Weekly Buzz: กรณีแบงก์ล้ม, เงินเฟ้อยืดเยื้อ และภารกิจที่ยากขึ้นของ Fed

18 March 2023
Weekly Buzz 17Mar23 1

🔍 กรณีวิกฤตของกลุ่มธุรกิจธนาคารส่งผลต่อ Fed และตลาดอย่างไร

วิกฤตของ Silicon Valley Bank (SVB) และ Signature Bank เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา เป็นกรณีที่เกิดจาก 3 ปัจจัยหลัก คือ ธนาคารเหล่านี้มีฐานลูกค้าหลักกระจุกตัวในกลุ่มธุรกิจเทคโนโลยีในสหรัฐ, การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายทั้งเร็วและแรงซึ่งส่งผลให้ทั้ง 2 ธนาคารต้องขาดทุนจากพันธบัตรระยะยาว และการเกิด Asset-Liability Mismatch หรือ ความไม่สมดุลของทรัพย์สิน-หนี้สิน ซึ่งนำไปสู่สถานการณ์ Bank Run ของธนาคารทั้ง 2 แห่ง (อ่านเพิ่มเติมได้ที่ด้านล่าง) ขณะที่กรณีของธนาคาร Credit Suisse ยิ่งเพิ่มความกังวลว่าปัญหาเหล่านี้จะลุกลามไปสู่ธุรกิจธนาคารทั่วโลก

โดยทางการสหรัฐออกมาตรการช่วยเหลือด้านสภาพคล่องอย่างรวดเร็ว และธนาคารกลางสวิตเซอร์แลนด์เข้ามาเสริมสภาพคล่องระยะสั้นให้ Credit Suisse เพื่อให้ดำเนินกิจการต่อไปได้ แต่ประเด็นปัญหาเหล่านี้ยังเผยให้เห็นถึงจุดอ่อนในระบบเศรษฐกิจที่ซุกซ่อนอยู่ ซึ่งเกิดจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยฯ ทั้งเร็วและแรงของธนาคารกลางหลักในช่วงปีที่ผ่านมา

วิกฤตในกลุ่มธุรกิจธนาคารนี้ยังคงไม่จบเพียงแค่นี้ และปัจจัยที่ทีมงานด้านการลงทุนของเรากำลังติดตามอย่างใกล้ชิดคือ:

วิกฤตแบงก์ล้ม มีนัยสำคัญต่อเศรษฐกิจและตลาดอย่างไร

ในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจและตลาดมีความไม่แน่นอนเพิ่มสูงขึ้น ผู้บริโภคและภาคธุรกิจต่างมีแนวโน้มที่จะรัดเข็มขัดมากขึ้น ซึ่งส่งผลลบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ยิ่งไปกว่านั้นกลุ่มธุรกิจธนาคารมีแนวโน้มที่จะดูแลงบดุลมากขึ้นด้วยการเพิ่มความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ ความสามารถในการทำกำไรของธนาคารจึงลดลง รวมถึงผู้กู้ทั้งรายย่อยและภาคธุรกิจจะเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ยากขึ้นซึ่งส่งผลต่อการเติบโตของเศรษฐกิจโดยรวม

นอกจากนี้ต้องไม่ลืมว่าการที่ธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายทั้งเร็วและแรงรวมกว่า 4.50% ตั้งแต่ มี.ค. 2022 ที่ผ่านมา จะยังคงส่งผลกระทบเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ ดังนั้นเรายังคงเห็นตลาดผันผวนในระยะอันใกล้

ในเดือน ธ.ค. ที่ผ่านมา กลยุทธ์การลงทุน ERAA™ ได้บริหารพอร์ตให้พร้อมรับมือสถานการณ์ความไม่แน่นอน ด้วยการทำ Re-optimisation โดยเพิ่ม Exposure ในสินทรัพย์กลุ่ม Defensive เช่น พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐระยะสั้น, หุ้นกู้คุณภาพดีทั่วโลก และ หุ้นกลุ่ม Healthcare ไว้แล้ว

สถานการณ์นี้ส่งผลต่อทิศทางการขึ้นอัตราดอกเบี้ยฯ ของ Fed อย่างไร

หลังจากเกิดวิกฤตนี้ ตลาดปรับการคาดการณ์ว่ามีความเป็นไปได้ที่ Fed จะไม่มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยฯ ในการประชุมที่จะถึงนี้ และอาจเริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ยฯ ราวกลางปีนี้ ซึ่งเมื่อสัปดาห์ก่อนหน้า ตลาดเคยคาดไว้ว่า Fed จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยฯ 0.50% ในเดือนนี้ และยังมีความเป็นไปได้ยากที่จะเริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ยฯ ภายในสิ้นปีนี้

ยิ่งเป็นการตอกย้ำว่า Fed กำลังเจอกับภารกิจที่ยากในการหาจุดสมดุลระหว่างการต่อสู้กับเงินเฟ้อและการรักษาเสถียรภาพของระบบการเงิน

ในมุมมองของเรา Fed ไม่จำเป็นต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง เพราะ Fed ยังมีเครื่องมืออื่นๆ เพื่อจัดการกับความกังวลด้านเสถียรภาพทางการเงิน ซึ่งเครื่องมือเหล่านี้สามารถนำมาปรับใช้ได้ในระหว่างที่ยังมีความจำเป็นต้องขึ้นอัตราดอกเบี้ยฯ เพื่อชะลอเงินเฟ้อต่อไป

📈 เงินเฟ้อที่ยืดเยื้อ ยิ่งทำให้งานของ Fed ยากขึ้น

ตัวเลขเงินเฟ้อ CPI ยังคงสูงขึ้นต่อเนื่องในเดือน ก.พ. โดยเงินเฟ้อ CPI เพิ่มขึ้น 0.4% MoM หรือคิดเป็น 6% YoY แต่เงินเฟ้อพื้นฐาน (Core Inflation) ซึ่งไม่รวมราคาอาหารสดและพลังงาน ที่เพิ่มขึ้น 0.5 % MoM หรือ 5.5% YoY ได้สร้างความกังวลมากขึ้น นั่นเป็นเพราะเงินเฟ้อพื้นฐานมีแนวโน้มที่จะยืดเยื้อมากกว่าและเป็นสิ่งที่ Fed ให้ความสำคัญเป็นพิเศษ

ขณะนี้ทุกสายตาต่างจับจ้องไปที่ Fed ว่าจะตัดสินใจอย่างไรในการประชุมวันที่ 21-22 มี.ค. นี้ โดยปัจจุบันตลาดคาดว่า Fed อาจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายราว 0.25%


ความปลอดภัยของสินทรัพย์ของคุณ

คุณสบายใจได้ เนื่องจาก StashAway ได้แต่งตั้งธนาคารกสิกรไทยเป็นผู้รับฝากทรัพย์สินกองทุนส่วนบุคคลของคุณ โดยหลักทรัพย์ที่เราลงทุนและเงินสดในต่างประเทศจะเก็บอยู่ในบัญชีผู้รับฝากทรัพย์สินที่ธนาคาร Citibank และ HSBC ในสิงคโปร์ตามลำดับ โดยผ่าน Saxo Capital Markets ซึ่งเป็นโบรกเกอร์ของเรา

นอกจากนี้สินทรัพย์ในการดำเนินธุรกิจของ StashAway จะเก็บอยู่ที่ธนาคาร Citibank และไม่มีการจัดเก็บไว้กับ SVB แต่อย่างใด โดยสินทรัพย์ในการดำเนินธุรกิจของ StashAway จัดเก็บแยกจากสินทรัพย์ของนักลงทุนโดยสิ้นเชิง

พอร์ตการลงทุนของ StashAway ไม่มีการลงทุนโดยตรงใน SVB อย่างไรก็ตาม SVB ยังเป็นส่วนหนึ่งในดัชนีหุ้นโลกและหุ้นสหรัฐ เช่น S&P 500 จึงทำให้พอร์ตการลงทุนของเรามีสัดส่วนการลงทุนในหุ้นและตราสารหนี้ของ SVB ในระดับที่ไม่มีนัยสำคัญต่อภาพรวมของพอร์ต ตัวอย่างเช่น พอร์ต General Investing ที่ระดับความเสี่ยง StashAway Risk Index สูงสุด หรือ SRI 36% จะมี Exposure ใน SVB ที่สัดส่วนรวมสูงสุด 0.0062% ผ่าน IVV, ISAC, และ AGG ซึ่งเป็น ETF ที่ลงทุนในหุ้นหรือตราสารหนี้ทั่วโลก

โดยในเดือน ธ.ค. 2022 ที่ผ่านมา กลยุทธ์การลงทุน ERAA™ ได้ปรับลดสัดส่วนการลงทุนในหุ้นกลุ่มธุรกิจการเงินในสหรัฐ​ เพราะจากข้อมูลในอดีต กลุ่มธุรกิจนี้มักมีผลตอบแทนที่ต่ำกว่าเมื่ออยู่ในภาวะดอกเบี้ยขาขึ้น และอ่อนไหวต่อการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ

ตลาดที่ผันผวนอย่างในปัจจุบัน เราควรเก็บเงินสดไว้มากกว่า?

เรายังคงไม่แนะนำให้คุณจับจังหวะซื้อขายในการลงทุนเพราะเป็นสิ่งที่ทำให้สำเร็จได้ยาก และการลงทุนแบบ DCA อย่างสม่ำเสมอจะทำให้คุณไปถึงเป้าหมายสำหรับการลงทุนในระยะยาวได้มากกว่า

สำหรับสัดส่วนเงินสดที่คุณต้องการถือไว้ ต้องไม่ลืมว่าเรากำลังอยู่ในช่วงอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น ดังนั้นการบริหารเงินสดส่วนนี้ให้งอกเงยเพื่อลดผลกระทบจากเงินเฟ้อถือเป็นสิ่งที่สำคัญ


Weekly Buzz 17Mar23 2

🎓 ศัพท์โลกการลงทุน: Bank Run

สถานการณ์ ‘Bank Run’ จะเกิดขึ้นเมื่อผู้ฝากเงินจำนวนมากต่างถอนเงินฝากพร้อมๆ กันอย่างกะทันหัน โดยมักเกิดขึ้นเมื่อผู้ฝากเงินกังวลว่าธนาคารจะขาดสภาพคล่องหรือเข้าสู่ภาวะล้มละลาย เช่น มีหนี้สิน (ส่วนที่ผู้ฝากเงินเป็นเจ้าหนี้) สูงกว่าทรัพย์สิน

ล่าสุดสถานการณ์นี้เกิดขึ้นกับ Silicon Valley Bank (SVB) หลังจาก SVB ประกาศว่ามีความจำเป็นต้องขายหลักทรัพย์ที่มีผลขาดทุนกว่า 1,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ* (ราว 62,118 ล้านบาท) และต้องระดมเงินทุนเพิ่มเพื่อให้ครอบคลุมเงินฝากที่ลดลง ราคาหุ้นของ SVB ก็ร่วงลงและผู้ฝากเงินต่างเริ่มถอนเงินออกอย่างรวดเร็ว โดยสัปดาห์ที่ผ่านมา ลูกค้าถอนเงินรวมกว่า 42,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ* (ราว 1.4 ล้านล้านบาท) ภายใน 1 วันและส่งผลให้ธนาคารมีเงินสดคงค้างติดลบราว 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ* (ราว 34,507 ล้านบาท)

*อัตราแลกเปลี่ยนที่ 34.51 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

Weekly Buzz 17Mar23 3

แม้ตลาดมีความไม่แน่นอน แต่คุณยังสามารถรับอัตราผลตอบแทนที่น่าสนใจได้ในทุกภาวะเศรษฐกิจ ผ่านการให้ ‘เงิน’ ทำงานให้คุณด้วยพอร์ตต้นแบบที่เน้น Passive Income ของเราซึ่งลงทุนในตราสารหนี้ทั่วโลก ด้วยอัตราผลตอบแทนเป้าหมายที่ 4-6*% ต่อปี

อีกทางเลือกที่ดีในการกระจายการลงทุนให้พอร์ตโดยรวมของคุณ ศึกษาเพิ่มเติมได้ในบทความนี้


แชร์บทความนี้

  • linkedin
  • facebook
  • twitter
  • email

อยากอ่านเพิ่ม?

เราหวังว่าคุณจะได้ประโยชน์ จากบทความของเรา

ร่วมเป็นส่วนหนึ่งกับผู้คนอีกหลายแสนคนที่ต้องการวางแผนการเงินและการลงทุนอย่างยั่งยืนด้วยการสมัครรับบทความและบทวิเคราะห์ของเราที่จะส่งตรงถึงอีเมลของคุณ