CIO Insights: มุมมองระยะยาวหลัง Trump ประกาศ ‘Liberation Day’

08 May 2025
Stephanie Leung
Group CIO

แชร์บทความนี้

  • linkedin
  • facebook
  • twitter
  • email

อยากอ่านเพิ่ม?

เราหวังว่าคุณจะได้ประโยชน์ จากบทความของเรา

ร่วมเป็นส่วนหนึ่งกับผู้คนอีกหลายแสนคนที่ต้องการวางแผนการเงินและการลงทุนอย่างยั่งยืนด้วยการสมัครรับบทความและบทวิเคราะห์ของเราที่จะส่งตรงถึงอีเมลของคุณ

ตลาดยังคงพยายามประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจจากนโยบายการค้าของประธานาธิบดีสหรัฐ Donald Trump หลังจากมีการประกาศเก็บภาษีนำเข้าแบบตอบโต้ เมื่อวันที่ 2 เม.ย. ที่ผ่านมา แต่ก็ตามมาด้วยการยกระดับมาตรการและการกลับลำหลายต่อหลายครั้ง

หากประวัติศาสตร์ยังคงซ้ำรอย เราน่าจะผ่านความปั่นป่วนในช่วงแรกมาแล้ว และสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นต่อจากนี้น่าจะเป็นกระบวนการเจรจาที่ยืดเยื้อ ซึ่งอาจส่งผลอย่างมีนัยสำคัญต่อการเติบโตของเศรษฐกิจ เงินเฟ้อ และแนวทางการบริหาร Asset Allocation ของนักลงทุน

ใน CIO Insights เดือนนี้ เราจะวิเคราะห์เหตุการณ์หลังวัน ‘Liberation Day’ ของ Trump และเจาะลึกว่าปรากฏการณ์เหล่านี้จะกลายเป็นจุดเปลี่ยนของเศรษฐกิจและตลาดโลกหรือไม่?

3 Key takeaways

  • แม้ความปั่นป่วนจากมาตรการภาษีนำเข้าอาจถึงจุดสูงสุดแล้ว แต่ตลาดมีแนวโน้มที่จะยังคงผันผวนต่อไป กลยุทธ์ภาษีนำเข้าของ Trump ในปี 2018 เริ่มจากการใช้มาตรการอย่างแข็งกร้าว ก่อนจะเข้าสู่ช่วงการเจรจาที่ยาวนาน โดยการที่เราได้เห็นการเริ่มเจรจาแบบทวิภาคีระหว่างสหรัฐและหลายๆ ประเทศบ่งบอกว่าเรากำลังก้าวเข้าสู่เฟส 2 ที่อาจซับซ้อนและยาวนาน อย่างไรก็ตาม เราจะได้เห็นสัญญาณของการฟื้นตัวของตลาดก็ต่อเมื่อความผันผวนเริ่มลดลง การปรับลดประมาณการกำไรที่สะท้อนในราคาหุ้นมากขึ้น หรือมีการตอบสนองเชิงนโยบายที่เด็ดขาดมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการประกาศจากรัฐบาล Trump หรือการลดดอกเบี้ยอย่างมีนัยสำคัญจาก Fed 

  • เหตุการณ์ในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมาสะท้อนภาพที่ชัดขึ้นเกี่ยวกับผลกระทบระยะยาวจาก Framework ‘FAT’ ที่เราเคยนำเสนอใน Macro Outlook 2025: ‘FAT’ คือ New Normal การขยายตัวของนโยบายการคลังอาจไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในสหรัฐอีกต่อไป โดยทั้งจีนและยุโรปต่างก็เข้ามามีบทบาทมากขึ้นเพื่อชดเชยแรงกดดันทางการค้าโลก ขณะที่ การเปิดตัวโมเดล AI ของ DeepSeek และการพัฒนาเทคโนโลยีแบบชาตินิยม เป็นสัญญาณว่าการลงทุนด้าน AI ทั่วโลกจะยิ่งเร่งตัวขึ้นอีก ส่วนนโยบายของ Trump ได้สร้างข้อกังขาเกี่ยวกับความน่าเชื่อถือและทิศทางนโยบายของสหรัฐ ซึ่งเป็นบททดสอบต่อแนวคิด ‘US Exceptionalism’ หรือความพิเศษของสินทรัพย์สหรัฐ

  • การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ส่งผลกระทบสำคัญต่อการลงทุน 3 ประการ ได้แก่ 1. พันธบัตรระยะยาวอาจให้ผลตอบแทน Underperform หากความเสี่ยงภาวะ Recession เพิ่มขึ้นไม่มาก โดยพันธบัตรระยะสั้นหรือสินทรัพย์ป้องกันความเสี่ยงอื่น เช่น ทองคำ อาจเป็นตัวเลือกที่น่าดึงดูดกว่า 2. โอกาสที่เงินดอลลาร์สหรัฐจะอ่อนค่าลงอีกมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจาก Valuation ที่ค่อนข้างตึงตัว และการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างทางเศรษฐกิจ ซึ่งส่งผลกระทบต่อสินทรัพย์ทั่วโลก และ 3. สถานการณ์ล่าสุดน่าจะเป็นแรงกระตุ้นให้เกิดการลงทุนด้าน AI ทั่วโลกอย่างต่อเนื่องและเร่งตัวมากขึ้น

ผลกระทบหลังประกาศเก็บภาษีนำเข้า: ตอนนี้เราอยู่จุดไหน?

ในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา การประกาศนโยบายภาษีนำเข้าของ Trump ได้สร้างความปั่นป่วนให้กับตลาดอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม เหมือนที่เราได้กล่าวไว้เมื่อต้นเดือน เม.ย. ว่า เหตุการณ์นี้มีลักษณะคล้ายคลึงกับที่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในช่วงดำรงตำแหน่งสมัยแรกของ Trump ที่มาตรการภาษีนำเข้า โดยเฉพาะกับจีน ถือเป็นหัวใจหลักของนโยบายเศรษฐกิจของเขา ซึ่งในครั้งนั้นก็ได้จุดชนวนความผันผวนในตลาดในลักษณะเดียวกัน ท่ามกลางความกังวลของนักลงทุนที่พยายามประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจจากมาตรการเหล่านี้

เมื่อแรงกระเพื่อมแรกที่เกิดจากนโยบายการค้าของ Trump เริ่มซาลง เราจะพาย้อนกลับไปดูวิธีการของ Trump ในปี 2018 เพื่อหาเบาะแสว่า อะไรอาจเกิดขึ้นต่อไป?

  • เฟสที่ 1: Liberation Day อ้างอิงจาก ‘สงครามการค้า 1.0’ (ดูกราฟ 1 ด้านล่าง) นโยบายที่ทำให้ทุกคน ‘ช็อกและอึ้ง’ ของ Trump ในระยะแรกมีเป้าหมายเพื่อนำประเทศคู่ค้าเข้าสู่โต๊ะเจรจา

  • เฟสที่ 2: การเจรจา มีประเทศมากกว่า 70 แห่งที่กำลังเตรียมพร้อมสำหรับการเจรจาแบบทวิภาคีภายใน 90 วันข้างหน้า ซึ่งบ่งชี้ว่าเฟสนี้น่าจะเป็นกระบวนการที่ยืดเยื้อและซับซ้อน และด้วยความไม่แน่นอนเชิงนโยบายที่ยังอยู่ในระดับสูง และ Sentiment ของตลาดที่ค่อนข้างเปราะบาง ดังนั้น ข่าวพาดหัวเกี่ยวกับความคืบหน้าใดๆ ก็ตาม จึงมีแนวโน้มที่จะสร้างความผันผวนในตลาดได้อย่างต่อเนื่อง

  • เฟสที่ 3: มาตกลงกันเถอะ เหตุการณ์ในช่วงปี 2018-2019 แสดงให้เห็นว่า กระบวนการเจรจาอาจใช้เวลานานและเต็มไปด้วยความยุ่งเหยิง เช่น ข้อตกลงการค้าระยะที่ 1 ระหว่างสหรัฐกับจีน ใช้เวลาเจรจานานเกือบ 2 ปี นับตั้งแต่สหรัฐประกาศมาตรการภาษีนำเข้าครั้งแรกในเดือน ม.ค. 2018 นอกจากนี้ ความตึงเครียดทางการค้าในช่วงนั้น ยังเกิดขึ้นควบคู่ไปกับเหตุการณ์อื่นๆ เช่น การขึ้นดอกเบี้ย และการลดขนาดงบดุลของ Fed

แม้จะยังมีความไม่แน่นอนรออยู่ในระยะข้างหน้า แต่เรามองว่า ‘จุดสูงสุดของความผันผวนจากมาตรการภาษีนำเข้า’ (วัดจากดัชนี VIX ในกราฟ 2 ด้านล่าง) อาจผ่านพ้นไปแล้ว โดยมีปัจจัยหลัก 2 ประการที่สนับสนุนมุมมองนี้

  1. การสนับสนุนจากประชาชนที่ลดลง คะแนนนิยมในด้านเศรษฐกิจของ Trump ลดลงถึง 16 จุด1 นับตั้งแต่เข้ารับตำแหน่งในเดือน ม.ค. ที่ผ่านมา 
  2. แรงกระเพื่อมในตลาดพันธบัตร Yield ของพันธบัตรสหรัฐระยะยาวได้ปรับตัวสูงขึ้น หลังนโยบายการค้าของ Trump สร้างความกังวลต่อเสถียรภาพในการชำระหนี้ของสหรัฐ

ทั้งสองปัจจัยนี้อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้รัฐบาล Trump เริ่มเปลี่ยนท่าทีไปสู่การลดความตึงเครียด และเริ่มเข้าสู่เฟสที่ 2 ตามที่กล่าวไว้ข้างต้น

ใกล้ฟื้นตัวหรือยัง? จับตาสัญญาณบ่งชี้ว่าตลาดถึงจุดต่ำสุดแล้ว

วิกฤติต่างๆ ในอดีต แสดงให้เห็นว่าตลาดจะฟื้นตัวกลับมาได้ในที่สุด แต่คำถามสำคัญในตอนนี้คือ ตลาดถึง ‘จุดต่ำสุด’ หรือยัง? ซึ่งตามที่เรากล่าวไว้ข้างต้น เราเชื่อว่าความผันผวนยังคงมีแนวโน้มสูงอยู่ เนื่องจากนักลงทุนกำลังปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ปัจจุบัน และต่อไปนี้คือ Checklist ของสัญญาณที่อาจบ่งชี้ว่าตลาดกำลังเข้าใกล้จุดต่ำสุดแล้ว

  • ความผันผวนที่เริ่มลดลง: การฟื้นตัวของตลาดอย่างยั่งยืน มักจะต้องเกิดขึ้นพร้อมกับระดับความผันผวนที่กลับเข้าสู่ภาวะปกติ ดังที่เห็นในกราฟ 2 ว่า ดัชนี VIX ซึ่งเป็นตัวชี้วัดความไม่แน่นอนในตลาด ยังคงสูงกว่าค่าเฉลี่ยระยะยาว และยังคงอยู่เหนือระดับ 30 ซึ่งถือว่าเป็นโซน ‘ความผันผวนสูง’ ซึ่งหาก VIX กลับเข้าสู่ระดับปกติ อาจช่วยสร้างบรรยากาศที่เหมาะสมสำหรับการกลับมาลงทุนอีกครั้ง โดยเฉพาะในกลุ่มนักลงทุนสถาบัน เช่น กองทุนบำเหน็จบำนาญ หรือผู้จัดการกองทุนขนาดใหญ่ที่ยังรอจังหวะอยู่
  • การปรับประมาณการกำไรของบริษัท: เมื่อบริษัทต่างๆ เริ่มประกาศผลประกอบการไตรมาสแรก หากผู้บริหารไม่มีการให้แนวโน้มที่ชัดเจน นักวิเคราะห์อาจจำเป็นต้องปรับลดประมาณการกำไรในอนาคต ซึ่งการ Reset ความคาดหวังนี้ อาจเป็นการวางรากฐานที่น่าเชื่อถือยิ่งขึ้นสำหรับการตัดสินใจของนักลงทุนในระยะถัดไป

  • นโยบายที่ชัดเจนมากขึ้นจากภาครัฐและ Fed: สำหรับรัฐบาล Trump เมื่อการเจรจามีความคืบหน้ามากขึ้นในแต่ละครั้ง การประกาศนโยบายต่างๆ ที่ตามมาจะมีความชัดเจนมากขึ้น ทำให้ผลกระทบของการประกาศลดลงเรื่อยๆ เช่นกัน และสำหรับ Fed หากเส้นทางการลดดอกเบี้ยเริ่มชัดเจนมากขึ้น ไม่ว่าจะมาจากอัตราเงินเฟ้อที่อ่อนตัวลง หรือจากตลาดแรงงานที่อ่อนแอลง ก็มีแนวโน้มว่าจะส่งผลดีต่อการคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม แม้จะมีเครื่องมือวิเคราะห์มากมาย แต่การจับจังหวะจุดต่ำสุดของตลาดนั้นแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย ดังนั้น ในฐานะนักลงทุนระยะยาว วิธีที่ดีที่สุดคือไม่ควรซื้อหรือขายมากเกินไป แต่ควรมีแผนทยอยลงทุนอย่างเป็นระบบ และคว้าโอกาสที่ตลาดกำลังหยิบยื่นให้

ภาพรวมเศรษฐกิจ: ปัจจัยพื้นฐานยังคงแข็งแกร่ง

แม้ว่าข่าวเกี่ยวกับมาตรการภาษีนำเข้าจะดูน่ากังวล แต่กระแสข่าวเหล่านี้มักเต็มไปด้วย ‘เสียงรบกวน’ และอ่อนไหวกว่าภาพเศรษฐกิจที่แท้จริง ดังนั้น แม้ตลาดจะเริ่มสะท้อนความกังวลต่อภาวะ Recession มากขึ้นจากข้อมูลความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจ (Soft Data) ที่เปราะบาง แต่ข้อมูลเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจริง (Hard Data) กลับแสดงให้เห็นว่าเศรษฐกิจสหรัฐ ยังมีความแข็งแกร่งอยู่ ดังที่เห็นในกราฟ 3

ด้วยเหตุนี้ แม้จะมีเหตุการณ์ล่าสุดเกิดขึ้นมากมาย แต่ปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจยังบ่งชี้ว่าเศรษฐกิจยังอยู่ในภาวะ ‘Inflationary Growth’ โดยเทคโนโลยีการลงทุน Economic Regime-based Asset Allocation หรือ ERAA™ ของเรา จะติดตามข้อมูลการเติบโตทางเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อแบบ Real-time และจะทำการปรับพอร์ตโดยอัตโนมัติหากมีสัญญาณว่าเศรษฐกิจกำลังชะลอตัวลงจริง

Framework ‘FAT’ ช่วยสะท้อนภาพการเปลี่ยนแปลงในระยะยาว

ตลอดช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา เราได้เห็นความชัดเจนมากขึ้นเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างของเศรษฐกิจโลก ซึ่งเราได้กล่าวไว้ในบทวิเคราะห์ Macro Outlook 2025: ‘FAT’ คือ New Normal ว่า อิทธิพลจากการขยายตัวของนโยบายการคลัง (Fiscal Policy Dominance) การเติบโตอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยี AI (AI Acceleration) และความไม่แน่นอนจากนโยบายของ Trump (Trump’s Policy Uncertainty) ยังคงเป็น Framework ที่เราใช้ในการวิเคราะห์ภาวะเศรษฐกิจและตลาดโลกในปัจจุบัน ดังนี้

นโยบายการคลังแบบขยายตัวจะยิ่งเกิดเร็วขึ้น ในขณะที่เรากำลังเข้าสู่โลกแบบหลายขั้วอำนาจ

ก่อนที่ Trump จะเข้ารับตำแหน่ง ประเทศต่างๆ ก็เริ่มหันมาใช้นโยบายการคลังแบบขยายตัวมากขึ้นแล้ว ซึ่งการที่ Trump รีบผลักดันมาตรการภาษีนำเข้า ยิ่งเร่งให้ประเทศต่างๆ ต้องเพิ่มนโยบายทางการคลัง เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ และรับมือผลกระทบจาก Demand ที่ลดลงจากสหรัฐ

ในโลกยุคปัจจุบันที่กำลังมีการแบ่งขั้วอำนาจมากขึ้น ประเทศต่างๆ จึงถูกผลักดันให้ต้องลงทุนอย่างจริงจังในการเสริมสร้างขีดความสามารถเชิงกลยุทธ์ของตนเอง ดังนี้

  • เยอรมนี ซึ่งก่อนหน้านี้ต่อต้านการใช้นโยบายการคลังขนาดใหญ่มาโดยตลอด ได้ผ่านมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งประวัติศาสตร์ในเดือน มี.ค. โดยมาตรการนี้รวมถึงการยกเลิกกฎ ‘เบรกหนี้’ และมีแผนเพิ่มการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และกลาโหม ซึ่งการดำเนินนโยบายของ Trump อาจเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดความร่วมมือทางการคลังที่แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นภายในสหภาพยุโรป ซึ่งเป็นนโยบายที่อดีตประธานธนาคารกลางยุโรป Mario Draghi เคยสนับสนุนอย่างเต็มที่2 และหากสิ่งนี้เกิดขึ้นจริง ก็อาจเป็นตัวพลิกเกมครั้งสำคัญสำหรับทวีปยุโรป

  • ขณะที่ จีนก็กำลังเร่งดำเนินการอย่างรวดเร็วเพื่อรักษาแนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยสภาประชาชนแห่งชาติจีนได้อนุมัติแผนกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่เมื่อเดือน มี.ค. ที่ผ่านมา โดยก่อนหน้านี้ จีนได้ทุ่มทรัพยากรอย่างต่อเนื่องเพื่อสนับสนุนนโยบายอุตสาหกรรมที่เชื่อมโยงกับ AI และเทคโนโลยีขั้นสูง ซึ่งความตึงเครียดทางการค้าที่จะนำไปสู่การแยกตัวทางเศรษฐกิจ (Decoupling) ระหว่างจีนกับสหรัฐ อาจเร่งให้จีนเดินหน้าผลักดันความพยายามเหล่านี้มากยิ่งขึ้น

AI จะกลายเป็นการแข่งขันเชิงยุทธศาสตร์ครั้งใหม่

การแข่งขันด้าน AI ระหว่างสหรัฐกับจีนกำลังทวีความรุนแรงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ในมุมมองของเรา การเปิดตัว DeepSeek-R1 ของจีน (โมเดลภาษาขนาดใหญ่ (LLM) ที่สามารถเทียบชั้นกับ GPT-4o ของ OpenAI แต่ใช้ต้นทุนน้อยกว่า) เมื่อเดือน ม.ค. ที่ผ่านมา ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่แสดงให้เห็นว่าช่องว่างของศักยภาพด้าน AI ระหว่างทั้งสองประเทศกำลังลดลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งนโยบายกีดกันทางเทคโนโลยีที่เพิ่มขึ้น จะยิ่งเร่งให้เกิดการเปลี่ยนผ่านนี้เร็วขึ้น โดยปัจจุบัน ทั้งจีนและสหรัฐ ต่างก็ทุ่มเม็ดเงินลงทุนในระบบนิเวศของ AI อย่างเต็มที่

ทั้งนี้ การเปิดตัว DeepSeek ได้ตอกย้ำว่า จีนมีความสามารถในการพัฒนา AI อย่างรวดเร็ว โดยในปีนี้ คาดว่าบริษัท AI ชั้นนำ 4 อันดับแรกของจีนจะเพิ่มงบลงทุนขึ้นอีกราว 38%

ในระยะยาว Goldman Sachs คาดการณ์ว่า3 การนำ AI มาใช้งานในจีนจะเติบโตแบบรวดเร็วมากขึ้นในอีกหลายทศวรรษข้างหน้า (ดูกราฟ 4) ในขณะที่ Supply Chain ระหว่างจีนกับสหรัฐ มีแนวโน้มจะแยกออกจากกันมากขึ้น อันเป็นผลมาจากมาตรการภาษีนำเข้าของ Trump โดยทั้งจีนและสหรัฐ น่าจะเร่งการลงทุนใน AI กันอย่างเต็มที่ เพราะไม่มีใครยอมตกเป็นฝ่ายตามหลังได้

นโยบายที่ไม่แน่นอนของ Trump กำลังบั่นทอนแนวคิด ‘US Exceptionalism’

ตัวแปรที่คาดเดาไม่ได้มากที่สุดอาจเป็นตัวของ Trump เอง โดยนโยบายต่างๆ ของเขา นับตั้งแต่การเรียกเก็บภาษีนำเข้าแบบตอบโต้ ไปจนถึงการตัดลดงบประมาณมหาศาล ได้สร้างข้อสงสัยเกี่ยวกับความสามารถในการคาดการณ์และความน่าเชื่อถือด้านนโยบายเศรษฐกิจของสหรัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากวิธีการดำเนินนโยบายที่เปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลันและไม่แน่นอนของ Trump

การประกาศแบบฉับพลันและการเปลี่ยนท่าทีอย่างรวดเร็ว สร้างแรงกดดันต่อตลาดอย่างมีนัยสำคัญ แต่ที่สำคัญกว่านั้นคือ หากความไม่แน่นอนนี้ยังคงยืดเยื้อต่อไป โอกาสที่ปัจจัยเหล่านี้จะเริ่มส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจจริงก็จะยิ่งเพิ่มมากขึ้น (อ่านเพิ่มเติมได้ใน CIO Insights: ยอมเจ็บวันนี้ เพื่อผลลัพธ์ที่ดีในวันหน้า)

นอกจากนี้ ท่าทีของ Trump ยังส่งสัญญาณถึงความพร้อมที่สหรัฐจะลดบทบาทความร่วมมือกับพันธมิตร และขัดต่อหลักการระหว่างประเทศที่มีมาอย่างยาวนาน ไม่ว่าจะเป็นด้านการค้า ค่าเงิน หรือความมั่นคง ซึ่งเหตุการณ์เหล่านี้ได้จุดประเด็นคำถามในหมู่นักลงทุนว่า “นักลงทุนจะยังสามารถเชื่อมั่นว่าสหรัฐจะเป็นศูนย์กลางของเงินทุนโลกได้อีกหรือไม่?” หรือ “เงินดอลลาร์ฯ จะยังคงสถานะ Safe-haven ไว้ได้หรือไม่?”

ปัจจุบัน คำถามเหล่านี้ยังคงไม่มีคำตอบ แต่สิ่งที่ชัดเจนคือ ภาพลักษณ์ ‘US Exceptionalism’ หรือความพิเศษของสินทรัพย์สหรัฐที่เคยถูกมองว่ามีความมั่นคงสูงมาตลอดในการบริหาร Asset Allocation แต่ปัจจุบันกำลังถูกจับตามองและตั้งคำถามมากขึ้น

ผลกระทบด้านการลงทุนจากเหตุการณ์ใน Q1/2025 มีอะไรบ้าง?

การเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจโลกที่เรากำลังเห็นอยู่ในปัจจุบัน กำลังส่งผลกระทบอย่างมากต่อการบริหาร Asset Allocation ซึ่งมีด้วยกัน 3 ประการ ดังนี้

1. ระวังเรื่อง Duration ของตราสารหนี้

หากความเสี่ยงของภาวะ Recession ยังไม่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เรามองว่าพันธบัตรสหรัฐระยะยาวมีแนวโน้มให้ผลตอบแทนต่ำกว่าตราสารหนี้ประเภทอื่นๆ โดยก่อนหน้านี้ พันธบัตรสหรัฐระยะยาวเคยทำหน้าที่เป็นเครื่องมือป้องกันความเสี่ยงได้ดีในช่วงที่ตลาดผันผวนในช่วงหลายปีที่ผ่านมา แต่ในสภาวะแวดล้อมปัจจุบัน ที่ความยั่งยืนทางการคลังของรัฐบาลสหรัฐ กำลังถูกจับตามองมากขึ้น คู่มือการลงทุนแบบดั้งเดิมก็อาจใช้ไม่ได้ผลอีกต่อไป

เมื่อพิจารณาถึงคำถามเหล่านี้ รวมถึงประเด็นเกี่ยวกับหนี้มูลค่า 9 ล้านล้านดอลลาร์ฯ ที่จะครบกำหนดชำระในปีนี้ ความจำเป็นในการเพิ่มเพดานหนี้ของสหรัฐ และนโยบายลดภาษีเงินได้ที่ยังไม่ได้ประกาศบังคับใช้ นักลงทุนจึงเริ่มเรียกร้องผลตอบแทนชดเชยที่สูงขึ้น (Term Premia) จากการถือพันธบัตรระยะยาวเมื่อเทียบกับการถือพันธบัตรระยะสั้น (ดูกราฟ 5)

แม้ว่า Yield ในระดับสูงของพันธบัตรสหรัฐระยะยาวอาจดูน่าสนใจ แต่ความเสี่ยงเมื่อเทียบกับผลตอบแทน (Risk-reward) ยังไม่น่าจูงใจมากพอ ซึ่งในมุมมองของเรา ราคาสินทรัพย์ประเภทนี้ยังคงมีโอกาสผันผวนได้ค่อนข้างสูง และการที่ราคาพันธบัตรจะปรับตัวขึ้นต่อเนื่องได้ อาจจะต้องอาศัยตัวเลขเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงอย่างชัดเจน

ในบริบทนี้ เราจึงเชื่อว่าควรเน้นลงทุนในพันธบัตรสหรัฐระยะสั้นและระยะสั้นมาก รวมถึงกระจายการลงทุนในตราสารหนี้ของภูมิภาคอื่นๆ ด้วย

นอกจากนี้ เรายังมองว่า ทองคำเป็นสินทรัพย์ที่ช่วยรักษาเสถียรภาพของพอร์ตได้มากกว่าในสภาวะเช่นนี้ ซึ่งเป็นเหตุผลที่เราเพิ่มทองคำใน Benchmark ของพอร์ตการลงทุนของเรา และการมีสัดส่วนของทองคำนี้เองที่ช่วยให้พอร์ต General Investing  ยังคงให้ผลตอบแทนเป็นบวกในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา แม้สินทรัพย์ประเภทอื่นจะปรับตัวลดลงอย่างหนัก (อ่านเพิ่มเติมได้ใน ผลการดำเนินงาน Q1/2025 ของ StashAway)

2. มีโอกาสที่ดอลลาร์ฯ จะอ่อนค่าลงอีก

เงินดอลลาร์ฯ มีแนวโน้มจะอ่อนค่าลงอีกโดยเฉพาะเมื่อพิจารณาจากตัวชี้วัดมูลค่าโดยรวม หรือดัชนีค่าเงินดอลลาร์ฯ ที่แท้จริงเมื่อเทียบกับสกุลเงินคู่ค้าหลัก (REER – Real Effective Exchange Rate) ที่อยู่สูงกว่าค่าเฉลี่ยระยะยาวเกิน 2 Standard Deviation ซึ่งในอดีตจุดนี้มักเป็นจุดที่การปรับตัวขึ้นของค่าเงินดอลลาร์ฯ เริ่มจำกัด และมักเป็นจุดที่แนวโน้มเริ่มกลับตัว

อธิบายง่ายๆ คือ เงินดอลลาร์ฯ ในตอนนี้ ‘ดูแพง’ เมื่อเทียบกับสกุลเงินอื่น ซึ่งหมายความว่ามีโอกาสค่อนข้างจำกัดที่เงินดอลลาร์ฯ จะแข็งค่าต่อ และหากมีการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องกระแสเงินทุน การค้า หรือความน่าเชื่อถือด้านนโยบาย ก็อาจเป็นตัวเร่งให้ค่าเงินดอลลาร์ฯ ปรับตัวลดลงได้

ทั้งนี้ แรงกดดันที่ส่งผลให้เงินดอลลาร์ฯ อ่อนค่า ประกอบไปด้วย

  • ความไม่แน่นอนของมาตรการภาษีนำเข้ากำลังกดดันปริมาณการค้าทั่วโลก และลด Demand ในการถือครองเงินดอลลาร์ฯ
  • ความไม่แน่นอนในยุค Trump อาจลด Demand ของสินทรัพย์สหรัฐ และบั่นทอนสถานะ Safe-haven ของเงินดอลลาร์ฯ
  • การปรับพอร์ตของนักลงทุนทั่วโลกที่อาจลดการถือครองสินทรัพย์ในสกุลเงินดอลลาร์ฯ (จากที่เคย Overweight) และหันไปหาสินทรัพย์ทางเลือกใหม่อื่นๆ แทน

แล้วทั้งหมดนี้จะส่งผลต่อพอร์ตการลงทุนทั่วโลกอย่างไร? คำตอบคือ เงินดอลลาร์ฯ ที่อ่อนค่าลง มักส่งผลดีต่อหุ้นนอกสหรัฐ สินทรัพย์ในตลาดเกิดใหม่ และสินค้าโภคภัณฑ์ นอกจากนี้ยังเป็นการตอกย้ำความสำคัญของการกระจายความเสี่ยงด้านค่าเงินอีกด้วย กล่าวโดยสรุปคือ นักลงทุนอาจได้ประโยชน์จากการมีพอร์ตที่กระจายการลงทุนในหลากหลายภูมิภาค ในช่วงที่โครงสร้างเศรษฐกิจโลกกำลังเปลี่ยนแปลงเช่นนี้

3. การแข่งขันด้าน AI จะช่วยสนับสนุนกลุ่มเทคโนโลยี

การเร่งลงทุนด้าน AI ทั่วโลก จะยังคงเป็นแรงสนับสนุนสำคัญต่อกลุ่มเทคโนโลยี ในขณะที่สหรัฐ จีน และอาจรวมถึงยุโรป กำลังเพิ่มระดับความเข้มข้นในการพัฒนา AI ให้เป็นยุทธศาสตร์ระดับประเทศ ซึ่งสิ่งนี้จะยิ่งเพิ่ม Demand ระยะยาวใน Value-chain ทั้งหมดของกลุ่มเทคโนโลยี นับตั้งแต่เซมิคอนดักเตอร์ไปจนถึงซอฟต์แวร์

ในขณะเดียวกัน หุ้นกลุ่มเทคโนโลยีของสหรัฐก็ได้ผ่านการปรับฐานไปแล้ว โดยกราฟ 7 ด้านล่าง แสดงให้เห็นว่าการปรับตัวลงของตลาดล่าสุดได้ดึงให้ Valuation ของหุ้นสหรัฐ กลับมาอยู่ใกล้ค่าเฉลี่ย 10 ปี และต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 10 ปี ในกรณีของกลุ่ม ‘Magnificent Seven’ ซึ่งการปรับฐานครั้งนี้ทำให้การประเมิน Valuation กลับสู่ระดับที่ยั่งยืนมากขึ้น และอาจเป็นจุดเข้าซื้อที่น่าสนใจยิ่งขึ้นสำหรับนักลงทุนระยะยาว

ที่สำคัญ ในยุคนี้เทคโนโลยีไม่ได้ถูกมองว่าเป็นเพียงแค่หุ้นเติบโตอีกต่อไป แต่ถูกมองว่าเป็นโครงสร้างพื้นฐานเชิงยุทธศาสตร์มากขึ้น โดยในหลายๆ แง่มุม บริษัทเทคฯ ยักษ์ใหญ่ของสหรัฐได้กลายเป็นบริษัทที่ ‘ใหญ่เกินกว่าที่จะปล่อยให้ล้ม’ เนื่องจากบทบาทที่สำคัญต่อระบบเศรษฐกิจและความสามารถในการแข่งขันระดับประเทศ กล่าวโดยสรุปคือ เมื่อ AI กลายเป็นหนึ่งในเสาหลักของยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจ ก็อาจช่วยให้กลุ่มเทคโนโลยีมีความมั่นคงมากขึ้นในการฝ่าวัฏจักรเศรษฐกิจต่างๆ

พอร์ตที่กระจายการลงทุนทั่วโลกของเรา ถูกออกแบบมาเพื่อช่วยให้คุณสามารถลงทุนได้ต่อเนื่อง ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและตลาด

ในสภาวะที่นโยบายของภาครัฐสามารถเขย่าตลาดได้เพียงชั่วข้ามคืน ทำให้หลายคนอาจรู้สึกอยากปรับพอร์ตตามทุกกระแสข่าว แต่สิ่งที่เราเห็นซ้ำแล้วซ้ำอีกคือ ความผันผวนในระยะสั้น มักเบี่ยงเบนความสนใจนักลงทุนออกจากการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างที่สำคัญกว่าและกำลังเกิดขึ้นในเวลานี้

ในช่วงที่ผู้นำโลกกำลังเจรจาข้อตกลงภาษีนำเข้าที่ซับซ้อน หนึ่งในสิ่งที่ดีที่สุดที่คุณสามารถทำได้ในฐานะนักลงทุนระยะยาวคือ การ Stay Invested ในพอร์ตที่มีการกระจายการลงทุนที่ดีทั่วโลก บนระดับความเสี่ยงที่คุณรับได้ เพราะนี่คือช่วงเวลาที่นักลงทุนจำเป็นต้องลงทุนอย่างมีวินัย และอาจเป็นโอกาสในการนำเงินสดมาสร้างผลตอบแทนในระยะยาว

เทคโนโลยีการลงทุน ERAA™ ของเรา จะยังคงประเมินข้อมูลเศรษฐกิจอย่างสม่ำเสมอ และปรับพอร์ตของคุณอย่างเป็นระบบตามความเหมาะสม เพื่อช่วยให้คุณ Stay Invested ได้อย่างต่อเนื่องท่ามกลางความผันผวน และช่วยให้คุณยังอยู่บนเส้นทางบรรลุเป้าหมายทางการเงินของคุณในระยะยาว

อ้างอิง

  1. Orth, T., and Montgomery, D. (2025). Trump job approval, the economy, stocks, tariffs, taxes, and the budget. YouGov. Retrieved from: https://today.yougov.com/politics/articles/52035-donald-trump-job-approval-economy-stocks-tariffs-taxes-budget-april-13-15-2025-economist-yougov-poll
  2. Draghi, M. (2024). The future of European competitiveness. European Commission. Retrieved from: https://commission.europa.eu/topics/eu-competitiveness/draghi-report_en
  3. Goldman Sachs Research. (2025). What advanced AI means for China's economic outlook. Retrieved from: https://www.goldmansachs.com/insights/articles/what-advanced-ai-means-for-chinas-economic-outlook

หมายเหตุ:

การลงทุนมีความเสี่ยง โปรดทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน และความเสี่ยง ก่อนตัดสินใจลงทุน; ผลการดำเนินงานในอดีตไม่ได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต; การลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศมีความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน

ข้อมูลนี้ไม่ถือเป็นคำเสนอ คำแนะนำ คำเชื้อเชิญ หรือการชักชวนให้ท่านซื้อผลิตภัณฑ์ทางการเงิน หรือเข้าทำธุรกรรมใดๆ

ข้อมูลนี้ไม่ได้จัดเตรียมขึ้นโดยคำนึงถึงสถานการณ์ส่วนบุคคลของท่าน (เช่น วัตถุประสงค์การลงทุน สถานการณ์ทางการเงิน หรือความต้องการโดยเฉพาะ) ท่านควรขอคำแนะนำจากที่ปรึกษาด้านการเงิน บัญชี ภาษี กฎหมาย และด้านอื่นๆ ของท่านเอง


แชร์บทความนี้

  • linkedin
  • facebook
  • twitter
  • email

อยากอ่านเพิ่ม?

เราหวังว่าคุณจะได้ประโยชน์ จากบทความของเรา

ร่วมเป็นส่วนหนึ่งกับผู้คนอีกหลายแสนคนที่ต้องการวางแผนการเงินและการลงทุนอย่างยั่งยืนด้วยการสมัครรับบทความและบทวิเคราะห์ของเราที่จะส่งตรงถึงอีเมลของคุณ