นตามไปด้วย อินเดียจึงเป็นอีกประเทศที่น่าสนใจสำหรับนักลงทุนระยะยาว

ทั้งนี้ พอร์ต General Investing ของเรามีการกระจายการลงทุนใปยังตลาดหุ้นอินเดียในสัดส่วนที่เหมาะสม (Market-weighted) ผ่าน ETF ที่ลงทุนในกลุ่ม EM และตลาดโลกโดยรวมไว้แล้ว นอกจากนี้ Flexible Portfolio ของเราจะเพิ่ม ETF ที่ลงทุนตามดัชนีตลาดหุ้นอินเดียในเร็วๆ นี้ เพื่อให้นักลงทุนที่สนใจตลาดอินเดียสามารถเลือกลงทุนและออกแบบสัดส่วนได้เองตามที่ต้องการ

หมายเหตุ: การลงทุนมีความเสี่ยง โปรดทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน และความเสี่ยง ก่อนตัดสินใจลงทุน; ผลการดำเนินงานในอดีตไม่ได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต


แชร์บทความนี้

  • linkedin
  • facebook
  • twitter
  • email

อยากอ่านเพิ่ม?

เราหวังว่าคุณจะได้ประโยชน์ จากบทความของเรา

ร่วมเป็นส่วนหนึ่งกับผู้คนอีกหลายแสนคนที่ต้องการวางแผนการเงินและการลงทุนอย่างยั่งยืนด้วยการสมัครรับบทความและบทวิเคราะห์ของเราที่จะส่งตรงถึงอีเมลของคุณ