2024 H1 Macro Outlook - Part 2

25 January 2024
Stephanie Leung
Group CIO

ใน 2024 H1 Macro Outlook Part 1 เราได้เจาะลึกโอกาสของเศรษฐกิจและตลาดสหรัฐในปี 2024 ปีที่ Fed กำลังพยายามพาเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่สุดของโลกลงจอดแบบ ‘Soft Landing’ ให้ได้

สำหรับ Part 2 เราจะสำรวจความเสี่ยงและโอกาสในภูมิภาคต่างๆ รวมถึงธีมการลงทุนในประเทศเศรษฐกิจหลักอื่นๆ ของโลก 

4 Key takeaways:

  • สำหรับทวีปยุโรป มีความคล้ายคลึงกับสหรัฐที่เงินเฟ้อกำลังลดความร้อนแรงและการเติบโตทางเศรษฐกิจที่กำลังชะลอตัว แต่เศรษฐกิจยุโรปมีความเสี่ยงที่จะเข้าสู่ภาวะ Recession มากกว่าสหรัฐ เราจึงมองว่าตลาดหุ้นยุโรปอาจทำผลตอบแทนได้น้อยกว่า และเงินยูโรอาจอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐ เพราะธนาคารกลางยุโรป (ECB) อาจเริ่มลดอัตราดอกเบี้ยลงก่อน Fed
  • ขณะที่ญี่ปุ่น การเติบโตของเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ ประกอบกับการปฏิรูปในภาคเอกชน ช่วยกระตุ้นให้นักลงทุนต่างประเทศกลับมาสนใจตลาดหุ้นญี่ปุ่นอีกครั้ง ส่วนเงินเยนซึ่งอ่อนค่าลงและช่วยให้ตลาดหุ้นญี่ปุ่นปรับตัวขึ้นในปี 2023 อาจไม่ใช่แรงขับเคลื่อนหลักในปีนี้
  • เศรษฐกิจจีนยังคงเผชิญแรงกดดันจากความวุ่นวายในกลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก โดยท่าทีล่าสุดของรัฐบาลยังส่งสัญญาณว่าจะคงการใช้นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจแบบค่อยเป็นค่อยไป และแม้ว่ารัฐบาลมีแนวโน้มที่จะใช้นโยบายที่ผ่อนคลายมากขึ้น แต่ข้อมูลยังไม่ได้บ่งบอกว่าเศรษฐกิจจีนจะฟื้นตัวในเร็วๆ นี้
  • ด้วยปัจจัยทั้งหมดนี้ เราเชื่อว่านักลงทุนสามารถโฟกัสไปที่ 3 ธีมหลักในปี 2024 นี้ คือ 1) พิจารณาการลงทุนในตราสารหนี้ เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยในประเทศเศรษฐกิจหลักของโลกได้ถึงจุดสูงสุดแล้ว 2) Stay Invested ในหุ้นสหรัฐ เพราะมีแนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งกว่าประเทศอื่น และ 3) ลงทุนในตลาดที่มีปัจจัยภายในสนับสนุนอย่างแข็งแกร่ง โดยเฉพาะประเทศที่อยู่ระหว่างการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้าง เช่น ญี่ปุ่นและอินเดีย

ตลาดหุ้นยุโรป: ยังเผชิญความท้าทายจากเศรษฐกิจที่อ่อนแอ

เมื่อปีที่แล้ว เศรษฐกิจยุโรปต้องเผชิญอุปสรรคสำคัญคล้ายคลึงกับสหรัฐ โดยเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้นจากราคาพลังงาน ทำให้ ECB ต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยหลายครั้ง และตลาดแรงงานที่แข็งแกร่งส่งผลให้ค่าจ้างแรงงานปรับตัวสูงขึ้น รวมถึงวิกฤติในภาคธนาคารจากการล้มละลายของ Credit Suisse

ในปี 2024 ยุโรปยังคงอยู่ในสถานการณ์ที่คล้ายกับสหรัฐ โดยเงินเฟ้อที่ลดความร้อนแรงลงมาใกล้ระดับเป้าหมายของ ECB มากขึ้น (CPI อยู่ที่ 2.9% ณ เดือน ธ.ค. ขณะที่ Core CPI อยู่ที่ 3.4%) ทำให้ ECB อาจเริ่มลดอัตราดอกเบี้ยลงในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า

อย่างไรก็ตาม ทั้ง 2 ภูมิภาคยังมีข้อแตกต่างที่สำคัญ โดยเฉพาะผลกระทบจากเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ย รวมถึงการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกที่ส่งผลต่อยุโรปมากกว่า โดยในช่วงครึ่งหลังปี 2023 เศรษฐกิจยุโรปซบเซาเนื่องจากยุโรปพึ่งพาภาคอุตสาหกรรมมากกว่า และได้รับผลกระทบจากราคาพลังงานมากกว่าสหรัฐ

ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ของประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่สุดของยุโรป แสดงให้เห็นว่าการที่เศรษฐกิจยุโรปพึ่งพาภาคการผลิตมากกว่าสหรัฐ ส่งผลให้การเติบโตชะลอตัว (โซนสีแดงในตารางด้านล่าง) ขณะที่ ภาคบริการที่แข็งแกร่งกว่าของสหรัฐ ทำให้เศรษฐกิจขนาดใหญ่อันดับ 1 ของโลกยังอยู่ในโซนสีเขียวได้

ปัจจุบัน นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าโอกาสที่เศรษฐกิจยุโรปจะเข้าสู่ Recession ในช่วง 12 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ 65% ซึ่งสูงกว่าเมื่อเทียบกับสหรัฐที่ 50% แต่ผู้เชี่ยวชาญบางรายก็มองว่าเศรษฐกิจยุโรปได้เข้าสู่ Recession ไปเรียบร้อยแล้ว

ในท้ายที่สุด แรงกดดันจากเงินเฟ้อที่ลดลง และเศรษฐกิจยุโรปที่อ่อนแอกว่าสหรัฐ อาจหมายความว่า ECB น่าจะเริ่มลดอัตราดอกเบี้ยลงก่อน Fed

ส่งผลอย่างไรต่อนักลงทุน? สถานการณ์ทั้งหมดนี้บ่งชี้ว่าตลาดหุ้นยุโรปอาจเผชิญอุปสรรคมากกว่าตลาดหุ้นสหรัฐ เพราะบริษัทในดัชนี MSCI EMU Index กว่าครึ่งหนึ่งอยู่ในกลุ่มธุรกิจการเงิน อุตสาหกรรมและสินค้าฟุ่มเฟือย ซึ่งเป็นหุ้นวัฏจักรที่มักเคลื่อนไหวตามสภาวะเศรษฐกิจอย่างมาก และมีแนวโน้มทำผลตอบแทนได้ไม่ค่อยดีในช่วงเศรษฐกิจขาลง โดยปัจจัยเหล่านี้อาจส่งผลให้ค่าเงินยูโรอยู่ในระดับคงที่หรืออ่อนค่าลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐ

ตลาดหุ้นญี่ปุ่น: การปฏิรูปโครงสร้างอาจเป็นจุดเริ่มต้นครั้งใหม่

สำหรับญี่ปุ่น เรามองเห็นแนวโน้มที่แตกต่างออกไป โดยเศรษฐกิจญี่ปุ่นยังเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง เนื่องจากธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ยังดำเนินนโยบายการเงินแตกต่างจากทั่วโลก คือ การใช้นโยบายทางการเงินแบบผ่อนคลายต่อไป เพื่อกระตุ้นให้ตัวเลขเงินเฟ้อสูงขึ้น

โดยความแตกต่างอย่างมากระหว่างอัตราดอกเบี้ยของญี่ปุ่นกับสหรัฐ ทำให้เงินเยนอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี 2023 ซึ่งเป็นผลดีต่อตลาดหุ้นญี่ปุ่นและการทำกำไรของภาคเอกชน โดยดัชนี MSCI Japan Index ปรับตัวขึ้นถึง 20% ในสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ (เราเจาะลึกเรื่องค่าเงินไว้ใน CIO Insights: ทิศทางของค่าเงินจะเป็นอย่างไรต่อไป)

ในระยะข้างหน้า เรามองว่าความก้าวหน้าของการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจและภาคเอกชนจะเป็นอีกปัจจัยที่สนับสนุนตลาดหุ้นญี่ปุ่น โดยการปฏิรูปบรรษัทภิบาล แม้จะไม่ได้รับความสนใจมากนัก แต่เป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญที่ทำให้นักลงทุนกลับมาสนใจตลาดญี่ปุ่นอีกครั้ง เพราะนับตั้งแต่เศรษฐกิจญี่ปุ่นชะลอตัวลงอย่างรุนแรงในทศวรรษ 1990 ซึ่งตามมาด้วยภาวะเงินฝืดตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา ทำให้บริษัทญี่ปุ่นมักจะเก็บสะสมเงินสดไว้มากเกินไป ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อผู้ถือหุ้น

แม้บริษัทญี่ปุ่นจะค่อยๆ เพิ่มการซื้อหุ้นคืน (Stock Buybacks) และเพิ่มการจ่ายเงินปันผลตลอดทศวรรษที่ผ่านมา แต่เป็นเพราะการออกมาตรการของตลาดหุ้นโตเกียว (TSE) เมื่อเร็วๆ นี้ เพื่อกระตุ้นให้ภาคเอกชนเพิ่ม P/B ratio (อัตราส่วนราคาหุ้นต่อมูลค่าตามบัญชี) ที่สร้างความตื่นเต้นให้นักลงทุน ซึ่งในระยะสั้น อาจช่วยกระตุ้นการซื้อหุ้นคืนและเพิ่มการจ่ายเงินปันผล และในระยะยาว จะช่วยเพิ่มความสามารถในการทำกำไรของภาคเอกชน

โดยตารางด้านล่างแสดงให้เห็นว่าผลตอบแทนของตลาดหุ้นญี่ปุ่นยังมีโอกาสเติบโตอีกมาก เพราะดัชนี MSCI Japan มี P/B ratio แค่ 1.4 เท่า และ ROE (อัตราผลตอบแทนจากส่วนของผู้ถือหุ้น) ที่ 8.6% ซึ่งต่ำกว่าเมื่อเทียบกับดัชนี MSCI All Country World Index ซึ่งอยู่ที่ 2.8 เท่าและ 13.6% ตามลำดับ

นอกจากนี้ รัฐบาลญี่ปุ่นยังมีความพยายามที่จะปรับกฎเกณฑ์และลดข้อจำกัดของบัญชีเงินฝาก NISA ที่ให้ประชาชนลงทุนแบบได้รับการยกเว้นภาษี ซึ่งอาจเป็นอีกแรงขับเคลื่อนให้กับตลาดหุ้นญี่ปุ่น โดยในปัจจุบัน ทรัพย์สินของประชาชนญี่ปุ่นราว 54% จากทั้งหมด 14 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ถูกเก็บไว้ในรูปแบบเงินสด มีเพียง 17% เท่านั้นที่นำไปลงทุนในหุ้น ตราสารหนี้และกองทุนต่างๆ 

เงินเฟ้อที่ปรับตัวสูงขึ้นทำให้เงินออมของประชาชนมีมูลค่าลดลง ดังนั้น มาตรการจูงใจจากรัฐบาลที่กล่าวไว้ข้างต้น จึงอาจทำให้คนญี่ปุ่นหันมาลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงมากขึ้น ซึ่งงานวิจัยจาก SMBC Nikko ประเมินว่าโครงการ NISA อาจช่วยให้เงินไหลเข้าตลาดหุ้นญี่ปุ่นมากถึง 14,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี ซึ่งถือว่ามากเมื่อเทียบกับเงินทุนจากต่างประเทศที่ไหลเข้าตลาดหุ้นญี่ปุ่นทั้งหมดจำนวน 30,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐเมื่อปี 2023 ที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม ญี่ปุ่นยังต้องเผชิญแรงกดดันจากความเป็นไปได้ที่ Fed อาจเริ่มลดอัตราดอกเบี้ย รวมถึง BOJ ที่อาจยกเลิกมาตรการ Yield Curve Control (YCC) และอาจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยออกจากแดนลบในปีนี้ (-0.1% มาตั้งแต่เดือน ม.ค. 2016) 

ตารางด้านล่างแสดงให้เห็นคาดการณ์ของตลาดที่มองว่า ภายในสิ้นปีนี้ ปัจจัยดังกล่าวจะทำให้เงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ระหว่าง 135-140 เยน ต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ เมื่อเทียบกับ 145 เยน ต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ ณ ปัจจุบัน (กลางเดือน ม.ค. 2024) ซึ่งเงินเยนที่แข็งค่าขึ้นจะทำให้แรงสนับสนุนที่มีต่อตลาดหุ้นญี่ปุ่นน้อยลง

ส่งผลอย่างไรต่อนักลงทุน? เมื่อพิจารณาปัจจัยทั้งหมด เราเชื่อว่าหุ้นญี่ปุ่นยังคงน่าสนใจ เพราะแรงสนับสนุนจากการเติบโตทางเศรษฐกิจและการปฏิรูปภาคเอกชน แต่เงินเยนที่แข็งค่าขึ้นอาจหมายความว่าผลตอบแทนของตลาดหุ้นญี่ปุ่นในปีนี้อาจไม่สูงเท่าปี 2023 ที่ปรับตัวขึ้นอย่างร้อนแรง

ตลาดหุ้นจีน: ข้อมูลเศรษฐกิจที่อ่อนแอทำให้มี Upside ระยะสั้นที่จำกัด

สำหรับจีน เราได้เจาะลึกเศรษฐกิจขนาดใหญ่สุดในทวีปเอเชียไว้เมื่อปีที่แล้ว (อ่านเพิ่มเติมได้ใน CIO Insights: เศรษฐกิจจีนกำลังเผชิญ ‘วิกฤติ’ จริงหรือ?)

ในปัจจุบัน ดูเหมือนว่าเศรษฐกิจจีนยังฟื้นตัวได้ไม่ดีนัก เพราะปัญหาในกลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ยังคงฉุดรั้ง Demand ภายในประเทศ และการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกยังคงกดดันกลุ่มธุรกิจส่งออกอย่างต่อเนื่อง 

ตารางด้านล่างแสดงให้เห็น Demand ของจีนที่อ่อนแอ โดยตัวเลข CPI (ดัชนีราคาผู้บริโภค) และ PPI (ดัชนีราคาผู้ผลิต) ยังอยู่ในแดนลบ ขณะที่ PMI ของภาครัฐและเอกชน ยังอยู่ใกล้หรือต่ำกว่า 50 ซึ่งเป็นเส้นแบ่งระหว่างการขยายตัวกับหดตัว

ปัจจัยที่อาจเป็นแรงสนับสนุนให้เศรษฐกิจจีนฟื้นตัว คือ การที่รัฐบาลจะออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่สร้างแรงกระเพื่อมได้มากกว่านี้ แต่แผนการที่ออกมาระหว่างการประชุมแผนเศรษฐกิจประจำปีเมื่อเดือน ธ.ค. บ่งชี้ว่ารัฐบาลอาจเลือกดำเนินนโยบายแบบค่อยเป็นค่อยไปมากกว่า

ทั้งนี้ เรายังคงมองว่ารัฐบาลจีนจะพยายามจัดการกับความเสี่ยงในระบบการเงินต่อไป โดยนอกจากปัญหาในกลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ยังมีความกังวลเรื่องหนี้ของรัฐบาลท้องถิ่น (LGFV) ที่จะถึงกำหนดชำระในปีนี้ 651,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งมากที่สุดในประวัติศาสตร์ อย่างไรก็ตาม จากการที่ Credit Spread (ส่วนต่างอัตราผลตอบแทนของตราสารหนี้) ของ LGFV ที่อยู่ในระดับค่อนข้างต่ำ แสดงให้เห็นถึงความสามารถของรัฐบาลในการป้องกันการผิดนัดชำระหนี้เพื่อรักษาเสถียรภาพในระบบการเงิน

ส่งผลอย่างไรต่อนักลงทุน? แม้ข้อมูลเศรษฐกิจบ่งชี้ว่าผลตอบแทนของหุ้นจีนยังไม่น่าสนใจนักในระยะสั้น แต่ราคาหุ้นที่อยู่ในระดับต่ำนี้ อาจช่วยลดความเสี่ยงของการลงทุนในสินทรัพย์ประเภทนี้ โดยการวิเคราะห์ของเราพบว่าความเสี่ยงที่ระบบการเงินจีนจะล่มสลายนั้นมีค่อนข้างน้อย และแม้หนทางที่เศรษฐกิจจีนจะฟื้นตัวอาจยังอยู่อีกไกล แต่นักลงทุนที่มีความอดทนอาจมีโอกาสได้รับผลตอบแทนที่ดีในระยะยาว

สรุป 3 ธีมลงทุนทั่วโลกสำหรับปี 2024

จากที่เราได้สำรวจความเสี่ยงและโอกาสลงทุนทั่วโลก นี่คือ 3 ธีมลงทุนหลักที่น่าสนใจสำหรับนักลงทุนในปีนี้

  1. พิจารณาลงทุนในตราสารหนี้ เพราะวัฏจักรดอกเบี้ยกำลังจะเปลี่ยนทิศทาง ธนาคารกลางทั่วโลกมีทีท่าว่าจะเริ่มลดอัตราดอกเบี้ยลงในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า เนื่องจากเงินเฟ้อและการเติบโตทางเศรษฐกิจได้ชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่อง สถานการณ์เช่นนี้จะส่งผลดีต่อตราสารหนี้ เพราะอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำลงจะทำให้ราคาตราสารหนี้ปรับตัวสูงขึ้น และนักลงทุนมักจะให้ความสำคัญกับสินทรัพย์ที่ปลอดภัยและมีเสถียรภาพในช่วงที่เศรษฐกิจเผชิญกับความไม่แน่นอน (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ใน CIO Insights: ความผันผวนในตลาดตราสารหนี้ครั้งนี้ เราจะผ่านมันไปได้อย่างไร)
  2. Stay Invested ในหุ้นสหรัฐ เพราะโอกาสเติบโตยังแข็งแกร่งกว่าประเทศอื่น ความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจสหรัฐเมื่อเทียบกับประเทศอื่น คือ ปัจจัยสำคัญที่ทำให้หุ้นสหรัฐทำผลตอบแทนได้อย่างแข็งแกร่งเมื่อปีที่แล้วและน่าจะเป็นเช่นนั้นต่อไปในปีนี้ โดยแนวโน้มการเติบโตที่อ่อนแอกว่าในทวีปยุโรปและจีน ซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่รองลงมาจากสหรัฐ บ่งชี้ว่าพอร์ตหลัก (Core Portfolio) ของนักลงทุนยังควรเน้นไปที่ตลาดสหรัฐต่อไป
  3. ลงทุนในตลาดที่อยู่ระหว่างการปฏิรูปและเปลี่ยนแปลงโครงสร้าง เมื่อวิเคราะห์การลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ ทั่วโลก โอกาสมักจะอยู่ในตลาดที่มีการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างครั้งใหญ่ ในกรณีนี้ เรามองเห็นโอกาสที่ดีในตลาด ‘อินเดีย’ ซึ่งมีศักยภาพที่จะเติบโตอย่างแข็งแกร่ง (อ่านเพิ่มเติมได้ใน CIO Insights: ทำไม ‘อินเดีย’ ถึงน่าสนใจสำหรับนักลงทุน) เช่นเดียวกับความก้าวหน้าในการปฏิรูปภาคเอกชนของ ‘ญี่ปุ่น’ ที่จะเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญสำหรับตลาดหุ้นในปีนี้ รวมถึงปีต่อๆ ไป

ความแตกต่างของสถานการณ์เศรษฐกิจในกลุ่มประเทศยักษ์ใหญ่ทั่วโลกเหล่านี้ แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของการลงทุนในพอร์ตที่มีการกระจายการลงทุนในหลากหลายภูมิภาคและกลุ่มธุรกิจ แต่สำหรับนักลงทุนที่อยากลงทุนแบบ Active มากขึ้น 3 ธีมลงทุนที่เรากล่าวไว้ข้างต้นอาจช่วยให้คุณสามารถคว้าโอกาสที่ดีไปพร้อมๆ กับการบริหารความเสี่ยงได้

ทั้งนี้ การติดตามและวิเคราะห์ข้อมูลจากพาดหัวข่าวรายวันเป็นสิ่งที่ดี แต่การมองภาพการลงทุนในระยะยาวเป็นสิ่งที่สำคัญกว่า โดยในช่วงที่เศรษฐกิจชะลอตัวหรือตลาดปรับตัวลงในระยะสั้นอาจเป็นโอกาสให้นักลงทุนเพิ่มการลงทุนในพอร์ตได้ และเช่นเคยที่เรายังคงแนะนำกลยุทธ์การลงทุนแบบ DCA (Dollar-Cost Averaging) เพื่อช่วยให้คุณสามารถ Stay Invested ได้อย่างสบายใจไม่ว่าภาวะตลาดจะเป็นเช่นไร

หมายเหตุ:

การลงทุนมีความเสี่ยง โปรดทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน และความเสี่ยง ก่อนตัดสินใจลงทุน; ผลการดำเนินงานในอดีตไม่ได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต

ข้อมูลนี้ไม่ได้จัดเตรียมขึ้นโดยคำนึงถึงสถานการณ์ส่วนบุคคลของท่าน (เช่น วัตถุประสงค์การลงทุน สถานการณ์ทางการเงิน หรือความความต้องการโดยเฉพาะ) ท่านควรขอคำแนะนำจากที่ปรึกษาด้านการเงิน บัญชี ภาษี กฎหมาย และด้านอื่นๆ ของท่านเอง


แชร์บทความนี้

  • linkedin
  • facebook
  • twitter
  • email

อยากอ่านเพิ่ม?

เราหวังว่าคุณจะได้ประโยชน์ จากบทความของเรา

ร่วมเป็นส่วนหนึ่งกับผู้คนอีกหลายแสนคนที่ต้องการวางแผนการเงินและการลงทุนอย่างยั่งยืนด้วยการสมัครรับบทความและบทวิเคราะห์ของเราที่จะส่งตรงถึงอีเมลของคุณ