เมื่อ Fed ต้องสร้างสมดุลทางเศรษฐกิจ แล้วจะเกิดอะไรขึ้นหลังจากนี้

28 July 2022
Freddy Lim and Stephanie Leung
CIO Office

ช่วงครึ่งปีที่ผ่านมา Fed (ธนาคารกลางสหรัฐ) เร่งขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างต่อเนื่อง เพื่อควบคุมสถานการณ์เงินเฟ้อที่พุ่งขึ้นสู่จุดสูงสุดในรอบหลายทศวรรษ โดยล่าสุด (27 กรกฎาคม) Fed ได้ปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.75%  เป็นครั้งที่สองในปีนี้ และยังส่งสัญญาณถึงการขึ้นดอกเบี้ยครั้งใหญ่อย่างต่อเนื่องในเดือนกันยายน 2022

Fed กำลังเจอความท้าทายถึง 2 ด้าน ทั้งการต่อสู้กับสถานการณ์เงินเฟ้อที่สูงขึ้นเรื่อยๆ และการดูแลให้เศรษฐกิจเติบโตไปพร้อมๆ กัน โดยมีเป้าหมายหลักเพื่อให้เกิด Soft Landing ที่ทั้งสามารถควบคุมสถานการณ์เงินเฟ้อ และประคองให้เศรษฐกิจไม่เข้าสู่ภาวะถดถอยได้ แต่เมื่อ Fed ยังคงปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยฯ อย่างต่อเนื่อง ยิ่งทำให้ Soft Landing เกิดได้ยากขึ้น

ในตอนนี้หลายฝ่ายต่างจับตามองว่า เศรษฐกิจจะสามารถลงจอดแบบ Soft Landing หรือจะเข้าสู่ภาวะ Recession หรือ Stagflation กันแน่

บทความนี้เราจึงอยากชวนนักลงทุนมาทำความเข้าใจสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบัน และดูว่าสินทรัพย์แต่ละประเภทจะฟื้นตัวอย่างไร รวมถึงผลกระทบที่คุณอาจเจอหากคุณขายสินทรัพย์ในช่วงที่ตลาดผันผวนแบบนี้


Key takeaways:

  • กลยุทธ์การลงทุน ERAA™ ของเรา เริ่มเห็นสัญญาณว่าเศรษฐกิจโลกและสหรัฐ กำลังเข้าใกล้ภาวะ Stagflation หรือภาวะเศรษฐกิจหดตัวแต่เงินเฟ้อสูง
  • ข้อมูลย้อนหลังพบว่า ตราสารหนี้ และหุ้น Defensive (หุ้นเชิงรับ) ทำผลตอบแทนได้ดีกว่าสินทรัพย์อื่นๆ ในช่วงภาวะ Recession ส่วนหุ้นวัฏจักร จะทำผลตอบแทนได้ดีในช่วงที่ตลาดเข้าสู่ช่วงฟื้นตัว
  • คุณอาจกังวลว่าตลาดจะปรับตัวลดลงอีก และรู้สึกอยากจะขายสินทรัพย์ออกจากตลาดมาก่อน แต่ในความเป็นจริง การจับจังหวะหา ‘จุดต่ำสุด’ เป็นเรื่องที่แทบจะเป็นไปไม่ได้
  • หากคุณมีเป้าหมายการลงทุนระยะยาว การขายสินทรัพย์ออกมาพักไว้ก่อน หมายถึงคุณจะต้องจับจังหวะเข้าไปลงทุนอีกครั้ง

ทำความเข้าใจภาวะ Stagflation และ Recession

เศรษฐกิจดำเนินไปเป็นวัฏจักรอยู่เสมอ มีทั้งช่วงที่เติบโตและหดตัว โดยกลยุทธ์การลงทุน ERAA™ ของเราแบ่งภาวะเศรษฐกิจออกเป็น Good Times, Inflationary Growth, Stagflation และ Recession โดย

  • Stagflation จะเกิดขึ้นเมื่ออัตราเงินเฟ้อพุ่งสูงขึ้น และส่งผลให้อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจชะลอลงจนถึงจุดหดตัว ซึ่งเป็นภาวะเศรษฐกิจถดถอยแต่เงินเฟ้อยังอยู่ในระดับสูง
  • Recession คือสถานการณ์ที่เศรษฐกิจหดตัว แต่อัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำ ซึ่งจะเริ่มส่งผลให้ค่าแรงปรับตัวลดลง และทำให้ความสามารถในการใช้จ่ายของผู้บริโภคลดลงไปด้วย

อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับ ERAA™ และภาวะเศรษฐกิจแต่ละแบบได้ที่นี่

ทั้งนี้ การจับสัญญาณล่าสุดของ ERAA™ พบว่า เศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจสหรัฐกำลังเข้าใกล้ภาวะ Stagflation แล้ว

นอกจากนี้ สถานการณ์เงินเฟ้อที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องยังกดดันให้ธนาคารกลางต่างๆ ต้องเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างรวดเร็วและรุนแรง ทำให้โอกาสที่จะเกิด Recession ในปีหน้ายิ่งสูงขึ้น นั่นเป็นเพราะว่าอัตราดอกเบี้ยฯ ที่เพิ่มขึ้นจะทำให้ต้นทุนการกู้ยืมทั้งของผู้บริโภคและภาคธุรกิจปรับตัวเพิ่มขึ้นตาม ซึ่งจะส่งผลให้การเติบโตทางเศรษฐกิจชะลอตัวลง โดยนักเศรษฐศาสตร์ประเมินว่าเศรษฐกิจสหรัฐมีความเป็นไปได้ราว 40% ที่จะเข้าสู่ภาวะ Recession ในอีก 12 เดือนข้างหน้า

เส้นทางสู่การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจจะเป็นแบบไหน?

ไม่ว่าภาวะเศรษฐกิจกำลังจะเข้าสู่ Recession, Stagflation หรือจะสามารถหลีกเลี่ยงสถานการณ์เหล่านี้ได้ก็ตาม แต่สิ่งที่จะเกิดขึ้นในระยะข้างหน้าคือ ความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจนี้จะทำให้ตลาดผันผวนมากยิ่งขึ้น โดยนักลงทุนระยะยาวมักเข้าใจธรรมชาติของตลาดที่จะฟื้นตัวกลับมาได้ในระยะยาวเสมอแต่ในระยะกลางจะต้องเจอกับอะไรบ้าง

หากย้อนดูข้อมูลในอดีตทั้งช่วงตลาดขาลงและฟื้นตัวพบว่า สินทรัพย์แต่ละประเภทจะเคลื่อนไหว และให้ผลตอบแทนที่แตกต่างกันไปในแต่ละภาวะเศรษฐกิจ โดยสามารถศึกษาได้จากกราฟด้านล่าง ซึ่งแสดงถึงการฟื้นตัวของสินทรัพย์ 3 ประเภทในช่วงที่เกิด COVID-19

เราสังเกตเห็นลักษณะที่คล้ายกันนี้ทั้งในช่วงวิกฤตการเงินโลกปี 2008 และการปรับฐานของตลาดในช่วงปี 2018 ที่เกิดสงครามการค้าระหว่างสหรัฐ-จีน ซึ่งเป็นช่วงที่ Fed ใช้นโยบายการเงินแบบเข้มงวด

202207 CIO Insights fig 1

อ้างอิง: StashAway, Bloomberg, กรกฎาคม 2022

กราฟนี้เปรียบเทียบ 3 สินทรัพย์ในช่วงที่เกิดวิกฤต COVID-19 ปี 2020 ได้แก่ US Treasury หรือ พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ (เส้นสีเหลือง) หุ้น Consumer Staples หรือ สินค้าอุปโภคบริโภค (เส้นสีน้ำเงิน) ซึ่งเป็นหุ้น Defensive และหุ้นกลุ่มอุตสาหกรรม (เส้นสีฟ้า) ซึ่งนับเป็นหุ้นวัฏจักร

เมื่อเริ่มเข้าสู่ภาวะ Recession ตราสารหนี้มักจะฟื้นตัวก่อน

ข้อมูลในอดีตแสดงให้เห็นว่า ตลาดตราสารหนี้มักจะทำผลตอบแทนได้ดีกว่าหุ้นในภาวะ Recession เพราะนักลงทุนจะหลีกเลี่ยงการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง และจะลงทุนในสินทรัพย์ปลอดภัย (Safe haven) เช่น พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ นอกจากนี้ ราคาของตราสารหนี้มักมีความสัมพันธ์แบบผกผัน (Inverse relationship) กับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ดังนั้นตลาดตราสารหนี้มักจะปรับตัวสูงขึ้นเมื่อ Fed ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย อย่างที่แสดงในกราฟด้านบน ราคาพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐปรับตัวสูงขึ้นหลัง Fed เริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงในช่วงต้นปี 2020 หลังเกิดการแพร่ระบาด COVID-19 ขึ้น

ทั้งนี้ ตลาดตราสารหนี้เริ่มรับรู้ว่ามีโอกาสที่ Fed จะเปลี่ยนทิศทางจากดอกเบี้ยขาขึ้น หันมาปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจอีกครั้งในปีหน้า ซึ่งนี่เป็นสัญญาณที่ตลาดคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจจะเข้าสู่ภาวะถดถอยเร็วๆ นี้

หุ้น Defensive มักทำผลตอบแทนได้ดีกว่าในช่วง Recession ส่วนหุ้นวัฏจักรจะทำได้ดีในช่วงเศรษฐกิจฟื้นตัว

ในช่วง Recession มักพบว่า หุ้น Defensive เช่น Consumer Staples และ Healthcare มักได้รับผลกระทบน้อยกว่าหุ้นกลุ่มอื่นและเริ่มฟื้นตัวก่อน ส่วนหุ้นวัฏจักร เช่น ภาคอุตสาหกรรม และ กลุ่ม IT ที่รายได้แปรผันตามภาวะเศรษฐกิจมากกว่ากลุ่มอื่น จะสามารถทำผลตอบแทนได้ดีกว่าในช่วงเศรษฐกิจฟื้นตัว

ทั้งนี้ เราเห็นลักษณะการฟื้นตัวนี้ในปี 2020 ช่วงวิกฤต COVID-19 (กราฟด้านบน) พบว่า หุ้น Defensive ปรับตัวลดลงน้อยกว่าและเริ่มฟื้นตัวเร็วกว่า ตามมาด้วย หุ้นวัฏจักร (โดยครั้งนี้มีปัจจัยเฉพาะจากมาตรการล็อกดาวน์ที่คนต้องพึ่งพาเทคโนโลยีมากขึ้น ทำให้หุ้นกลุ่ม IT ใช้เวลาฟื้นตัวเร็วกว่าครั้งก่อนๆ) โดยเรายังเห็นรูปแบบการฟื้นตัวนี้ในช่วงปี 2008 - 2009 (กราฟด้านล่าง) เช่นเดียวกัน

202207 CIO Insights fig 2

อ้างอิง: StashAway, Bloomberg, กรกฎาคม 2022

อย่างไรก็ตาม ท้ายที่สุดแล้วตลาดมักจะฟื้นตัวกลับมาได้เสมอ และเพื่อรับมือกับความผันผวนที่เกิดขึ้นระหว่างทาง การกระจายการลงทุนในสินทรัพย์ที่หลากหลายเป็นการบริหารความเสี่ยงที่ดี เพื่อช่วยลดผลกระทบเมื่อสินทรัพย์ใดสินทรัพย์หนึ่งได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง

นักลงทุนควรรอจังหวะเพื่อลงทุนใน ‘จุดต่ำสุด’ ของตลาดหรือไม่?

คำตอบคือ ไม่

แม้ว่าปัจจุบันตลาดลงทุนยังเผชิญกับแรงกดดันหลายด้าน ทั้งอัตราเงินเฟ้อที่พุ่งสูงกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ และนโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้นเรื่อยๆ คุณอาจกังวลว่าตลาดจะปรับตัวลดลงอีก และอาจตัดสินใจขายสินทรัพย์ออกจากตลาดมาพักไว้ก่อน เพื่อหาโอกาสกลับเข้าไปลงทุนอีกครั้งในช่วงที่ราคา ‘ต่ำที่สุด’

ในทางทฤษฎี แนวคิดนี้ดูเหมือนจะถูกต้อง แต่ในความเป็นจริงการกลับเข้าไปลงทุนใน ‘จุดต่ำสุด’ เป็นสิ่งที่ทำได้ยากมาก เพราะแม้นักลงทุนจะติดตามข่าวอย่างใกล้ชิด แต่ช่วงที่ตลาดอยู่ใน ‘จุดต่ำสุด’ มักจะมีข่าวด้านลบเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และเมื่อตลาดเริ่มฟื้นตัวก็มักเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งอาจยังไม่มีรายงานข่าวในทันที หรือคุณอาจมาเห็นรายงานข่าวเมื่อจุดฟื้นตัวนั้นผ่านไปแล้ว

202207 CIO Insights fig 3

อ้างอิง: StashAway

กราฟนี้อธิบายถึงผลกระทบต่อนักลงทุนที่ขายสินทรัพย์ออกมาพักไว้เพียง 1 เดือน: นักลงทุน A (เส้นสีฟ้า) ยังคงเก็บเงินในพอร์ตลงทุนไว้ตลอดช่วง COVID-19 จนถึงช่วงที่ตลาดฟื้นตัวขึ้น ในขณะที่นักลงทุน B (เส้นสีเหลือง) ตัดสินใจขายในจุดต่ำสุดของตลาด (Panic Sell) โดยหันมาถือเงินสดแทน และกลับมาลงทุนอีกครั้งหลังผ่านไป 1 เดือน

แม้นักลงทุนทั้งสองมีมูลค่าพอร์ตเท่ากันตอนต้นปี แต่พอร์ตของนักลงทุน A สามารถฟื้นตัวกลับมาเท่ากับช่วงก่อนเกิดวิกฤตได้ในเดือนสิงหาคม 2020 ส่วนพอร์ตของนักลงทุน B ในเวลาเดียวกันยังคงติดลบ 15% จากต้นปี

ตลาดผันผวนยิ่งต้องกระจายการลงทุน และมองภาพระยะยาว 

ตลาดการลงทุนสามารถฟื้นตัวกลับมาได้ในที่สุดก็จริง แต่ช่วงดอกเบี้ยขาขึ้นของ Fed จะสร้างความผันผวนให้ตลาดมากขึ้นหลังจากนี้ ที่สำคัญถ้าคุณมีเป้าหมายการลงทุนระยะยาว การขายสินทรัพย์ออกมาพักไว้ก่อน หมายถึงคุณจะต้องจับจังหวะเข้าไปลงทุนอีกครั้ง และอาจพลาดโอกาสเข้าลงทุนเมื่อตลาดเริ่มฟื้นตัว ซึ่งจะกระทบผลตอบแทนในระยะยาวของคุณอย่างมาก

นอกจากนี้ สินทรัพย์แต่ละประเภทสามารถสร้างผลตอบแทนที่แตกต่างกันไปในแต่ละภาวะเศรษฐกิจ และการคาดการณ์ ‘จุดต่ำสุด’ ของตลาดเป็นสิ่งที่ทำได้จริงยากมาก การมีพอร์ตลงทุนที่กระจายในสินทรัพย์หลากหลายประเภท จึงเป็นวิธีที่ดีที่สุดในช่วงที่ตลาดผันผวนอย่างในปัจจุบัน และยังช่วยลดผลกระทบเมื่อสินทรัพย์ใดสินทรัพย์หนึ่งปรับตัวลงอย่างรุนแรง


แชร์บทความนี้

  • linkedin
  • facebook
  • twitter
  • email

อยากอ่านเพิ่ม?

เราหวังว่าคุณจะได้ประโยชน์ จากบทความของเรา

ร่วมเป็นส่วนหนึ่งกับผู้คนอีกหลายแสนคนที่ต้องการวางแผนการเงินและการลงทุนอย่างยั่งยืนด้วยการสมัครรับบทความและบทวิเคราะห์ของเราที่จะส่งตรงถึงอีเมลของคุณ