Weekly Buzz: OPEC+ ลดกำลังการผลิตน้ำมัน เพิ่มความท้าทายให้สถานการณ์เงินเฟ้อ

07 April 2023

🔼 การตัดสินใจของ OPEC+ ยิ่งเพิ่มความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ

‘น้ำมัน’ กลับมาเป็นประเด็นอีกครั้ง หลังจากนิ่งไประยะหนึ่ง

คืนวันอาทิตย์ที่ผ่านมา กลุ่ม OPEC+ (OPEC และประเทศพันธมิตร) ได้ประกาศว่าจะลดกำลังการผลิตน้ำมันลงมากกว่า 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน โดยจะเริ่มในเดือน พ.ค. ไปจนถึงสิ้นปี การตัดสินใจครั้งนี้ถือเป็นเซอร์ไพรส์สำหรับตลาดและยังส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบ Brent พุ่งขึ้น 8.3% ไปอยู่ที่กว่า 86 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล (อ่านเพิ่มเติมได้ใน ศัพท์โลกการลงทุน: OPEC vs Brent Crude)

🤕 OPEC+ ตัดสินใจลด Supply ก่อนที่ Demand จะปรับลดลงตามคาด

การประกาศของ OPEC+ เกิดขึ้นท่ามกลางความตึงเครียดด้านภูมิรัฐศาสตร์ และ Demand ของน้ำมันดิบที่ลดลงจากความไม่แน่นอนในตลาดโลก โดยเฉพาะจากความวุ่นวายล่าสุดในกลุ่มธุรกิจธนาคาร 

จุดที่น่าสังเกต คือ การตัดสินใจครั้งนี้เกิดขึ้นนอกวาระการประชุมสามัญของ OPEC ซึ่งแสดงให้เห็นว่ากลุ่มประเทศสมาชิกต้องการรีบเดินหน้าก่อนที่ราคาน้ำมันจะตกลงตามที่ประเมินไว้ โดยเฉพาะเมื่อข้อมูลกิจกรรมในภาคอุตสาหกรรมของสหรัฐและจีนลดลงในเดือน มี.ค. ที่ผ่านมา ทั้งนี้ การลดกำลังการผลิตของ OPEC+ ครั้งนี้ อาจมีส่วนช่วยลดการขาดทุนให้กับกลุ่มประเทศสมาชิกได้ หาก Demand น้ำมันจากกลุ่มประเทศเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลกลดลงในระยะข้างหน้า 

แล้วราคาน้ำมันสำคัญต่อนักลงทุนอย่างไร? 

การตัดสินใจของ OPEC+ ครั้งนี้ทำให้ราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้น ยิ่งเป็นการเพิ่มความซับซ้อนให้กับสถานการณ์เงินเฟ้อทั่วโลกมากขึ้นด้วย 

Weekly Buzz ของเราเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ได้วิเคราะห์ถึงความเป็นไปได้ว่าความวุ่นวายในกลุ่มธุรกิจการเงินอาจเป็นสัญญาณของการสิ้นสุดดอกเบี้ยขาขึ้นของ Fed 

อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้นอาจกลายเป็นความท้าทายใหม่ เนื่องจากจะกระทบกับเศรษฐกิจเป็นวงกว้างเพราะน้ำมันเป็นปัจจัยหลักในหลากหลายอุตสาหกรรม ตั้งแต่การผลิตไปจนถึงการขนส่ง นอกจากนี้ราคาน้ำมันที่สูงขึ้นมักนำไปสู่ราคาสินค้าที่แพงขึ้น ซึ่งอาจส่งผลให้เงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้นในที่สุด 

ตลาดคาดการณ์ว่าราคาน้ำมันอาจปรับสูงขึ้นอีก: หลังจากการประกาศของ OPEC+ นักลงทุนได้ปรับการคาดการณ์ใหม่ และมีบางส่วนคาดว่าราคาอาจพุ่งขึ้นถึง 100 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล (ปัจจุบันอยู่ที่ราว 85 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล) โดยการเปิดประเทศของจีนอาจเป็นปัจจัยสำคัญที่ผลักให้ Demand ของน้ำมันเพิ่มสูงขึ้นและส่งผลให้ราคาปรับขึ้นตาม 

ทั้งนี้ นักวิเคราะห์บางส่วนเห็นต่างว่า ทิศทางการขึ้นราคาน้ำมันอาจยัง “ไม่แน่นอน" เพราะ OPEC+ ยังสามารถปรับเปลี่ยนกำลังการผลิตได้หากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจมีการเปลี่ยนแปลง

สรุปได้ว่าภารกิจของ Fed อาจมีความซับซ้อนมากขึ้นอีก ทั้งจากปัจจัยต่างๆ ก่อนหน้าและสถานการณ์ราคาน้ำมันที่เพิ่งเกิดขึ้นนี้

อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับทิศทางดอกเบี้ยของ Fed หลังจากความวุ่นวายที่เกิดขึ้นในกลุ่มธนาคารได้ใน CIO Insights ล่าสุดของเรา

🌎 ข้อมูลที่เรากำลังจับตา:

ตัวเลขตลาดแรงงานสหรัฐล่าสุด  

ข้อมูลตัวเลขล่าสุดจะทำให้เราเห็นแนวโน้มของตลาดแรงงานสหรัฐมากขึ้น โดยตลาดคาดว่าตัวเลขการจ้างงานจะยังคงแข็งแกร่ง ซึ่งจะเป็นสัญญาณชี้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐยังร้อนแรงอยู่ และอาจเป็นปัจจัยให้ Fed ยังคงอัตราดอกเบี้ยไว้ในระดับสูงต่อไปอีกระยะหนึ่ง แม้จะไม่มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกก็ตาม 

🎓ศัพท์โลกการลงทุน: OPEC vs Brent Crude 

OPEC ย่อมาจาก Organization of the Petroleum Exporting Countries หรือ องค์กรร่วมประเทศผู้ผลิตน้ำมันเพื่อการส่งออก ซึ่งเป็นองค์กรระหว่างประเทศของ 13 ประเทศผู้ส่งออกน้ำมันหลักของโลก

ในปี 1960 ประเทศอิหร่าน, อิรัก, คูเวต, ซาอุดีอาระเบีย และเวเนซุเอลา ได้ร่วมกันจัดตั้งองค์กรนี้ขึ้นมา หลังจากนั้นมีประเทศอื่นๆ เช่น แอลจีเรีย, คองโก, ลิเบีย, ไนจีเรีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ มาเข้าร่วมด้วย โดยประเทศที่ผลิตน้ำมันแต่ไม่ได้เข้าร่วม OPEC อย่างรัสเซียและจีนอาจมีส่วนร่วมในการตัดสินใจในบางครั้ง ซึ่งหากเป็นลักษณะนี้จะเรียกว่ากลุ่ม OPEC+ แทน

OPEC มักถูกมองในฐานะระบบผูกขาดเพราะเป็นองค์กรที่มีอำนาจควบคุมปริมาณ Supply น้ำมันรายใหญ่ของโลก รวมถึงเป็นตัวกลางประสานงานด้านนโยบายน้ำมันเพื่อควบคุมราคาน้ำมัน

Brent Crude คือ น้ำมันดิบ Brent ซึ่งเป็น 1 ใน 3 ของราคาน้ำมันดิบอ้างอิงที่สำคัญของโลก ร่วมกับ West Texas Intermediate (WTI) และ น้ำมันดิบ Dubai โดยน้ำมันดิบ Brent มีการใช้อย่างแพร่หลายเนื่องจากง่ายต่อการกลั่นเป็นน้ำมันดีเซลและน้ำมันเชื้อเพลิง จึงกลายเป็นราคาที่ใช้อ้างอิงมากกว่า 2 ใน 3 ของการซื้อขายน้ำมันดิบทั่วโลก


แชร์บทความนี้

  • linkedin
  • facebook
  • twitter
  • email

อยากอ่านเพิ่ม?

เราหวังว่าคุณจะได้ประโยชน์ จากบทความของเรา

ร่วมเป็นส่วนหนึ่งกับผู้คนอีกหลายแสนคนที่ต้องการวางแผนการเงินและการลงทุนอย่างยั่งยืนด้วยการสมัครรับบทความและบทวิเคราะห์ของเราที่จะส่งตรงถึงอีเมลของคุณ