Weekly Buzz: แม้จะร่วงหนัก แต่ดอลลาร์ฯ ยังทรงอิทธิพล 👑

25 April 2025

แชร์บทความนี้

  • linkedin
  • facebook
  • twitter
  • email

อยากอ่านเพิ่ม?

เราหวังว่าคุณจะได้ประโยชน์ จากบทความของเรา

ร่วมเป็นส่วนหนึ่งกับผู้คนอีกหลายแสนคนที่ต้องการวางแผนการเงินและการลงทุนอย่างยั่งยืนด้วยการสมัครรับบทความและบทวิเคราะห์ของเราที่จะส่งตรงถึงอีเมลของคุณ

แม้เงินดอลลาร์สหรัฐจะยังคงเป็นสกุลเงินหลักที่ทั่วโลกใช้ในการลงทุน ซื้อขายสินค้า และเป็นทุนสำรองระหว่างประเทศ แต่ความวุ่นวายที่เกิดจากมาตรการภาษีนำเข้าของประธานาธิบดี Donald Trump ทำให้ตอนนี้ตลาดเริ่มตั้งคำถามแล้วว่า อิทธิพลของเงินดอลลาร์ฯ เริ่มสั่นคลอนจริงๆ หรือแค่สะดุดเพียงชั่วคราว

เกิดอะไรขึ้น?

ปัจจุบัน คำว่า ‘De-dollarisation’ หรือการลดการพึ่งพาเงินดอลลาร์ฯ และ ‘การเปลี่ยนแปลงระเบียบโลก’ ถูกพูดถึงบ่อยขึ้น บ้างก็คาดการณ์ถึงจุดจบของเงินดอลลาร์ฯ ที่เคยยิ่งใหญ่ โดยธนาคารกลางบางแห่งได้เริ่มปรับพอร์ตทุนสำรองของตัวเอง ขณะที่ รัฐบาลบางประเทศได้ทดลองออกพันธบัตรที่ไม่อิงกับดอลลาร์ฯ นอกจากนี้ ก็อาจมีระบบการชำระเงินรูปแบบใหม่ๆ ที่ก้าวขึ้นมามีบทบาทมากขึ้นในช่วงนี้

อย่างไรก็ตาม เงินดอลลาร์ฯ ยังคงมีสัดส่วนประมาณ 60% ของทุนสำรองเงินตราต่างประเทศทั่วโลก ในขณะที่คู่แข่งที่ใกล้ที่สุดอย่างเงินสกุลยูโรมีเพียงประมาณ 20% เท่านั้น ตามข้อมูลจาก IMF

แน่นอนว่าความตึงเครียดจากมาตรการเก็บภาษีนำเข้าของสหรัฐทำให้พันธมิตรทางการค้าหลายประเทศเริ่มตั้งข้อสงสัยและไม่สบายใจ จากการที่ทำเนียบขาวกำหนดภาษีนำเข้าแบบไม่แน่นอน และหันมาใช้นโยบายเศรษฐกิจแบบชาตินิยมมากขึ้น ทำให้เสถียรภาพในแบบที่ตลาดโลกต้องการ กำลังถูกท้าทาย ซึ่งนับตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา เงินดอลลาร์ฯ ได้อ่อนค่าลงประมาณ 10% เมื่อเทียบกับตะกร้าสกุลเงินหลัก

อย่างไรก็ตาม สาเหตุไม่ได้มาจากนโยบายของ Trump เพียงคนเดียว โดยย้อนกลับไปเมื่อปี 2022 ที่รัสเซียบุกยูเครน การคว่ำบาตรที่ตามมาคือเครื่องเตือนใจว่า เงินดอลลาร์ฯ สามารถกลายเป็น ‘อาวุธทางการเงิน’ ได้ ประเทศอย่างจีนและอินเดียจึงเริ่มตื่นตัว และกำลังหาทางลดความเสี่ยงที่จะถูกตัดออกจากระบบการเงินที่ใช้ดอลลาร์ฯ เป็นหลัก

Key Takeaway

สิ่งสำคัญคือการมองภาพรวม เพราะเงินดอลลาร์ฯ ยังคงเป็นศูนย์กลางของระบบการเงินโลก และตลาดการเงินของสหรัฐยังคงมี ‘ความลึก’ และ ‘สภาพคล่อง’ สูงกว่าประเทศอื่นๆ มาก อย่างไรก็ตาม ถ้าพอร์ตการลงทุนของคุณผูกติดกับเงินดอลลาร์ฯ มากเกินไป เช่น ลงทุนแค่หุ้นสหรัฐ คุณก็อาจเผชิญความเสี่ยงจากการกระจุกตัวมากเกินไป

ทางเลือกที่ดีกว่าคือ การกระจายการลงทุนในหลากหลายสินทรัพย์ กลุ่มธุรกิจ ภูมิภาค และสกุลเงิน ซึ่งเป็นวิธีที่เหมาะสมในการลดความเสี่ยง แต่ยังสามารถคว้าโอกาสที่เกิดขึ้นทั่วโลก (เช่น พอร์ต General Investing ของเรา 😎) ขณะที่ ทองคำก็ยังคงเป็นตัวเลือกที่โดดเด่น เพราะไม่ต้องพึ่งพารัฐบาลใด และเป็นเครื่องป้องกันความเสี่ยงที่ได้รับการพิสูจน์มาแล้วนับพันๆ ปี (คุณสามารถลงทุนใน ETF ทองคำง่ายๆ ผ่าน Flexible Portfolio ของเรา)

📰 ข่าวอื่นๆ ที่น่าสนใจ: จีนโตเกินคาดก่อนพายุภาษีนำเข้าจะพัดมา?

ใน Q1/2025 GDP ของจีนเติบโตที่ 5.4% YoY ซึ่งสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดไว้ แต่หลายฝ่ายไม่ได้คาดหวังว่าความแข็งแกร่งครั้งนี้จะคงอยู่นานนัก สาเหตุคือสหรัฐได้เริ่มเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนสูงสุดถึง 245% 

ก่อนที่มาตรการภาษีนำเข้าจะมีผลบังคับใช้ บรรดาโรงงานในจีนต่างเร่งผลิตและส่งออกสินค้าให้ทันก่อนที่ต้นทุนจะพุ่งสูงขึ้น ซึ่งมีส่วนช่วยให้ตัวเลขการเติบโตออกมาค่อนข้างดี ขณะที่ การบริโภคก็เป็นปัจจัยสนับสนุนเช่นกัน ด้วยแรงกระตุ้นจากมาตรการส่งเสริมการใช้จ่ายจากรัฐบาล ทำให้ผู้บริโภคชาวจีนใช้จ่ายในเดือน มี.ค. เพิ่มขึ้น 5.9% จากปีก่อนหน้า ซึ่งสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดไว้ที่ 4.2% อย่างมาก

เนื้อหาในส่วนนี้เขียนขึ้นร่วมกับ Finimize

📖 รอบรู้เรื่องลงทุน: ดอลลาร์ฯ ผู้ทรงอิทธิพล

บทบาทของเงินดอลลาร์ฯ ในฐานะสกุลเงินสำรองของโลก เริ่มต้นตั้งแต่ปี 1944 จากข้อตกลง Bretton Woods ซึ่งมี 44 ประเทศตกลงที่จะตรึงค่าเงินของตัวเองไว้กับดอลลาร์ฯ นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ดอลลาร์ฯ ก็สามารถรักษาสถานะนี้ไว้ได้ด้วยแรงขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจ และความเชื่อมั่นจากนานาชาติ ซึ่งการที่ดอลลาร์ฯ เป็นสกุลเงินสำรองของโลก สร้างความได้เปรียบมหาศาลให้กับสหรัฐ เช่น สามารถกู้ยืมเงินได้ในต้นทุนที่ต่ำกว่า ทำการค้าระหว่างประเทศโดยใช้สกุลเงินของตนเอง และใช้พลังทางการเงินเพื่อสร้างอิทธิพลบนเวทีโลกได้


แชร์บทความนี้

  • linkedin
  • facebook
  • twitter
  • email

อยากอ่านเพิ่ม?

เราหวังว่าคุณจะได้ประโยชน์ จากบทความของเรา

ร่วมเป็นส่วนหนึ่งกับผู้คนอีกหลายแสนคนที่ต้องการวางแผนการเงินและการลงทุนอย่างยั่งยืนด้วยการสมัครรับบทความและบทวิเคราะห์ของเราที่จะส่งตรงถึงอีเมลของคุณ