Weekly Buzz: ♠️ บทเรียนจาก Poker สำหรับนักลงทุน

27 October 2023

หากมองเผินๆ การลงทุนกับเกม Poker ดูเหมือนจะเป็นคนละเรื่องกัน แต่ความเป็นจริงแล้วทั้งคู่มีหลายอย่างคล้ายคลึงกัน นับตั้งแต่การบริหารความเสี่ยง การควบคุมอารมณ์ และต้องอาศัยโชคเพื่อให้ได้ผลตอบแทนระยะสั้น แต่ในท้ายที่สุด นักลงทุนและนัก Poker จำเป็นต้องมีทักษะที่ดี หากต้องการประสบความสำเร็จในระยะยาว

ข้อเท็จจริงดังกล่าวเห็นได้จากงานวิจัยที่พบว่าผู้จัดการกองทุนที่ทำผลงานได้ดีในการแข่งขัน Poker จะสร้างผลตอบแทนจากการลงทุนได้ดีกว่าอย่างเห็นได้ชัด เราจึงอยากถอดบทเรียน 4 ข้อจากเกม Poker ที่นักลงทุนอาจนำไปใช้ปรับปรุงกลยุทธ์การลงทุนของตัวเอง

1. แยกให้ออกระหว่างโชคกับทักษะ

ทั้งนัก Poker และนักลงทุนจำเป็นต้องแยกให้ออกระหว่างโชคกับทักษะ ซึ่งแน่นอนว่าทั้ง 2 ปัจจัยมีความสำคัญต่อความสำเร็จ แต่ถ้าหากเราละเลยหลักการสำคัญอย่างการกระจายความเสี่ยง ก็อาจเป็นสาเหตุของความไม่ยั่งยืนในระยะยาว

วิธีที่อาจเป็นประโยชน์ในการตัดสินใจคือ การมองให้ออกว่าถ้าเราตัดสินใจด้วยแนวทางเดิม 100 ครั้ง เราจะได้ผลตอบแทนที่ดีสม่ำเสมอหรือไม่ แม้ผลลัพธ์ระยะสั้นอาจคาดเดาได้ค่อนข้างลำบาก แต่การรักษาวิธีคิดและการตัดสินใจให้สม่ำเสมอจะช่วยให้คุณได้ผลลัพธ์ที่ดีในระยะยาว

2. ควบคุมอารมณ์ให้ได้

การเล่น Poker และการลงทุนอาจเต็มไปด้วยอารมณ์ขึ้นๆ ลงๆ ตลอดเส้นทาง แต่สิ่งสำคัญคือ พยายามหลีกเลี่ยงการตัดสินใจบนความกลัว ความโลภ หรือ Ego ของตัวเอง โดยให้ลองสังเกตนัก Poker ที่เก่งที่สุด จะยึดมั่นแนวทางการเล่นและการตัดสินใจอย่างสม่ำเสมอและเป็นระบบ ไม่ว่าตาที่แล้วไพ่จะออกมาเป็นอย่างไรก็ตาม

เหมือนกับการลงทุน ที่การควบคุมอารมณ์จะทำให้เราไม่หวั่นไหวต่อความผันผวนที่มักจะทำให้เราตื่นตระหนกและตัดสินใจขายสินทรัพย์ในช่วงตลาดขาลง ซึ่งอาจเป็นจังหวะที่แย่ที่สุด เพราะโดยส่วนใหญ่แล้วการ Stay Invested ในพอร์ตที่มีการกระจายการลงทุนที่ดี จะทำให้นักลงทุนได้รับผลตอบแทนที่ดีกว่าในระยะยาว

3. กระจายความเสี่ยง

นัก Poker จะไม่ทุ่มหมดหน้าตักในทุกๆ ตา ดังนั้นนักลงทุนจึงไม่ควรลงเงินทั้งหมดในหุ้นหรือสินทรัพย์เพียงตัวเดียว แต่ควรกระจายการลงทุนเพื่อลดความเสี่ยงที่หุ้นขาลงเพียงตัวเดียวอาจส่งผลกระทบต่อพอร์ตทั้งหมดของคุณ เพราะหากสินทรัพย์อื่นๆ ทำผลตอบแทนได้ดีก็จะช่วยชดเชยสินทรัพย์ที่ทำผลงานได้ไม่ดี

นอกจากนี้ สินทรัพย์แต่ละประเภทมีความสามารถสร้างผลตอบแทนและระดับความเสี่ยงที่แตกต่างกันในแต่ละภาวะเศรษฐกิจ ดังนั้นการมีสินทรัพย์หลากหลายประเภทในพอร์ตอาจทำให้คุณรับมือการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจได้ดีขึ้น

4. อยู่ให้ถูกที่ถูกเวลา

ในเกม Poker เราต้องพยายามอยู่ให้ถูกที่ถูกเวลา หรือพยายามหาโต๊ะที่เล่นแล้วได้กำไรมากที่สุด ซึ่งคล้ายกับการลงทุนที่เราต้องพยายามหาทางที่ตัวเองถนัดให้เจอและหมั่นฝึกฝนให้ดียิ่งขึ้น ตัวอย่างเช่น Warren Buffett นักลงทุน VI ระดับตำนานที่สนใจแต่หุ้น Undervalued (ราคาต่ำกว่าปัจจัยพื้นฐาน) ซึ่ง Buffett มักจะลงทุนในหุ้น Value ที่เขามีความเชี่ยวชาญ และพยายามหลีกเลี่ยงการเก็งกำไรในหุ้น Growth (อ่านเพิ่มเติมได้ใน ศัพท์โลกการลงทุน)

แต่หากคุณยังไม่เจอทางของตัวเองเหมือน Buffett การลงทุนแบบ Passive ผ่าน ETF ยังเป็นทางเลือกที่เหมาะสม โดย Flexible Portfolio ของเรา ให้คุณเลือกกระจายการลงทุนในหลากหลาย ETF ได้ตามที่ต้องการ หรือจะเลือก ETF ที่ติดตามดัชนีหุ้นทั่วโลกเพียงแค่ตัวเดียวก็สามารถทำได้เช่นกัน

📰 ข่าวอื่นๆ ที่น่าสนใจ: ผู้บริโภคอเมริกันยังไม่กลัวเงินเฟ้อ

ผู้บริโภคชาวอเมริกันยังคงใช้จ่ายอย่างต่อเนื่องโดยไม่สะทกสะท้านกับราคาสินค้าและบริการที่เพิ่มสูงขึ้น เห็นได้จากยอดค้าปลีกเดือน ก.ย. ที่ขยายตัว 0.7% จากเดือนก่อนหน้า ซึ่งมากกว่าคาดการณ์ที่ 0.3%

ยิ่งไปกว่านั้น ยอดค้าปลีกยังขยายตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 6 ซึ่งผิดกับคาดการณ์ของนักเศรษฐศาสตร์ที่ประเมินว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะชะลอตัวเนื่องจากชาวอเมริกันส่วนใหญ่ใช้เงินที่ได้จากรัฐบาลในช่วง COVID-19 หมดไปแล้ว แต่จนถึงขณะนี้ เศรษฐกิจสหรัฐก็ยังไม่ชะลอตัว 

อย่างไรก็ตาม การที่เศรษฐกิจสหรัฐที่ยังทนทาน หมายความว่า Fed ยังต้องพยายามลดความร้อนแรงของเงินเฟ้อต่อไป ทำให้โอกาสในการขึ้นดอกเบี้ยอีกครั้งก่อนสิ้นปีนี้ยังคงเปิดกว้าง

เนื้อหาในส่วนนี้เขียนขึ้นร่วมกับ Finimize

🎓 ศัพท์โลกการลงทุน: Growth Stocks and Value Stocks

Growth Stocks คือหุ้นที่คาดว่าจะเติบโตเร็วกว่าค่าเฉลี่ย เช่น หุ้นกลุ่มเทคโนโลยี หรือ บริษัท Startup แต่ในทางกลับกัน Value Stocks เปรียบเสมือน Hidden Gem หรือคือหุ้นที่มีราคาต่ำกว่าปัจจัยพื้นฐาน เพราะนักลงทุนมองข้ามหรือประเมินมูลค่าต่ำเกินไป โดยนักลงทุนหุ้น Growth จะให้ความสำคัญกับศักยภาพการเติบโต ส่วนนักลงทุนหุ้น Value จะพยายามมองหาหุ้นพื้นฐานดีราคาถูก


แชร์บทความนี้

  • linkedin
  • facebook
  • twitter
  • email

อยากอ่านเพิ่ม?

เราหวังว่าคุณจะได้ประโยชน์ จากบทความของเรา

ร่วมเป็นส่วนหนึ่งกับผู้คนอีกหลายแสนคนที่ต้องการวางแผนการเงินและการลงทุนอย่างยั่งยืนด้วยการสมัครรับบทความและบทวิเคราะห์ของเราที่จะส่งตรงถึงอีเมลของคุณ