ผลการดำเนินงานของ StashAway ในไตรมาส 1 ปี 2023

20 April 2023

Sentiment ของนักลงทุนทั่วโลกมีทั้งพุ่งขึ้นและร่วงลงตลอด 3 เดือนแรกของปี

ไตรมาสแรกของปี 2023 สถานการณ์ตลาดขึ้นลงไม่ต่างจาก Roller Coaster

Recap: เปิดต้นปี 2023 ด้วยตลาดที่ค่อนข้างคึกคักเพราะนักลงทุนมีมุมมองที่ดีเกี่ยวกับแนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ ส่งผลให้เดือนมกราคมตลาดปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น แม้ในตอนนั้น Fed ได้ส่งสัญญาณว่าอาจขึ้นอัตราดอกเบี้ยฯ สูงกว่าที่เคยคาดไว้และอาจคงไว้นานขึ้นหากตัวเลขตลาดแรงงานสหรัฐยังคงแข็งแกร่ง แต่ตลาดกลับคาดการณ์ว่าจะได้เห็น Fed ปรับลดอัตราดอกเบี้ยภายในสิ้นปี 2023

แต่เมื่อเข้าสู่เดือนกุมภาพันธ์ ความคาดหวังของตลาดต้องหันกลับมาสู่ความเป็นจริงจากทั้งเงินเฟ้อที่ยืดเยื้อและตัวเลขทางเศรษฐกิจแข็งแกร่งกว่าที่คาดไว้ รวมถึงยังเห็นสัญญาณการทำนโยบายแบบ Hawkish จาก Fed ซึ่งทำให้นักลงทุนประเมินทิศทางอัตราดอกเบี้ยฯ ใหม่อีกครั้ง ขณะที่ตราสารหนี้ได้รับผลกระทบในด้านลบ

ต่อมาในเดือนมีนาคม เกิดสถานการณ์ความวุ่นวายในกลุ่มธุรกิจธนาคารซึ่งสร้างความกังวลว่าอาจนำไปสู่วิกฤตทางการเงิน ส่งผลให้กำไรที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้ลดลงอย่างมาก ขณะเดียวกันนักลงทุนหันไปหาสินทรัพย์ปลอดภัย (Safe-haven ssets) มากขึ้นทำให้ตลาดตราสารหนี้กลับมาฟื้นตัว แต่หลังจากนั้นตลาดหุ้นกลับมาฟื้นตัวขึ้นในช่วงสิ้นเดือน นำโดยหุ้นบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่

อ้างอิง: StashAway, Bloomberg; ข้อมูลในสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ

จากภาวะตลาดที่มีความไม่แน่นอนเกิดขึ้นมากมาย ผลการดำเนินงานของเราในไตรมาส 1 ปี 2023 เป็นอย่างไรบ้าง และทิศทางของตลาดในระยะต่อไปจะเป็นอย่างไร เราสรุปไว้แล้วในบทความนี้:

  • พอร์ต General Investing และ Goal-based Investing
  • Thematic Portfolio
  • แนวโน้มตลาดและสิ่งที่ต้องติดตามในปี 2023

พอร์ต General Investing และ Goal-based Investing ฝ่าความวุ่นวายในกลุ่มธุรกิจธนาคาร และมีผลการดำเนินงานเป็นบวก

ในไตรมาส 1 พอร์ต General Investing และ Goal-based Investing ทุกระดับความเสี่ยง (SRI 6.5% - 36%) มีผลการดำเนินงานเป็นบวก โดยเพิ่มขึ้นระหว่าง 2.5% และ 6.2% หรือโดยเฉลี่ยที่ 4.1% ในสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ (Goal-based Investing ใช้พอร์ตบริหารเดียวกันกับ General Investing จึงสามารถดูผลการดำเนินงานร่วมกันได้)

โดยในเดือนธันวาคม 2022 กลยุทธ์การลงทุน ERAA™ ของเราได้ปรับสัดส่วนการลงทุนในพอร์ตให้เหมาะกับภาวะ Stagflation ซึ่งหมายถึงการปรับสัดส่วนการลงทุนให้ Defensive มากขึ้นเมื่อเทียบกับ Benchmark* ที่มีระดับความเสี่ยงเดียวกัน และเมื่อเราได้วิเคราะห์เชิงลึกถึงผลตอบแทนที่เกิดขึ้นในไตรมาสนี้ เราพบว่าการปรับพอร์ตในลักษณะนี้ยังเป็นสิ่งที่จำเป็น

หุ้นกลุ่มเทคโนโลยีและดัชนีหุ้นในวงกว้างเป็นแรงขับเคลื่อนหลัก

แม้ในสถานการณ์เศรษฐกิจที่ท้าทายแต่สินทรัพย์เสี่ยงกลับปรับตัวสูงขึ้นในไตรมาสที่ผ่านมา เนื่องจากปัจจัยบวกจากธนาคารกลางหลักต่างๆ ที่ได้ออกมาตรการชั่วคราวเพื่ออัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ ดังนั้นการที่ ERAA™ ลงทุนใน ETF ที่ลงทุนในดัชนีหุ้นในวงกว้าง และ Overweight การลงทุนในกลุ่มธุรกิจเทคโนโลยี จึงเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยสร้างผลการดำเนินงานในไตรมาส 1 ที่ผ่านมา โดยเฉพาะในพอร์ตที่ StashAway Risk Index (SRI) ระดับสูงกว่าซึ่งมีสัดส่วนการลงทุนในหุ้นสูงกว่า นอกจากนี้ การที่ ERAA™ ได้ Underweight การลงทุนในหุ้นกลุ่มการเงินและกลุ่มพลังงานยังมีส่วนช่วยผลการดำเนินงานในไตรมาสนี้

หุ้นบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่อย่าง Apple, NVIDIA, Tesla, Microsoft, และ Meta ถือเป็นแรงขับเคลื่อนหลักในการสร้างผลตอบแทน โดยในไตรมาส 1 นี้ หุ้นของทั้ง 5 บริษัทได้สร้างผลตอบแทนมากกว่าครึ่งหนึ่งของผลตอบแทนของตลาดหุ้นทั่วโลก อย่างไรก็ตาม ในระยะข้างหน้ายังคงไม่ชัดเจนว่าแนวโน้มจะดีอย่างต่อเนื่องหรือไม่ เนื่องจากตามข้อมูลในอดีตตัวชี้วัด Market Breadth ที่แคบในลักษณะนี้มักจะไม่ยั่งยืน

ในขณะเดียวกัน สัดส่วนการลงทุนของ ERAA™ ในหุ้นกลุ่ม Healthcare กลับส่งผลกระทบด้านลบต่อผลการดำเนินงานในไตรมาสที่ผ่านมา โดยหุ้นกลุ่ม Healthcare โดยรวมได้ปรับตัวลดลง 4.3% ในสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากหุ้นกลุ่ม Healthcare จัดเป็นหุ้น Defensive จึงอาจได้รับผลกระทบด้านลบจากการที่นักลงทุนโยกเงินไปลงทุนในหุ้นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงกว่า (Risk-on) จาก Sentiment ของตลาดที่เป็นบวกในไตรมาสที่ผ่านมา แต่ในระยะข้างหน้ายังมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นได้เสมอขึ้นอยู่กับว่าสถานการณ์เศรษฐกิจจะเป็นไปในทิศทางใด

อ้างอิง: StashAway; ข้อมูลแสดงผลตอบแทนรวมในแต่ละกลุ่มธุรกิจของ S&P 500 ตั้งแต่ต้นปีนี้ถึง 31 มีนาคม 2023 ในสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ

ตราสารหนี้ระยะสั้น และ หุ้นกู้คุณภาพดี ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้พอร์ตโดยรวม

การกระจายการลงทุนของ ERAA™ ในตราสารหนี้ระยะสั้นช่วยสร้างผลตอบแทนอย่างมั่นคงท่ามกลางความวุ่นวายในตลาดที่เกิดขึ้นตลอดไตรมาส 1 โดยเฉพาะในพอร์ตที่ระดับ SRI ต่ำกว่าซึ่งจะมีสัดส่วนการลงทุนในตราสารหนี้สูงกว่า

โดย Yield (อัตราผลตอบแทน) ของตราสารหนี้ยังมีแนวโน้มที่จะคงอยู่ในระดับสูงตลอดปีนี้ เราจึงยังเห็นประโยชน์ในการ Overweight การลงทุนในสินทรัพย์ที่มีระดับความเสี่ยงต่ำนี้ต่อไป (อ่านเพิ่มเติมได้ที่: “ทำไมการลงทุนใน 'พันธบัตรรัฐบาลระยะสั้น' ถึงน่าสนใจ”)

ขณะเดียวกัน การลงทุนในตราสารหนี้ระยะยาวและหุ้นกู้คุณภาพดี (Investment-grade) ยังมีส่วนช่วยในการสร้างผลตอบแทนที่เป็นบวก โดยเฉพาะในช่วงปลายไตรมาสที่ผ่านมาที่นักลงทุนกังวลต่อสถานการณ์เศรษฐกิจที่เกิดขึ้นและหันมาลงทุนในสินทรัพย์ที่ปลอดภัยกว่า โดยดัชนี Global Aggregate Bonds (หนึ่งในดัชนีชี้วัดผลตอบแทนตราสารหนี้ในภาพรวมทั่วโลก) ปรับตัวเพิ่มขึ้นราว 3% ในสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐในไตรมาสที่ผ่านมา

สรุปได้ว่า การมี ‘สินทรัพย์ปรับสมดุล’ (Balancing Assets) เช่น ตราสารหนี้ ในพอร์ตถือเป็นส่วนสำคัญของพอร์ตที่มีการกระจายการลงทุนที่ดี

ทองคำ ยังเป็นสินทรัพย์สำคัญในการปกป้องพอร์ตของเรา

จากความผันผวนในไตรมาสที่ผ่านมา ทองคำยังคงช่วยปกป้องและสร้างสมดุลให้กับพอร์ตของเรา เพราะมีค่าความสัมพันธ์ หรือ Correlation ต่ำทั้งกับตราสารหนี้และหุ้น โดยเฉพาะเมื่อเกิดความวุ่นวายในกลุ่มธุรกิจธนาคารในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา เราได้เห็นเม็ดเงินไหลเข้าสู่กลุ่มสินทรัพย์ Safe-haven ซึ่งรวมถึง ทองคำ จึงทำให้ทองคำสามารถสร้างผลตอบแทนได้ถึง 8.0% (ในสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ) ในไตรมาสที่ผ่านมา ซึ่งยิ่งแสดงให้เห็นถึงจุดเด่นและประโยชน์ของการลงทุนในทองคำเพื่อปกป้องพอร์ตในช่วงที่เศรษฐกิจมีความไม่แน่นอนอย่างในปัจจุบัน

แม้ตลาดผันผวน แต่พอร์ต General Investing ยังรักษาเสถียรภาพได้ดีกว่า Benchmark*

จากที่ ERAA™ ได้ปรับพอร์ตการลงทุนให้ Defensive มากขึ้น และการที่ตลาดหุ้นปรับตัวขึ้นในไตรมาส 1 ส่งผลให้พอร์ตของเราสร้างผลตอบแทนต่ำกว่า Benchmark* ที่มีระดับความเสี่ยงเดียวกันที่ -1.2 ถึง -1.7% แต่ด้วยความไม่แน่นอนและความผันผวนในตลาดที่ยังคงอยู่ต่อไปอีกระยะหนึ่ง ข้อมูลทางเศรษฐกิจที่ ERAA™ ใช้ประเมินยังคงชี้ให้เห็นถึงความสำคัญที่จะคงสัดส่วนการลงทุนในลักษณะ Defensive เช่นนี้ต่อไป

ในทางกลับกัน ในช่วงไตรมาส 1 พอร์ต General Investing มีความผันผวนที่ต่ำกว่า โดยมีค่าความผันผวนเฉลี่ยที่ 7% ต่อปี ซึ่งต่ำกว่า Benchmark* ที่มีค่าความผันผวนเฉลี่ยราว 9% ต่อปี และด้วยความผันผวนที่ต่ำกว่านี้ จึงทำให้พอร์ต General Investing สามารถสร้าง Risk-adjusted Return (ผลตอบแทนที่ปรับด้วยความเสี่ยง) ที่ดีกว่า Benchmark* โดยในไตรมาส 1 Sharpe Ratio โดยเฉลี่ยของพอร์ต General Investing อยู่ที่ 2.35 ซึ่งสูงกว่า Benchmark* ที่ 2.29 (ตัวเลขที่สูงกว่าสะท้อนว่ามี Risk-adjusted Return ที่ดีกว่า)

อ้างอิง: StashAway; ข้อมูลตั้งแต่ 31 ธันวาคม 2021 - 31 มีนาคม 2023 ในสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ โดยพอร์ต SRI 22% จะสะท้อนพอร์ต Benchmark ที่มีสัดส่วนหุ้น 60% : ตราสารหนี้ 40%, SRI 6.5% สะท้อนพอร์ต Benchmark ที่มีสัดส่วนหุ้น 5% : ตราสารหนี้ 95%, และ SRI 36% สะท้อนพอร์ต Benchmark ที่มีสัดส่วนหุ้น 100% 

นอกจากนี้ พอร์ตของเรายังมี Drawdown (ระดับผลตอบแทนขาดทุนสะสม) ที่ต่ำกว่าในช่วงที่ตลาดมีความผันผวนสูงที่ยาวนานมาตั้งแต่ต้นปี 2022 โดยในช่วงที่ทั้งตลาดหุ้นและตลาดตราสารหนี้ปรับตัวลงอย่างมากในปีผ่านมา พอร์ตการลงทุนของเรามี Maximum Drawdown ที่ต่ำกว่า Benchmark* ที่ระดับความเสี่ยงเดียวกัน เฉลี่ยที่ 3.8% ในสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ

อ้างอิง: StashAway, Bloomberg

อ้างอิง: StashAway; ข้อมูลผลตอบแทนในไตรมาส 1 ตั้งแต่ 30 ธันวาคม 2022 - 31 มีนาคม 2023 และผลตอบแทนย้อนหลัง 12 เดือนระหว่าง 31 มีนาคม 2022 - 31 มีนาคม 2023 ในสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ

Thematic Portfolio มีผลการดำเนินงานเป็นบวก จากการฟื้นตัวของกลุ่มเทคโนโลยี

ในไตรมาส 1 ผลการดำเนินงานของ Thematic Portfolio ในธีม Technology Enabler และ Future of Consumer Tech ส่วนใหญ่มีผลตอบแทนเป็นบวกถึง 2 หลัก เพราะได้ประโยชน์จากการฟื้นตัวของกลุ่มเทคโนโลยีในช่วงที่ผ่านมา ในขณะที่ธีม Environment and Cleantech มีผลตอบแทนที่ดีในระดับหนึ่ง และธีม Healthcare Innovation ยังทรงตัว

ในระยะต่อไป แม้ในระยะสั้นธีมการลงทุนเหล่านี้อาจต้องเจอกับความผันผวนจากความไม่แน่นอนของตลาด แต่เราคาดว่า ‘สินทรัพย์ปรับสมดุล’ หรือ Balancing Assets ในพอร์ตจะทำหน้าที่ปกป้องพอร์ตและช่วยลดผลกระทบจากการปรับตัวลงของตลาดได้ โดยเฉพาะในภาวะเศรษฐกิจถดถอยซึ่งทำให้บริษัทต่างๆ มีแนวโน้มทำกำไรได้น้อยลง อย่างไรก็ตาม ในระยะยาวเรายังคงเชื่อว่ากลุ่มธุรกิจนวัตกรรมเหล่านี้จะยังสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญและยังมีโอกาสเติบโตอย่างมีประสิทธิภาพ

อ้างอิง: StashAway; ข้อมูลผลตอบแทนในไตรมาส 1 ตั้งแต่ 30 ธันวาคม 2022 - 31 มีนาคม 2023 และผลตอบแทนย้อนหลัง 12 เดือนระหว่าง 31 มีนาคม 2022 - 31 มีนาคม 2023 ในสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ 

Technology Enablers

ในไตรมาส 1 ธีม Technology Enablers มีผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่ง โดยเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 12.7% ในสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ

สินทรัพย์ตามธีม (Thematic Assets) โดยรวมในธีมนี้มีผลตอบแทนที่ดีขึ้นอย่างโดดเด่น โดยแรงขับเคลื่อนหลักมาจากการฟื้นตัวของกลุ่มธุรกิจคลาวด์คอมพิวติ้ง กลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้องระบบอัตโนมัติ (Autonomous Techonology) และกลุ่มธุรกิจเซมิคอนดักเตอร์ที่เคยปรับตัวลงอย่างมากในปีที่ผ่านมา โดยกลุ่มธุรกิจเหล่านี้ได้อานิสงส์จากความก้าวหน้าของเทคโนโลยี Artificial Intelligence อย่าง ChatGPT ทั้งนี้ สัดส่วนการลงทุนในกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับนวัตกรรมยุคใหม่ด้านอินเทอร์เน็ต (Next Generation Internet) ปรับตัวเพิ่มขึ้นเกือบ 40% ในไตรมาสที่ผ่านมา ขณะที่กลุ่มธุรกิจเซมิคอนดักเตอร์ปรับตัวเพิ่มขึ้นเกือบ 30% ส่วน ‘สินทรัพย์ปรับสมดุล’ ในพอร์ตอย่าง ตราสารหนี้และทองคำต่างทำผลตอบแทนเป็นบวก

Future of Consumer Tech

ในไตรมาส 1 ธีม Future of Consumer Tech มีผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่งเช่นกัน โดยเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 12.8% ในสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ

กลุ่มธุรกิจ Fintech และ E-sports ต่างทำผลตอบแทนสูงราว 20% จึงถือเป็นส่วนสำคัญที่สุดในการสร้างผลตอบแทนในธีมนี้ โดยแนวโน้มการเติบโตที่ดีขึ้นของกลุ่มธุรกิจ Fintech อาจช่วยลดผลกระทบจากความกังวลในกลุ่มธุรกิจการเงินที่เกิดขึ้นในวงกว้าง ขณะที่กลุ่มธุรกิจ E-sports ยังได้รับผลดีจาก Exposure ในบริษัทเซมิคอนดักเตอร์ เช่น NVIDIA และบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ เจ้าอื่นๆ โดย ‘สินทรัพย์ปรับสมดุล’ ยังทำผลตอบแทนเป็นบวก

Healthcare Innovation

ในไตรมาส 1 ธีม Healthcare Innovation มีผลการดำเนินงานโดยเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 1.2% ในสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ

สินทรัพย์ตามธีมในธีมนี้มีผลการดำเนินงานที่แตกต่างกัน โดยกลุ่มธุรกิจอุปกรณ์การแพทย์มีบทบาทหลักในการสร้างผลตอบแทนในไตรมาสนี้ ส่วนการลงทุนในกลุ่มธุรกิจอื่นๆ ภายใต้ธุรกิจ Healthcare เช่น กลุ่มธุรกิจไบโอเทคและเภสัชกรรมส่งผลกระทบด้านลบต่อธีมนี้ ทั้งนี้ ‘สินทรัพย์ปรับสมดุล’ ถือเป็นตัวช่วยหลักในการเพิ่มประสิทธิภาพให้พอร์ต โดยเฉพาะในพอร์ตที่มีระดับความเสี่ยงต่ำกว่าซึ่ง ‘สินทรัพย์ปรับสมดุล’ สามารถช่วยสร้างผลตอบแทนได้ราวครึ่งหนึ่ง

Environment and Cleantech

ในไตรมาส 1 ธีม Environment and Cleantech มีผลการดำเนินงานโดยเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 4.7% ในสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ โดยหุ้นกลุ่มธุรกิจบริการด้านสิ่งแวดล้อม โครงสร้างพื้นฐาน Smart Grid และการจัดการน้ำ มีบทบาทหลักในการสร้างผลตอบแทนในไตรมาสที่ผ่านมา ขณะที่การลงทุนในตราสารหนี้สีเขียวและพันธบัตรชดเชยเงินเฟ้อยังมีส่วนช่วยในการสร้างผลตอบแทนให้กับพอร์ต

แนวโน้มตลาดและสิ่งที่ต้องติดตามในไตรมาส 2 ปี 2023

ก้าวเข้าสู่ไตรมาส 2 ของปีแล้ว คำถามสำคัญที่สุดในปัจจุบัน คือ ตลาดหุ้นที่ปรับตัวสูงขึ้นในช่วงที่ผ่านมาจะยั่งยืนแค่ไหน ดังนั้น เมื่อเศรษฐกิจยังมีความไม่แน่นอนและผันผวนสูง เราเชื่อมั่นว่าการบริหารพอร์ตด้วยความรอบคอบยังเป็นสิ่งที่สำคัญเสมอ

ทั้งนี้ เราจะมาเจาะลึกถึงทิศทางตลาดอีกครั้งผ่าน CIO Insights เดือนเมษายนนี้ แต่ 2 สิ่งสำคัญที่เราได้เห็นในไตรมาสที่ผ่านมาคือ 1) ยังมีความไม่แน่นอนสูงถึงทิศทางของเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า 2) ด้วยความไม่แน่นอนในระดับสูงนี้ ส่งผลให้นักลงทุนยังต้องติดตามทุกข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญอย่างใกล้ชิด ซึ่งหมายถึง Sentiment ของตลาดอาจปรับเปลี่ยนได้ทุกเมื่อ

ในเดือนธันวาคม ERAA™ ได้ Re-optimise พอร์ตให้ Defensive มากขึ้นเพื่อรับมือกับความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจอย่างมีประสิทธิภาพ (อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับการทำ Re-optimisation ครั้งล่าสุดได้ที่นี่)

ทั้งนี้ เราจะติดตามสถานการณ์และการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างใกล้ชิด แต่ไม่ว่าภาวะเศรษฐกิจจะเปลี่ยนแปลงไปในทางใด กลยุทธ์การลงทุนระยะยาวที่ตั้งอยู่บนพอร์ตซึ่งมีสัดส่วนของหุ้นและตราสารหนี้ที่เหมาะสม จะช่วยให้คุณรับมือกับความผันผวนของตลาดและลดผลกระทบด้านลบที่อาจเกิดขึ้นในระยะสั้นได้ 

*หมายเหตุ:

Benchmark ที่เราใช้ในการเปรียบเทียบมาจาก MSCI All Country World Equity Index TRI ในส่วนของหุ้น (ก่อนวันที่ 1 มีนาคม 2566 ใช้ MSCI World Equity Index TRI) และใช้ FTSE World Government Bond TRI ในส่วนของตราสารหนี้ โดยน้ำหนักของ Benchmark ที่เราใช้จะมีค่าความผันผวนที่เกิดขึ้นจริง (Realized Volatility) ในระยะเวลา 10 ปีเท่ากับระดับความเสี่ยง StashAway Risk Index

ผลตอบแทนของโมเดลพอร์ตนี้เป็นมูลค่าทั้งหมดก่อนหักค่าธรรมเนียม ภาษีมูลค่าเพิ่ม และการขอคืนภาษีหัก ณ​ ที่จ่ายของเงินปันผล โดยแบบจำลองผลการดำเนินงานนี้ทำเพื่อชี้วัดประสิทธิภาพของกลยุทธ์การลงทุน ไม่รวมปัจจัยอื่นๆ

ผลตอบแทนที่เกิดขึ้นจริงในบัญชีอาจแตกต่างจากโมเดลพอร์ต ขึ้นอยู่กับช่วงเวลาดำเนินการซื้อขาย, ความแตกต่างของช่วงเวลาและความผันผวนระหว่างวันในการทำ Re-optimisation และการทำ Rebalancing, ค่าธรรมเนียม, ภาษีของเงินปันผล (และการขอคืนภาษี) และอื่นๆ โดยผลตอบแทนอยู่ในสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ

การลงทุนมีความเสี่ยง โปรดทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน และความเสี่ยง ก่อนตัดสินใจลงทุน; ผลการดำเนินงานในอดีตไม่ได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต

ข้อมูลนี้ไม่ถือเป็นคำเสนอ คำแนะนำ คำเชื้อเชิญ หรือการชักชวนให้ท่านซื้อผลิตภัณฑ์ทางการเงิน หรือเข้าทำธุรกรรมใดๆ

ข้อมูลนี้ไม่ได้จัดเตรียมขึ้นโดยคำนึงถึงสถานการณ์ส่วนบุคคลของท่าน (เช่น วัตถุประสงค์การลงทุน สถานการณ์ทางการเงิน หรือความความต้องการโดยเฉพาะ) ท่านควรขอคำแนะนำจากที่ปรึกษาด้านการเงิน บัญชี ภาษี กฎหมาย และด้านอื่น ๆ ของท่านเอง


แชร์บทความนี้

  • linkedin
  • facebook
  • twitter
  • email

อยากอ่านเพิ่ม?

เราหวังว่าคุณจะได้ประโยชน์ จากบทความของเรา

ร่วมเป็นส่วนหนึ่งกับผู้คนอีกหลายแสนคนที่ต้องการวางแผนการเงินและการลงทุนอย่างยั่งยืนด้วยการสมัครรับบทความและบทวิเคราะห์ของเราที่จะส่งตรงถึงอีเมลของคุณ