Weekly Buzz: Trump เลื่อนเส้นตายเก็บภาษีนำเข้า (อีกแล้ว!) ⏰

ก่อนหน้านี้ Trump ขีดเส้นตายวันที่ 9 ก.ค. ให้ประเทศต่างๆ ทำข้อตกลงการค้ากับสหรัฐ มิฉะนั้นจะต้องเจอภาษีนำเข้าตามที่เขาประกาศไว้ในวัน ‘Liberation Day’ ทำให้ตลาดตึงเครียดมาหลายสัปดาห์ แต่สุดท้าย เรากลับได้เห็นสิ่งที่เริ่มกลายเป็นเรื่องปกติ นั่นก็คือ การเลื่อนเส้นตายออกไปอีกครั้ง และเกิดความไม่แน่นอนระลอกใหม่
เกิดอะไรขึ้น?
ปัจจุบัน รัฐบาลสหรัฐเลื่อนการเก็บภาษีนำเข้าไปเป็นวันที่ 1 ส.ค. นี้ โดยจนถึงตอนนี้มีเพียง จีน อังกฤษ และเวียดนามเท่านั้นที่สามารถบรรลุข้อตกลงกับสหรัฐได้สำเร็จ ขณะที่ ประเทศอื่นๆ กำลังเร่งมืออย่างหนักในการเจรจา เช่น สหภาพยุโรปที่กำลังจัดทำข้อตกลงเบื้องต้น ส่วนอินเดียคาดว่าจะปิดดีลได้ในอีกไม่กี่วันข้างหน้า
นโยบายที่กลับไปกลับมาแบบนี้ อาจกลายเป็นมาตรฐานใหม่ในยุคนี้ แม้รัฐมนตรีคลังสหรัฐ Scott Bessent จะอ้างว่า ประเทศต่างๆ พยายาม ‘ถ่วงเวลา’ แต่เมื่อมีการเปลี่ยนกฎเกณฑ์อยู่ตลอด การบรรลุข้อตกลงการค้าก็ไม่ใช่เรื่องง่าย โดยปัจจุบัน ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐได้อ่อนค่าลง ท่ามกลางสิ่งที่สำนักข่าว Reuters เรียกว่า “ความปั่นป่วนจากนโยบายภาษีนำเข้าของ Trump” ซึ่งไม่บ่อยนักที่นักวิเคราะห์ตลาดจะใช้คำพูดที่ตรงไปตรงมาเช่นนี้
ผลกระทบจากความไม่แน่นอนยังลามเข้าสู่ภาคธุรกิจเช่นกัน เพราะเมื่อกฎการค้าเปลี่ยนแทบทุกสัปดาห์ บริษัทต่างๆ ก็ไม่สามารถวางแผน Supply Chain หรือกำหนดราคาสินค้าได้อย่างมั่นใจ โดยสำนักข่าว Barron’s สำรวจข้อมูลจาก Earnings Calls (อ่านเพิ่มเติมได้ใน Simply Finance) พบว่า มีการพูดถึง “ภาษีนำเข้า” เพิ่มขึ้นถึง 132% และคำว่า “ไม่แน่นอน” เพิ่มขึ้น 20% ภายใน 90 วันที่ผ่านมา

Key Takeaway
สิ่งที่นักลงทุนควรทำไม่ใช่การหลีกเลี่ยงความผันผวน แต่ควรเตรียมพอร์ตไว้พร้อมรับมือ เมื่อย้อนกลับไปในสมัยแรกของ Trump นโยบายภาษีนำเข้าก็เคยสร้างแรงสั่นสะเทือนต่อตลาดมาแล้ว แต่สุดท้ายดัชนี S&P 500 ก็ยังสามารถสร้างผลตอบแทนที่แข็งแกร่งในช่วงเวลาดังกล่าวได้ เพราะแม้ตลาดจะไม่ชอบความไม่แน่นอน แต่เมื่อฝุ่นเริ่มจางลง ตลาดก็สามารถปรับตัวได้อย่างน่าทึ่งเสมอ
(หากคุณกำลังมองหาพอร์ตที่มีการกระจายการลงทุนที่ดีทั่วโลก และถูกออกแบบมาเพื่อรับมือกับความไม่แน่นอน พอร์ต General Investing ของเรา อาจเป็นตัวเลือกที่เหมาะสม 😎)

📰 ข่าวอื่นๆ ที่น่าสนใจ: ตัวเลขจ้างงานสหรัฐดีกว่าคาด แต่รายละเอียดมีมากกว่านั้น
เศรษฐกิจสหรัฐยังเดินหน้าต่อไปได้ในเดือน มิ.ย. โดยสามารถสร้างตำแหน่งงานเพิ่มขึ้นถึง 147,000 ตำแหน่ง สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดไว้ และช่วยให้อัตราการว่างงานลดลงเหลือ 4.1% แต่เช่นเดียวกับข้อมูลเศรษฐกิจส่วนใหญ่ รายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ มักซ่อนสัญญาณสำคัญเอาไว้
แม้ยอดรวมจะดูแข็งแกร่ง แต่ภาคเอกชนจ้างงานเพิ่มขึ้นเพียง 74,000 ตำแหน่ง ซึ่งถือว่าต่ำที่สุด ตั้งแต่เดือน ต.ค. 2024 ขณะที่ ภาครัฐมีการจ้างงานเพิ่มขึ้น 80,000 ตำแหน่ง หรือมากกว่า 50% ของการจ้างงานทั้งหมด สะท้อนว่าภาคเอกชนเริ่มชะลอการจ้างงาน

AI อาจเป็นหนึ่งในปัจจัยเบื้องหลัง โดยผู้บริหารระดับสูงของหลายบริษัทเริ่มออกมาพูดเกี่ยวกับการลดจำนวนพนักงานในระยะข้างหน้าเนื่องจาก AI เช่น CEO ของ Ford ที่เชื่อว่าครึ่งหนึ่งของตำแหน่งงานในออฟฟิศอาจหายไป ส่วน JPMorgan เตรียมลดจำนวนพนักงานลง 10% นอกจากนี้ ยังมีรายงานว่า Shopify ถึงขั้นให้ผู้จัดการพิสูจน์ว่า AI ทำงานนั้นๆ ไม่ได้ ก่อนจะอนุมัติการจ้างงานใหม่
สำหรับตอนนี้ ตลาดแรงงานสหรัฐยังคงแข็งแกร่งกว่าที่คาด โดยเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งของสหรัฐมักช่วยสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจโลก แต่นี่ก็เป็นอีกเหตุผลที่ทำให้ Fed ยังคงระมัดระวังในการปรับลดดอกเบี้ย ขณะที่ บรรดา Trader ในตลาดตราสารหนี้ ต่างลดความคาดหวังต่อการลดดอกเบี้ยในเดือน ก.ค. ทันที จนทำให้ Yield ตราสารหนี้ต่างๆ พุ่งขึ้น หลังมีรายงานการจ้างงานล่าสุดออกมา
เนื้อหาในส่วนนี้เขียนขึ้นร่วมกับ Finimize
🎓 Simply Finance: Earnings Calls

ทุกๆ ไตรมาส บริษัทจดทะเบียนจะจัด Earnings Calls หรือการประชุมเพื่อชี้แจงผลประกอบการ โดยผู้บริหารจะนำเสนอผลการดำเนินงานของบริษัท และเปิดโอกาสให้นักวิเคราะห์ได้ถามคำถามต่างๆ ซึ่งบรรดานักวิเคราะห์จะไม่ได้ฟังแค่การรายงานตัวเลขต่างๆ เพียงอย่างเดียว แต่พวกเขายังโฟกัสไปที่ ‘คำพูดระหว่างบรรทัด’ ด้วย โดยงานวิจัยทางภาษา พบว่า สิ่งที่ผู้บริหารพูดสามารถเป็นสัญญาณบอกเหตุได้อย่างแม่นยำ เช่น ในช่วงวิกฤติการเงินโลกปี 2008 คำว่า “เครดิต” และ “สภาพคล่อง” ถูกพูดถึงใน Earnings Calls เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ก่อนที่ธนาคารจะออกมายอมรับปัญหาอย่างเป็นทางการเสียอีก