ลมเปลี่ยนทิศ: เมื่อความกังวลของนักลงทุนสลับไปมาระหว่างเงินเฟ้อและการเติบโตทางเศรษฐกิจ

27 April 2023

4 Key Takeaways สำหรับสิ่งที่จะเกิดขึ้นในระยะข้างหน้า 

ปีที่ผ่านมา นักลงทุนต่างติดตามการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) อย่างใกล้ชิด โดย Fed ได้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยฯ ที่ทั้งเร็วและแรงเพื่อควบคุมเงินเฟ้อที่ปรับขึ้นสูงที่สุดนับตั้งแต่ทศวรรษที่ 1980 ซึ่งปัจจุบันนโยบายการเงินที่เข้มงวดต่างๆ เริ่มส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจแล้ว เราจึงเริ่มเห็นว่าความกังวลของนักลงทุนได้เปลี่ยนจากเรื่องอัตราเงินเฟ้อไปสู่ประเด็นการเติบโตทางเศรษฐกิจแทน 

เมื่อช่วงต้นปี เราได้พูดถึงสถานการณ์และความกังวลเหล่านี้ว่าจะเป็นปัจจัยหลักที่จะขับเคลื่อนตลาดในปี 2023 และอย่างที่ได้พูดถึงใน CIO Insights เดือน มี.ค. ที่ผ่านมาว่าผลกระทบเหล่านี้เริ่มแสดงให้เห็นชัดเจนมากขึ้นแล้ว

สำหรับไตรมาส 2 ของปีนี้ เรามี 4 Key Takeaways สำหรับสิ่งที่อาจเกิดขึ้นในระยะข้างหน้า

Takeaway #1: การเติบโตทางเศรษฐกิจของสหรัฐและกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วอาจชะลอตัวลงอีก

เดือน ม.ค. ที่ผ่านมา เราได้พูดถึงการชะลอตัวลงทางเศรษฐกิจว่าได้เริ่มส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในโลกอย่างสหรัฐแล้ว ซึ่งข้อมูลทางเศรษฐกิจต่างๆ ในปัจจุบันเริ่มชี้ให้เห็นทิศทางตามที่เราประเมินไว้

โดยในเดือน มี.ค. ตัวเลขดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อสหรัฐ (PMI) จากสถาบัน ISM ได้ปรับตัวลดลงต่ำสุดในรอบ 3 ปี มาอยู่ที่ระดับ 46.3 จาก Demand ที่ลดลง ขณะที่การใช้จ่ายของผู้บริโภคเริ่มปรับตัวลดลงในหมวดสินค้าและบริการที่อ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงของอัตราดอกเบี้ยฯ เช่น ยานยนต์ และสินค้าตกแต่งบ้าน แม้ว่าตลาดแรงงานยังคงแข็งแกร่งแต่ตัวเลขการขอรับสวัสดิการการว่างงานเริ่มปรับตัวสูงขึ้น และยังเห็นตำแหน่งงานที่เปิดรับลดลงซึ่งถือเป็นสัญญาณบ่งชี้การเริ่มชะลอตัวลง (ในอดีต ตัวเลขด้านแรงงานจะเป็นสิ่งสุดท้ายที่ปรับตัวลดลงในช่วงที่เศรษฐกิจชะลอตัวลง เพราะการลดพนักงานมักเป็นมาตรการสุดท้ายที่ธุรกิจเลือกทำ)

การปล่อยสินเชื่อที่เข้มงวดขึ้นจะส่งผลกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ

การปล่อยสินเชื่อที่เข้มงวดขึ้นนี้ ถือเป็นสัญญาณว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจอาจชะลอลงในระยะข้างหน้าโดยเฉพาะจากวิกฤตของ Silicon Valley Bank (SVB) แต่ความจริงแล้วธนาคารต่างๆ เริ่มปล่อยสินเชื่ออย่างระมัดระวังมากขึ้นตั้งแต่ก่อนเกิดกรณีแบงก์ล้มของ SVB แล้ว

ในมุมมองของ StashAway ผลกระทบจากความวุ่นวายในกลุ่มธุรกิจธนาคารที่เกิดขึ้นกำลังจะเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจในวงกว้างในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้านี้ เพราะธนาคารขนาดเล็กที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นมีสัดส่วนการปล่อยสินเชื่อให้กับธุรกิจขนาดเล็กราว 70% (ข้อมูลประมาณการจาก Goldman Sachs) ซึ่งถือเป็นปัจจัยสำคัญ เพราะธุรกิจขนาดเล็กเหล่านี้มีสัดส่วนเกือบ 50% ในการจ้างงานของภาคเอกชนของสหรัฐ และคิดเป็น 2 ใน 3 ของตำแหน่งใหม่ที่เกิดขึ้นในช่วง 25 ปีที่ผ่านมา (ข้อมูลจาก US Small Business Association: SBA) 

หากดูจากกราฟด้านล่างจะพบว่า เมื่อการปล่อยสินเชื่อมีความเข้มงวดมากขึ้น มักเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยตามมา เนื่องจากบริษัทต่างๆ เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ยากขึ้นจึงทำให้บริษัทชะลอการลงทุน ปรับลดจำนวนพนักงาน หรือในกรณีเลวร้ายที่สุดคือการปิดกิจการ

อ้างอิง: StashAway, US Federal Reserve Senior Loan Officer Opinion Survey on Bank Lending Practices หมายเหตุ: ตัวเลขมากกว่า 0 หมายถึง การปล่อยสินเชื่อที่มีความเข้มงวดกว่ามาตรฐาน, ตัวเลขต่ำกว่า 0 หมายถึง การปล่อยสินเชื่อที่มีความเข้มงวดน้อยกว่ามาตรฐาน ทั้งนี้ แถบสีฟ้า คือช่วงที่เกิด Recession ตามนิยามของ National Bureau of Economic Research (NBER)

สถานการณ์เหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นในสหรัฐเท่านั้น แต่เริ่มเห็นผลกระทบนี้ในยุโรปเช่นกัน จากผลสำรวจการปล่อยสินเชื่อของธนาคารใน Eurozone ที่จัดทำโดยธนาคารกลางยุโรป (ECB) พบว่าการปล่อยสินเชื่อไม่เพียงแต่เข้มงวดขึ้นแต่ความต้องการขอสินเชื่อก็ปรับลดลงด้วยเช่นกัน

ทั้งนี้ แม้การชะลอตัวทางเศรษฐกิจอาจสร้างความกังวลเพิ่มขึ้นให้กับนักลงทุน แต่นี่คือผลลัพธ์ที่ธนาคารกลางต่างๆ ต้องการให้เกิดขึ้นเพื่อลดความร้อนแรงของเงินเฟ้อ

Takeaway #2: เมื่อการเติบโตทางเศรษฐกิจชะลอตัวลง เราอาจเริ่มเห็นจุดสิ้นสุดของนโยบายการเงินที่เข้มงวดจากธนาคารกลาง

เมื่อเศรษฐกิจสหรัฐเริ่มชะลอตัวลง เรามักจะเห็นเงินเฟ้อปรับตัวลดลงด้วยเช่นกัน ซึ่งในตอนนั้น Fed จะหันมาให้ความสำคัญกับการกระตุ้นเศรษฐกิจแทน แต่ด้วยอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core Inflation) ที่ยังอยู่ในระดับสูง เราจึงประเมินว่ามีความเป็นไปได้มากกว่าที่ Fed จะหยุดขึ้นอัตราดอกเบี้ยฯ แทนการปรับลดอัตราดอกเบี้ยฯ อย่างที่ตลาดคาดไว้

ไม่เฉพาะ Fed ที่มีมุมมองลักษณะนี้ ธนาคารกลางหลักทั่วโลกต่างเริ่มแตะเบรกการขึ้นอัตราดอกเบี้ยฯ เช่นกัน อย่างเช่น ECB ที่คาดว่าจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยฯ เพียง 0.25% ในเดือน พ.ค. หลังจากที่เคยขึ้นอัตราดอกเบี้ยฯ ที่ระดับ 0.50% และ 0.75% ขณะที่ธนาคารกลางสิงคโปร์ได้หยุดการทำนโยบายการเงินแบบเข้มงวดในเดือนนี้ เพื่อประเมินความเสี่ยงที่อาจส่งผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ 

ทั้งหมดนี้ชี้ให้เห็นว่าธนาคารกลางต่างๆ เริ่มประเมินแนวทางการทำนโยบายการเงินของตนเองอีกครั้ง เนื่องจากมีแนวโน้มจะเกิด Recession เพิ่มมากขึ้นในช่วงที่ผ่านมา

นักลงทุนต่างกังวลกับการชะลอตัวลงทางเศรษฐกิจ 

ไม่เพียงแต่ธนาคารกลางที่กังวลแต่ตลาดเริ่มกังวลในเรื่องนี้เช่นกัน

จากที่เราพูดถึงประเด็นเหล่านี้ในเดือนที่ผ่านมา ว่าตลาดได้ปรับการคาดการณ์ต่อทิศทางดอกเบี้ยฯ ของ Fed ต่างจากเดิม โดยตลาดคาดว่าจะเห็น Fed ปรับลดอัตราดอกเบี้ยฯ​ ในช่วงครึ่งปีหลังนี้ นอกจากนี้ จากกราฟด้านล่างพบว่า Yield Curve (ซึ่งยังคงอยู่ในลักษณะ Inverted Yield Curve) เริ่มมีลักษณะชันขึ้นหลังจากการปรับมุมมองของตลาด ซึ่งอาจเป็นสัญญาณที่น่ากังวลเพราะการปรับตัวชันขึ้นของ Yield Curve นี้มักเกิดขึ้นก่อนเศรษฐกิจจะเข้าสู่ภาวะ Recession 

อ้างอิง: StashAway, Bloomberg; หมายเหตุ แถบสีฟ้าในกราฟคือช่วงที่เกิด Recession ตามนิยามของ National Bureau of Economic Research (NBER)

Takeaway #3:  เศรษฐกิจจีนเริ่มฟื้นตัว แต่อาจไม่มากพอที่จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกจากการชะลอตัว

เราเริ่มเห็นการชะลอตัวลงทางเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว แต่สถานการณ์ทางเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ (Emerging Markets) จะแตกต่างกันออกไป โดยเฉพาะในจีน

ในไตรมาส 1 นี้ GDP ของจีนเติบโต 4.5% YoY บ่งชี้ว่าเศรษฐกิจขนาดใหญ่อันดับ 2 ของโลกมีทิศทางเศรษฐกิจที่แตกต่างจากสหรัฐ​และกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วอื่นๆ นอกจากนี้ สถานการณ์เงินเฟ้อของจีนซึ่งไม่รุนแรงมากนัก ทำให้ธนาคารกลางยังสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้ ทั้งจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยฯ หรือผ่านการใช้จ่ายของภาครัฐ

การฟื้นตัวของจีนอาจส่งผ่านไปถึงเศรษฐกิจโลกได้เพียงเล็กน้อย

การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของจีนเพิ่งเริ่มต้นขึ้น ซึ่งแนวโน้มในระยะข้างหน้ายังคงไม่ชัดเจน เพราะการฟื้นตัวนี้มาจากการใช้จ่ายของประชาชนที่เพิ่มขึ้นจากการเปิดประเทศและการยกเลิกมาตรการ Zero-COVID โดยการใช้จ่ายส่วนใหญ่อยู่ในหมวดสินค้าและบริการภายในประเทศ เช่น การท่องเที่ยว การขนส่ง และอาหาร ซึ่งสะท้อนว่าการเติบโตนี้อาจไม่ได้ส่งผ่านไปสู่เศรษฐกิจประเทศอื่นๆ อย่างเช่นในอดีต

ทั้งนี้ ความต้องการสินค้าจีนจากผู้บริโภคทั่วโลกยังเปราะบาง โดยดัชนี Caixin manufacturing PMI ซึ่งเป็นผลสำรวจที่เน้นบริษัทส่งออกขนาดเล็กของจีนปรับตัวลดลงสู่ระดับ 50.0 ในเดือน มี.ค. หลังจากเคยขึ้นถึง 51.6 ในเดือน ก.พ. (สูงกว่าระดับ 50 หมายถึงมีการขยายตัวทางเศรษฐกิจ)

อ้างอิง: StashAway, China National Bureau of Statistics, S&P Global; หมายเหตุ สูงกว่าระดับ 50 หมายถึงมีการขยายตัวทางเศรษฐกิจ

Takeaway #4: ดอลลาร์สหรัฐอาจมีเสถียรภาพมากขึ้น เมื่อใกล้ถึงจุดจบวงจรดอกเบี้ยขาขึ้นของ Fed  

นับจากช่วงกลางปี 2021 การแข็งค่าของดอลลาร์สหรัฐเป็นแรงขับเคลื่อนหลักในตลาดเงินตราต่างประเทศ โดยเฉพาะในปี 2022 ที่ Fed มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยฯ ทั้งเร็วและแรงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งทำให้เม็ดเงินไหลเข้าสู่สินทรัพย์ที่อยู่ในสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐมากขึ้น รวมทั้งความกังวลที่จะเกิด Recession ในยุโรปและการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกยังเป็นอีกปัจจัยที่ทำให้นักลงทุนหันไปถือเงินดอลลาร์สหรัฐมากขึ้นในฐานะที่เป็นสกุลเงิน Safe-haven 

ปัจจุบันเราพบว่า ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐเริ่มอ่อนค่าลง โดยดัชนีเงินดอลลาร์สหรัฐปรับตัวลงมากกว่า 10% จากจุดสูงสุดในเดือน ก.ย. 2022 ในระยะข้างหน้า เมื่อวงจรอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นของ Fed ใกล้ถึงจุดจบ เราคาดว่าความผันผวนของสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐจะลดลงและเคลื่อนไหวในกรอบที่แคบลง 

ดังนั้น ในระยะข้างหน้าการเคลื่อนไหวของค่าเงินในสกุลต่างๆ น่าจะผันผวนน้อยลงและจะขับเคลื่อนจากปัจจัยเฉพาะภายในแต่ละประเทศ เช่น ความแตกต่างของอัตราดอกเบี้ยนโยบาย การเติบโตทางเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อ หรือความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ ทั้งนี้ เมื่อดอลลาร์สหรัฐมีเสถียรภาพมากขึ้นอาจช่วยลดความซับซ้อนในการลงทุนต่างประเทศลงได้

อ้างอิง: StashAway, Bloomberg

การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ส่งผลต่อสินทรัพย์ต่างๆ อย่างไร

จากความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นมากมาย เรายังคงมองว่าการปรับพอร์ตให้มีลักษณะ Defensive มากขึ้นยังเป็นสิ่งที่จำเป็น โดย ERAA™ ของเราได้ทำการ Re-optimisation ครั้งล่าสุดในเดือน ธ.ค. 2022 ตามข้อมูลทางเศรษฐกิจที่บ่งชี้ว่าเราเริ่มเข้าสู่ภาวะ Stagflation (เศรษฐกิจหดตัว แต่อัตราเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับสูง)

อย่างไรก็ตาม เรายังคงมองเห็น 4 โอกาสการลงทุนในระยะข้างหน้า:

  • ตราสารหนี้ระยะสั้น ยังมีความน่าสนใจเนื่องจากปัจจุบันมี Yield ที่อยู่ในระดับสูง ขณะที่ตราสารหนี้ระยะยาวอาจเริ่มมีความน่าสนใจมากขึ้นเมื่อตลาดเริ่มเห็นแนวโน้มการปรับลดอัตราดอกเบี้ยฯ โดยปกติแล้วเมื่อ Yield และความผันผวนของตราสารหนี้ไม่ปรับตัวสูงขึ้น ถือเป็นข่าวดีของนักลงทุน (เนื่องจากราคาและ Yield ของตราสารหนี้มักเคลื่อนไหวสวนทางกัน)
  • ทองคำ ยังเป็นสินทรัพย์สำคัญในการปกป้องและสร้างสมดุลให้กับพอร์ตท่ามกลางความผันผวนที่เกิดขึ้นในตลาด อย่างที่เราได้เห็นในไตรมาส 1 ที่ผ่านมา
  • หุ้นกลุ่ม Defensive อย่าง Healthcare และ Consumer Staples มีแนวโน้มจะ Outperform มากกว่าหุ้นกลุ่มอื่นๆ เนื่องจากนักลงทุนหันไปหาหุ้นกลุ่มที่ปลอดภัยกว่า
  • สถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่แตกต่างกันระหว่างกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วและกลุ่มตลาดเกิดใหม่อย่างจีน รวมถึงดอลลาร์สหรัฐที่มีเสถียรภาพมากขึ้นทำให้เราเห็นโอกาสในการกระจายการลงทุน ซึ่งเป็นเหตุผลที่เรายังคงสัดส่วนการลงทุนในกลุ่มตลาดเกิดใหม่ไว้

การลงทุนระยะยาวยังเป็นแนวทางที่ดีที่สุดในการรับมือความผันผวนระยะสั้น

เศรษฐกิจดำเนินไปเป็นวัฏจักรอยู่เสมอ โดยจะมีทั้งช่วงที่เติบโตและหดตัวเกิดขึ้นในบางช่วงเวลา ดังนั้นนักลงทุนควรโฟกัสในการลงทุนระยะยาวรวมถึงมีการกระจายการลงทุนที่ดีเพื่อเป็นตัวช่วยให้คุณไปถึงเป้าหมายทางการเงินได้สำเร็จ ที่สำคัญยังช่วยให้คุณลงทุนได้อย่างสบายใจแม้จะต้องเจอกับความผันผวนในระยะสั้น

ทั้งนี้ พอร์ตการลงทุนของ StashAway ยังสร้างอยู่บนพื้นฐานของหลักการนี้ โดยระบบของเราจะปรับพอร์ตให้เหมาะสมกับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจอยู่เสมอ

พอร์ต General Investing ของเราได้ปรับให้มีลักษณะ Defensive มากขึ้นเพื่อรับมือความไม่แน่นอนของตลาดในระยะข้างหน้า โดยเดือน ธ.ค. 2022 เราได้ทำการ Re-optimisation เพื่อเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลระยะสั้น และคงสัดส่วนการลงทุนในทองคำซึ่งสามารถช่วยให้พอร์ตการลงทุนของคุณสามารถฝ่าความวุ่นวายจากกลุ่มธุรกิจธนาคารที่เกิดขึ้น และมีผลการดำเนินงานเป็นบวกในไตรมาส 1 ปี 2023 ด้วยความผันผวนที่ต่ำกว่า 

หากคุณกำลังมองหาสินทรัพย์ที่มีระดับความเสี่ยงที่ต่ำมากในสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ อย่างพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐระยะสั้น คุณสามารถลงทุนผ่านพอร์ตต้นแบบ USD Cash Plus ซึ่งอยู่ใน Flexible Portfolio ของเราและสามารถปรับสัดส่วนการลงทุนได้ทุกเมื่อตามที่ต้องการ


แชร์บทความนี้

  • linkedin
  • facebook
  • twitter
  • email

อยากอ่านเพิ่ม?

เราหวังว่าคุณจะได้ประโยชน์ จากบทความของเรา

ร่วมเป็นส่วนหนึ่งกับผู้คนอีกหลายแสนคนที่ต้องการวางแผนการเงินและการลงทุนอย่างยั่งยืนด้วยการสมัครรับบทความและบทวิเคราะห์ของเราที่จะส่งตรงถึงอีเมลของคุณ

บทความที่เกี่ยวข้อง