‘ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่า’ รอบนี้ ส่งผลต่อการลงทุนของคุณอย่างไร?

24 August 2022
Freddy Lim and Stephanie Leung
CIO Office

แล้วกลยุทธ์การลงทุน ERAA™ ของเรา จะช่วยบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนในพอร์ตคุณได้อย่างไร

นับจากต้นปี 2022 ที่ผ่านมาดอลลาร์สหรัฐ (USD) ปรับตัวแข็งค่าขึ้นอย่างมาก โดยแข็งค่ามากกว่า 10% (YTD) และถือว่าเป็นการแข็งค่าสูงสุดในรอบ 2 ทศวรรษเมื่อเทียบกับหลายสกุลเงินหลักของโลก นอกจากนี้เมื่อเดือนกรกฎาคมยังเกิดปรากฏการณ์มูลค่าเงิน ‘1 ดอลลาร์สหรัฐ = 1 ยูโร’ เป็นครั้งแรกในรอบ 20 ปี และเมื่อเทียบกับค่าเงินบาท (THB) พบว่า ดอลลาร์สหรัฐปรับตัวแข็งค่าขึ้นประมาณ 5% เมื่อกลางสิงหาคมที่ผ่านมา (YTD)

CIO Insights Aug22 image 1

อ้างอิง: StashAway, Bloomberg, August 2022

เศรษฐกิจโลกในปัจจุบันหมุนเวียนด้วยค่าเงินดอลลาร์สหรัฐเป็นหลัก โดยเกือบ 90% ของธุรกรรมที่ต้องแลกเปลี่ยนเงินตราในโลกใช้สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ ดังนั้น การปรับตัวแข็งค่าของดอลลาร์สหรัฐจึงไม่เพียงส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจสหรัฐ แต่ส่งผลไปทั่วโลก

อะไรอยู่เบื้องหลังการแข็งค่าของดอลลาร์สหรัฐในครั้งนี้? แล้วจะส่งผลต่อการลงทุนของคุณอย่างไรบ้าง หาคำตอบได้ที่นี่


Key takeaways:

  • สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นในปีนี้ ปัจจัยหลักมาจากการเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ ธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) ที่ขึ้นเร็วและแรงกว่าธนาคารกลางหลักอื่นๆ ของโลก และคนส่วนใหญ่มองว่าดอลลาร์สหรัฐเป็นสกุลเงินปลอดภัย (Safe-haven)
  • แม้ดอลลาร์สหรัฐที่แข็งค่าขึ้นจะช่วยชะลอเงินเฟ้อในสหรัฐลง​ แต่กลับส่งผลกระทบต่อบริษัทในสหรัฐที่มีรายได้หลักจากธุรกิจในต่างประเทศ รวมถึงกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ (Emerging Markets) จะมีความสามารถในการชำระหนี้ในสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐลดลง
  • การลงทุนในพอร์ตที่มีหุ้นและตราสารหนี้ทั่วโลก ย่อมเจอความผันผวนด้านอัตราแลกเปลี่ยนทั้งจากสกุลเงินที่ซื้อขาย ETF และสกุลเงินของประเทศที่ ETF นั้นเข้าไปลงทุน
  • การบริหารพอร์ตด้วยกลยุทธ์การลงทุน ERAA™ จะพิจารณาครอบคลุมถึงปัจจัยด้านค่าเงินของ ETF แต่ละตัวที่เข้าไปลงทุน และจะปรับพอร์ตลงทุนให้เหมาะสมตามการเปลี่ยนแปลงของภาวะเศรษฐกิจและอัตราแลกเปลี่ยนอยู่เสมอ

ทำไมดอลลาร์สหรัฐถึงแข็งค่าขึ้นรุนแรง?

เมื่อธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายทั้งเร็วและแรง จึงส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้น

Fed ได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระดับที่เร็วและแรงกว่าหลายธนาคารกลางหลักทั่วโลก เพื่อชะลอความร้อนแรงของเงินเฟ้อในสหรัฐซึ่งอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่สูงกว่าทำให้ดอลลาร์สหรัฐได้รับความสนใจจากนักลงทุนทั่วโลกมากขึ้น เพราะอาจจะได้รับผลตอบแทนสูงขึ้นจากการถือครองสินทรัพย์ในสกุลเงินนี้ และความต้องการ (Demand) ที่สูงขึ้นนี้ยิ่งทำให้ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินอื่นๆ

ภายใต้สถานการณ์โลกที่ไม่แน่นอน สกุลเงิน Safe-haven อย่างดอลลาร์สหรัฐยิ่งน่าสนใจ

แล้วสกุลเงิน Safe-haven คืออะไร? หมายถึง สกุลเงินที่คาดว่าจะรักษามูลค่าเงินไว้ได้หรือมั่นคงกว่า ในช่วงที่เกิดความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ หรือความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitical) โดยดอลลาร์สหรัฐมีสถานะเป็น Safe-haven เพราะ

นอกจากนี้เมื่อตลาดเกิดความผันผวนอย่างที่เราเห็นในปีนี้ นักลงทุนยิ่งต้องการลงทุนในสินทรัพย์ที่เป็น Safe-haven (เช่น ดอลลาร์สหรัฐ หรือทองคำ) มากกว่าสินทรัพย์เสี่ยง (เช่น หุ้นในกลุ่มตลาดเกิดใหม่ หรือ High-yield Bond)

ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่า ส่งผลต่อเศรษฐกิจและตลาดอย่างไร?

การแข็งค่าขึ้นช่วยลดแรงกดดันจากสถานการณ์เงินเฟ้อในสหรัฐ

ปัจจุบันสหรัฐมีการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศเพื่อบริโภคในสัดส่วนมากกว่าครึ่ง โดยดอลลาร์สหรัฐที่แข็งค่าขึ้นช่วยให้การนำเข้าสินค้าถูกลง ซึ่งจะช่วยชะลอเงินเฟ้อได้ ขณะที่นักวิเคราะห์บางกลุ่มกล่าวว่า ต้นทุนการนำเข้าที่ถูกลงจะช่วยลดแรงกดดันที่ Fed ต้องเร่งขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างรวดเร็วและรุนแรงได้

ในทางกลับกัน ประเทศอื่นๆ นอกสหรัฐจะได้รับผลกระทบจากการแข็งค่านี้ เพราะการนำเข้าสินค้าในสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐจะแพงขึ้นและยิ่งดันให้เงินเฟ้อนอกประเทศสหรัฐปรับตัวสูงขึ้นด้วย

ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าส่งผลให้รายได้ของบริษัทในสหรัฐลดลง

ดอลลาร์สหรัฐที่แข็งค่าขึ้นย่อมทำให้สกุลเงินอื่นๆ อ่อนค่าลง ดังนั้น บริษัทในสหรัฐที่มีสัดส่วนรายได้หลักมาจากธุรกิจในประเทศอื่นๆ จะมีรายได้ลดลง เพราะต้องแปลงรายได้จากสกุลเงินท้องถิ่นกลับมาเป็นดอลลาร์สหรัฐ เห็นได้จากหลายบริษัทยักษ์ใหญ่ เช่น Microsoft, IBM และ Netflix ที่ต่างปรับลดการคาดการณ์รายได้ในปี 2022 ลงจากผลกระทบด้านอัตราแลกเปลี่ยน

Aug22 CIO Insights image 2

อ้างอิง: Goldman Sachs, Financial Times

ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่า กลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ยิ่งต้องรับศึกหนัก 

หลายประเทศใน Emerging Markets มีหนี้สาธารณะอยู่ในสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ ดังนั้น การแข็งค่าขึ้นนี้ทำให้ประเทศที่ต้องชำระหนี้มีภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันยังเป็นการลดอำนาจในการซื้อ (Purchasing Power) ของกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาลงอีกด้วย บางประเทศอย่าง ศรีลังกา จำเป็นต้องหยุดการชำระหนี้กับผู้ถือตราสารหนี้ต่างชาติ และคาดการณ์ว่า จะมีประเทศเกิดใหม่อื่นๆ ที่มีความเสี่ยงด้านการผิดนัดชำระหนี้เพิ่มสูงขึ้นตามมา

เรื่องนี้ส่งผลต่อพอร์ตการลงทุนของคุณอย่างไร?

หลังจากเราทำความเข้าใจผลกระทบจากการแข็งค่าของดอลลาร์สหรัฐต่อเศรษฐกิจโลก แล้วเรื่องนี้จะส่งผลกับคุณอย่างไรบ้าง? ไม่ใช่แค่ค่าใช้จ่ายเมื่อเดินทางไปสหรัฐจะสูงขึ้น แต่ที่สำคัญ ผลตอบแทนการลงทุนของคุณอาจได้รับผลกระทบเช่นกัน

โดยปกติ พอร์ตที่ลงทุนในหุ้นและตราสารหนี้ทั่วโลกจะต้องเจอกับความผันผวนด้านอัตราแลกเปลี่ยนจาก:

  • สกุลเงินที่ใช้ซื้อขายสินทรัพย์นั้นๆ เช่น ถ้าคุณอาศัยอยู่ในไทย เงินบาทที่คุณลงทุนจะต้องแปลงสกุลเงิน เพื่อเข้าไปลงทุน ETF ที่ซื้อขายในสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ
  • สินทรัพย์นั้นลงทุนในประเทศใด เช่น คุณลงทุนในหุ้นออสเตรเลียผ่าน ETF ที่ซื้อขายในสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ พอร์ตของคุณอาจเปลี่ยนแปลงตามดอลลาร์ออสเตรเลีย (AUD) ด้วยเช่นกัน

ดังนั้น เมื่อคุณลงทุนด้วยเงินบาทใน ETF ที่ซื้อขายในสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ พอร์ตของคุณจะมีมูลค่ามากขึ้นเมื่อเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับค่าเงินบาท (ภายใต้ปัจจัยอื่นๆ ที่คงที่) ซึ่งการเปลี่ยนแปลงมูลค่าเงินระหว่างสหรัฐ​เทียบกับเงินบาทนี้ เรียกว่า ผลกระทบด้านอัตราแลกเปลี่ยน

อย่างไรก็ตาม ผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยนไม่สามารถดูได้จากสกุลเงินที่ใช้ซื้อ-ขาย ETF เท่านั้น เพราะพอร์ตของเราลงทุนในสินทรัพย์ในหลากหลายประเทศ ดังนั้นอาจเปลี่ยนแปลงตามอัตราแลกเปลี่ยนของประเทศนั้นๆ ด้วย และจากตัวอย่างข้างต้น หากคุณลงทุนในบริษัทออสเตรเลีย ผ่าน ETF ที่ซื้อขายในสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ แต่บริษัทเหล่านั้นมีรายได้ในสกุลเงินท้องถิ่นอย่างดอลลาร์ออสเตรเลีย พอร์ตการลงทุนของคุณจะเปลี่ยนแปลงตามค่าเงินดอลลาร์ออสเตรเลียด้วยเช่นกัน

ERAA™ บริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนอย่างไร?

กลยุทธ์การลงทุน ERAA™ ของเรา จะวิเคราะห์ ติดตาม และบริหารความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนของแต่ละสกุลเงินที่เกี่ยวข้องใน ETF แต่ละตัว และถือเป็นหนึ่งในปัจจัยหลักที่เราใช้พิจารณาในการปรับพอร์ตเสมอ

ในช่วงที่ตลาดมีความไม่แน่นอน ความต้องการของสกุลเงิน Safe-haven เช่น ดอลลาร์สหรัฐจะเพิ่มสูงขึ้น และส่งผลดีกับผลตอบแทนของคุณ ดังนั้น อัลกอริทึมของ ERAA™ จะปรับเพิ่ม Exposure ในสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐให้กับพอร์ตของคุณ

แต่ในช่วงภาวะเศรษฐกิจดี เมื่อสินทรัพย์เสี่ยงอย่างหุ้นมีแนวโน้มปรับตัวได้ดี ERAA™ จะทำการปรับลด Exposure ในดอลลาร์สหรัฐลง โดยในสถานการณ์ปกติสัดส่วนดอลลาร์สหรัฐที่เหมาะสมจะมีน้ำหนักราว 30-40% ของสินทรัพย์ในพอร์ต

สิ่งที่ทีมงานด้านการลงทุนของเราจะติดตามต่อไป

การแข็งค่าขึ้นอย่างมีนัยสำคัญของดอลลาร์สหรัฐในปีนี้ จะเป็นอย่างไรได้บ้าง

  • เศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว และความกังวลว่าจะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย อาจส่งผลดีต่อสกุลเงินที่เป็น Safe-haven เช่น ดอลลาร์สหรัฐ​ และ เงินเยน (JPY)
  • อย่างไรก็ตาม หากสหรัฐเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย Fed อาจหันมาชะลอการเร่งขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งจะช่วยลดการแข็งค่าของดอลลาร์สหรัฐเมื่อเทียบกับสกุลอื่นๆ ได้
  • แต่ปัจจุบันเศรษฐกิจสหรัฐยังคงแข็งแกร่งที่สุดในโลก ทำให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐยังคงน่าสนใจมากกว่าสกุลเงินในประเทศอื่นๆ เช่น ในกลุ่มยุโรป

ทั้งนี้ ในระยะสั้น เรายังไม่เห็นแนวโน้มที่ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐจะปรับตัวอ่อนค่าลง แต่หาก Fed ชะลอการเร่งขึ้นอัตราดอกเบี้ยในช่วงสิ้นปีนี้ เราอาจได้เห็นดอลลาร์สหรัฐชะลอการแข็งค่าหรือทรงตัวเมื่อเทียบกับสกุลเงินอื่นๆ อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาสกุลเงินทั่วโลกต่างอ่อนค่าลงเพราะการแข็งค่าขึ้นอย่างมากของดอลลาร์สหรัฐ แต่ในระยะต่อไปสกุลเงินต่างๆ อาจเคลื่อนไหวแตกต่างกันไปตามนโยบายของธนาคารกลาง และการเติบโตของเศรษฐกิจในแต่ละประเทศ

การกระจายลงทุนในหลากสินทรัพย์และหลายประเทศทั่วโลก จะช่วยให้คุณสามารถลดผลกระทบจากสถานการณ์เฉพาะในประเทศใดประเทศหนึ่งได้ ซึ่งถ้าหากคุณไม่ต้องการเสียเวลาบริหารพอร์ตเอง พอร์ต General Investing ของเราอาจเป็นตัวเลือกที่เหมาะสมที่สุด โดย ERAA™ จะช่วยบริหารพอร์ตของคุณเพื่อเพิ่มโอกาสสร้างผลตอบแทนในระยะยาว พร้อมบริหารความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนในแต่ละภาวะเศรษฐกิจ

นอกจากนี้ หากคุณต้องการหาที่พักเงินสดในสกุล Safe-haven อย่าง USD และยังได้ Yield ที่น่าสนใจ พอร์ต USD Cash Plus ที่ลงทุนใน ‘พันธบัตรสหรัฐระยะสั้น’ ซึ่งเป็น 1 ในสินทรัพย์ที่ปลอดภัยที่สุดในโลก จะช่วยให้คุณสามารถกระจายความเสี่ยงจากเงินบาทไปยังสกุลเงิน ที่นักลงทุนทั่วโลกเชื่อมั่นว่าปลอดภัย โดยเฉพาะในช่วงที่เศรษฐกิจผันผวน


แชร์บทความนี้

  • linkedin
  • facebook
  • twitter
  • email

อยากอ่านเพิ่ม?

เราหวังว่าคุณจะได้ประโยชน์ จากบทความของเรา

ร่วมเป็นส่วนหนึ่งกับผู้คนอีกหลายแสนคนที่ต้องการวางแผนการเงินและการลงทุนอย่างยั่งยืนด้วยการสมัครรับบทความและบทวิเคราะห์ของเราที่จะส่งตรงถึงอีเมลของคุณ