2025 Mid-Year Outlook: ตลาดแค่พักร้อนหรือการเปลี่ยนผ่านครั้งใหญ่กำลังจะมา?

09 July 2025
Stephanie Leung
Group CIO

แชร์บทความนี้

  • linkedin
  • facebook
  • twitter
  • email

อยากอ่านเพิ่ม?

เราหวังว่าคุณจะได้ประโยชน์ จากบทความของเรา

ร่วมเป็นส่วนหนึ่งกับผู้คนอีกหลายแสนคนที่ต้องการวางแผนการเงินและการลงทุนอย่างยั่งยืนด้วยการสมัครรับบทความและบทวิเคราะห์ของเราที่จะส่งตรงถึงอีเมลของคุณ

ในช่วงครึ่งแรกของปี 2025 แนวคิด ‘US Exceptionalism’ หรือ ‘สินทรัพย์สหรัฐแข็งแกร่งกว่าประเทศอื่นๆ’ เริ่มถูกตั้งคำถาม เมื่อนักลงทุนทั่วโลกเริ่มลดการถือครองสินทรัพย์สหรัฐ ส่งผลให้ตลาดหุ้นโลกทำผลตอบแทนได้ดีกว่าดัชนี S&P 500 อย่างชัดเจน สะท้อนให้เห็นว่านักลงทุนเริ่มปรับสมดุลพอร์ตด้วยการหันไปลงทุนในตลาดทั่วโลกมากขึ้น

ทั้งนี้ ปัจจัยเชิงโครงสร้าง เช่น นโยบายการคลังที่ขยายตัวมากขึ้น ความก้าวหน้าของ AI และนโยบายของ Trump ซึ่งเราเคยวิเคราะห์ไว้ใน 2025 Macro Outlook: ‘FAT’ คือ New Normal ยังคงเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญที่ค่อยๆ ลดบทบาทความเป็นผู้นำของสหรัฐในตลาดโลกในระยะยาว 

ใน CIO Insights เดือนนี้ เราจะพานักลงทุนไปสำรวจโอกาสในการปรับพอร์ตเพื่อเตรียมรับมือการเปลี่ยนผ่านที่อาจเกิดขึ้นในระยะข้างหน้า

3 Key takeaways

  • ในช่วงครึ่งแรกของปี 2025 ตลาดได้กลับเข้าสู่แนวโน้มระยะยาวอีกครั้ง โดยนักลงทุนเริ่มมองหาโอกาสนอกสหรัฐมากขึ้น หลังจากที่ตลาดสหรัฐครองความเป็นผู้นำมาอย่างยาวนาน แต่ตั้งแต่ต้นปี เราได้เห็นตลาดหุ้นทั่วโลกปรับตัวขึ้นแล้วถึง 16% YTD แซงหน้าผลตอบแทนของดัชนี S&P 500 ของสหรัฐที่เพิ่มขึ้นเพียง 3% เท่านั้น ขณะเดียวกัน เงินดอลลาร์สหรัฐก็อ่อนค่าลงเกือบ 10% กลับมาอยู่ในระดับค่าเฉลี่ยระยะยาว ส่วนทองคำกลายเป็นสินทรัพย์ที่โดดเด่น โดยราคาทะยานขึ้นถึง 30% เนื่องจากนักลงทุนต้องการป้องกันความเสี่ยง ท่ามกลางความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์และความไม่แน่นอนด้านนโยบาย

  • ในช่วงครึ่งหลังของปี 2025 ตลาดอาจมีการพักตัวเชิงกลยุทธ์ (Tactical Pause) หรือ Rotation ออกจากการลงทุนที่ค่อนข้างกระจุกตัว เราเชื่อว่าปัจจัยเชิงโครงสร้างภายใต้ Framework ‘FAT’ ยังคงเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญสำหรับมุมมองระยะกลาง แต่ในระยะสั้น ตลาดอาจได้รับอิทธิพลจากปัจจัยตามฤดูกาลและกลยุทธ์การจัดพอร์ตของนักลงทุนในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา เมื่อการซื้อหุ้นคืนของบริษัทสหรัฐชะลอตัวลงตามฤดูกาล ทำให้แรงหนุนสำคัญของตลาดหุ้นสหรัฐเริ่มลดลง ขณะเดียวกัน การถือครองหุ้นยุโรปและทองคำก็เริ่มกระจุกตัวมากขึ้น ซึ่งอาจทำให้สินทรัพย์ทั้งสองประเภทนี้เสี่ยงต่อการถูกเทขาย และหากเกิดการปรับฐานขึ้นจริง เราอาจเห็นการ Rotation กลับเข้าสู่สินทรัพย์ที่ทำผลงานได้ต่ำกว่าตลาดโดยรวมในปีนี้ เช่น กลุ่ม Magnificent Seven ซึ่งไม่ได้เกิดจากการฟื้นตัวในวงกว้างของตลาด แต่เป็นเพราะนักลงทุนกำลังปรับสมดุลพอร์ตที่อาจกระจุกตัวเกินไปในบางกลุ่ม

  • ในช่วง Q3/2025 อาจเกิดความผันผวนระยะสั้น แต่ก็อาจเป็นจังหวะเข้าซื้อ ไม่ใช่สัญญาณขาย เมื่อบางสินทรัพย์เริ่มมี Valuation ตึงตัวเกินไป (เช่น หุ้นยุโรป) ขณะที่ บางสินทรัพย์ (เช่น หุ้นเทคโนโลยีสหรัฐ) ยังปรับตัวขึ้นน้อยกว่าตลาดโดยรวม ทำให้ช่วงนี้อาจเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการทยอยลงทุน แม้การลงทุนแบบ DCA จะเหมาะกับการลงทุนในระยะยาว แต่ช่วงไม่กี่เดือนข้างหน้าอาจเป็นโอกาสในการ ‘เพิ่มน้ำหนัก’ ให้พอร์ต โดยเฉพาะในพอร์ตที่มีการกระจายการลงทุนที่ดีในเทรนด์ระยะยาว เช่น การเติบโตนอกสหรัฐ นวัตกรรมที่ขับเคลื่อนด้วย AI และบทบาทที่เพิ่มขึ้นของทองคำ ซึ่งหากมีปัจจัยกระตุ้นใหม่ๆ เกิดขึ้นในช่วงปลายปี ตลาดก็มีโอกาสที่จะกลับมาปรับตัวสูงขึ้นอีกครั้ง ดังนั้น การใช้ช่วงเวลาที่ตลาดพักฐานให้เป็นประโยชน์ อาจได้ผลดีกว่าการไล่ตามตลาดที่ปรับตัวขึ้นไปแล้ว

H1/2025: การ Rotation ครั้งใหญ่ออกจากสินทรัพย์สหรัฐ

ในช่วงครึ่งแรกของปี 2025 ถือเป็นจุดกลับตัวสำคัญของแนวคิด ‘US Exceptionalism’ เมื่อภาพความเป็นผู้นำที่แข็งแกร่งของตลาดหุ้นสหรัฐและค่าเงินดอลลาร์ฯ เริ่มสั่นคลอนจากความปั่นป่วนที่เกิดขึ้นจากนโยบายของประธานาธิบดี Trump ดังนั้น เมื่อนักลงทุนเริ่มเทขายหุ้นเทคโนโลยีสหรัฐที่ได้รับความนิยมสูง และลดการถือครองเงินดอลลาร์ฯ ทำให้เกิด ‘Mean Reversion’ หรือการที่ราคาสินทรัพย์ต่างๆ กลับมาสู่ระดับปกติตามค่าเฉลี่ยในอดีตมากขึ้น เราจึงเริ่มเห็นความโดดเด่นของตลาดทั่วโลกมากขึ้น

แน่นอนว่าในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ดัชนี S&P 500 ของสหรัฐ ให้ผลตอบแทนดีกว่าตลาดอื่นๆ อย่างต่อเนื่อง เห็นได้จากสัดส่วนของดัชนี S&P 500 เทียบกับหุ้นโลก (ไม่รวมสหรัฐ) จากกราฟ 1 ซึ่งมีทิศทางเป็นขาขึ้นอย่างชัดเจน และช่องว่างนี้ยิ่งเพิ่มขึ้นสูงขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา จนเหนือกว่าระดับค่าเฉลี่ยในอดีตค่อนข้างมาก

แต่ในช่วงครึ่งแรกของปี 2025 นักลงทุนเริ่มตั้งคำถามต่อความ ‘พิเศษ’ ของสินทรัพย์สหรัฐ เมื่อดัชนีหุ้นโลกไม่รวมสหรัฐ ให้ผลตอบแทนถึง 16% YTD เมื่อเทียบกับดัชนี S&P 500 ที่ให้ผลตอบแทนเพียง 3%

ขณะที่ ดัชนีค่าเงินดอลลาร์ฯ (US Dollar Index) ได้ปรับตัวลงจากระดับสูงสุดในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา และปรับตัวกลับเข้าสู่ค่าเฉลี่ยระยะยาวตามที่เห็นในกราฟที่ 2 ซึ่งตามที่เราได้กล่าวไว้ใน CIO Insights: มุมมองระยะยาวหลัง Trump ประกาศ ‘Liberation Day’ ว่าการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์ฯ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะ Valuation ที่เริ่มตึงตัว รวมถึงการ Rotation ออกจากสินทรัพย์สหรัฐ แต่อีกด้านหนึ่งยังแสดงให้เห็นการปรับสมดุลเชิงโครงสร้างของเศรษฐกิจโลกที่กำลังเกิดขึ้น ซึ่งอาจนำไปสู่แนวโน้มการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์ฯ ในช่วงหลายเดือนหรือหลายปีข้างหน้า

ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงในตลาดหุ้นและตลาดเงิน ทองคำกลับเคลื่อนไหวสวนทาง โดยปรับตัวพุ่งขึ้นถึง 30% ในช่วงครึ่งปีแรก สาเหตุหลักมาจาก Demand ที่เพิ่มขึ้นในฐานะสินทรัพย์ป้องกันความเสี่ยง ท่ามกลางความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ที่เพิ่มสูงขึ้น และความไม่แน่นอนเกี่ยวกับนโยบายการคลังและการค้าทั่วโลก อย่างไรก็ตาม แม้ปัจจัยเชิงโครงสร้าง เช่น Demand จากธนาคารกลาง และบทบาทของทองคำในฐานะสินทรัพย์ทางเลือกแทนที่พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ จะยังคงสนับสนุนแนวโน้มของทองคำในระยะยาว แต่ Momentum ของราคาทองคำก็เริ่มชะลอและทรงตัวมาตั้งแต่กลางเดือน เม.ย.

H2/2025: การปรับสมดุลระยะสั้น ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงระยะยาว

เมื่อเราก้าวเข้าสู่ช่วงครึ่งหลังของปี 2025 คำถามสำคัญคือ การปรับฐานของตลาดในช่วงที่ผ่านมาเป็นเพียงเหตุการณ์ชั่วคราวเนื่องจากมี Valuation และการเก็งกำไรค่อนข้างสูง หรือจะเป็นสัญญาณของการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างที่ลึกซึ้งกว่านั้น ซึ่งแม้เราจะมองว่าบางส่วนเป็นการปรับฐานระยะสั้น แต่ส่วนใหญ่เป็นการสะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างมากกว่า

ทั้งนี้เป็นเพราะว่าการเคลื่อนไหวของตลาดหลายครั้งที่เกิดขึ้น เช่น การ Rotation ไปยังหุ้นนอกสหรัฐ หรือการพุ่งขึ้นของราคาทองคำ ได้สะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงที่ลึกซึ้งในด้านเศรษฐกิจ ภูมิรัฐศาสตร์ และเทคโนโลยี ซึ่งไม่น่าจะหมดไปในเร็ววันนี้

  • นโยบายการคลังแบบขยายตัวยังคงมีอิทธิพลต่อเศรษฐกิจโดยรวม ความพยายามของรัฐบาลสหรัฐในการควบคุมการใช้จ่ายและเพิ่มรายได้ภาครัฐยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร โดยมาตรการของ DOGE ประหยัดงบได้เพียง 180,000 ล้านดอลลาร์ฯ จากเป้าหมายเดิม 1 ล้านล้านดอลลาร์ฯ ขณะที่การจัดเก็บภาษีนำเข้าเพิ่มขึ้น 3 เท่า มาอยู่ที่ 23,000 ล้านดอลลาร์ฯ ต่อเดือนในเดือน พ.ค. แต่ก็ยังถือเป็นส่วนน้อยเมื่อเทียบกับตัวเลขขาดดุล 1.4 ล้านล้านดอลลาร์ฯ ขณะเดียวกัน ร่างกฎหมาย ‘One Big Beautiful Bill’ ที่ Trump เสนอ ก็มีแนวโน้มว่าจะเพิ่มภาระขาดดุลอีก 2.5 ล้านล้านดอลลาร์ฯ ในทศวรรษหน้า หมายความว่า การใช้จ่ายภาครัฐในระดับสูงจะยังคงดำเนินต่อไป
  • ผลกระทบของ AI ที่มีต่อโลกและตลาดกำลังขยายวงกว้างขึ้น เดิมทีผู้นำในเทรนด์ AI คือ หุ้นกลุ่มฮาร์ดแวร์ แต่ปัจจุบัน เราเริ่มเห็นผลตอบแทนขยายไปยังกลุ่มซอฟต์แวร์และบริการที่นำ AI มาใช้งานจนสร้างผลตอบแทนสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ซึ่งการที่ AI ช่วยเพิ่ม Productivity และกำไรในหลากหลายกลุ่มธุรกิจ ยิ่งตอกย้ำว่า AI ไม่ใช่เพียงแค่กระแสชั่วคราว แต่เป็นแรงขับเคลื่อนเชิงโครงสร้างในระยะยาว

หลังจากที่ตลาดปรับตัวขึ้นแรงในช่วงครึ่งปีแรก แต่ใน Q3/2025 อาจเป็นช่วงเวลาของการ ‘พักฐาน’ ซึ่งไม่ใช่เพราะมุมมองระยะยาวเปลี่ยนไป แต่เป็นเพราะ (1) ปัจจัยบวกที่เคยหนุนตลาดก่อนหน้านี้ เช่น การซื้อหุ้นคืนของบริษัทเริ่มน้อยลง และ (2) ความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นจากการลงทุนในสินทรัพย์ที่มีการกระจุกตัวสูง ซึ่งเราจะอธิบายเพิ่มเติมในส่วนถัดไป

หุ้นสหรัฐอาจได้รับแรงหนุนน้อยลงในช่วง Q3 เพราะการซื้อหุ้นคืนของบริษัทเริ่มลดลง

หนึ่งในแรงขับเคลื่อนสำคัญที่ช่วยหนุนตลาดหุ้นหลังการประกาศ ‘Liberation Day’ โดยเฉพาะในสหรัฐ คือการซื้อหุ้นคืนของบรรดาบริษัทขนาดใหญ่ โดยการที่บริษัทซื้อหุ้นของตนเองคืน จะทำให้จำนวนหุ้นในตลาดลดลง ซึ่งจะช่วยสนับสนุนราคาหุ้น โดยในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา แรงหนุนจากการซื้อหุ้นคืนมีมากเป็นพิเศษ โดยคิดเป็นมูลค่าราว 250,000-300,000 ล้านดอลลาร์ฯ ในเดือน เม.ย. และเกือบ 200,000 ล้านดอลลาร์ฯ ในเดือนพ.ค. ซึ่งมีส่วนช่วยผลักดันตลาดให้ปรับตัวขึ้น

อย่างไรก็ตาม การซื้อหุ้นคืนมักจะเบาบางลงในช่วง Q3 ซึ่งเป็นรูปแบบที่เราเคยเห็นมาก่อนในช่วงหลายปีที่ผ่านมา แม้การชะลอตัวลงนี้จะไม่ได้บ่งชี้ว่าตลาดจะกลับตัวลง แต่ก็อาจนำไปสู่การ ‘พักฐาน’ โดยเฉพาะหากปัจจัยพื้นฐาน เช่น ข้อมูลเศรษฐกิจหรือผลประกอบการของบริษัท ไม่สามารถกระตุ้นตลาดได้ในระยะสั้น

สินทรัพย์ยอดนิยมอาจเผชิญแรงขาย

แบบสำรวจผู้จัดการกองทุนทั่วโลก แสดงให้เห็นว่าบรรดาผู้จัดการกองทุนมีความระมัดระวังมากขึ้นในระยะสั้น โดยเฉพาะในสินทรัพย์ที่มีการลงทุนค่อนข้าง ‘กระจุกตัว’ เพราะเมื่อผู้จัดการกองทุนให้น้ำหนัก Overweight สินทรัพย์ใดสินทรัพย์หนึ่ง หมายความว่า พวกเขาจะถือครองสินทรัพย์นั้นมากกว่าปกติ และเมื่อนักลงทุนจำนวนมากเข้ามาถือครองด้วย การลงทุนในสินทรัพย์เหล่านี้ก็อาจกลายเป็นความเสี่ยง หากเกิดแรงขายพร้อมกันขึ้นมา

ปัจจุบัน ผลสำรวจผู้จัดการกองทุนล่าสุดของ Bank of America แสดงให้เห็นว่า นักลงทุนมีสถานะ Overweight หุ้นยุโรปมากที่สุด ซึ่งได้รับแรงหนุนจากความคาดหวังเกี่ยวกับแผนการใช้จ่ายของรัฐบาล ขณะเดียวกันก็มีสถานะ Underweight หุ้นสหรัฐมากที่สุด (ดูกราฟ 4) 

(อ่านเพิ่มเติมได้ใน CIO Insights: นโยบายการคลังจะช่วยติดเครื่องเศรษฐกิจยุโรปได้จริงหรือไม่?)

การที่ราคาหุ้นนอกสหรัฐปรับตัวขึ้นเร็วในบางตลาด อาจทำให้ราคาหุ้นนำหน้าปัจจัยพื้นฐานไปพอสมควร ซึ่งอาจทำให้เกิดความเสี่ยงของการปรับฐาน หากผลประกอบการหรือข้อมูลเศรษฐกิจไม่เป็นไปตามคาด ซึ่งโดยปกติแล้ว หุ้นสหรัฐมักมี Valuation สูงกว่าหุ้นภูมิภาคอื่น แต่ช่องว่างนี้เริ่มแคบลงอย่างชัดเจนในปีนี้ (ดูกราฟ 5) ดังนั้น หุ้นนอกสหรัฐอาจมีความน่าดึงดูดน้อยลง โดยเฉพาะหากกำไรของบริษัทในสหรัฐยังคงแข็งแกร่ง

ในทางกลับกัน หากหุ้นสหรัฐมี Valuation ถูกลง โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับสถิติย้อนหลัง ก็อาจเป็นการเปิดโอกาสให้ราคาหุ้นฟื้นตัวกลับขึ้นมาได้ รวมถึงหุ้นเทคโนโลยีขนาดใหญ่ที่ทำผลตอบแทนต่ำกว่าตลาดโดยรวมในปีนี้

นอกเหนือจากตลาดหุ้น ทองคำถือเป็นสินทรัพย์ที่โดดเด่นในปีนี้ อย่างไรก็ตาม 41% ของผู้จัดการกองทุนมองว่าการถือทองคำเป็นการลงทุนที่ได้รับความนิยมมากที่สุด มากกว่าหุ้นกลุ่ม Magnificent Seven และหุ้นยุโรป แม้ตัวเลขนี้จะลดลงจาก 58% ในเดือน พ.ค.แต่ก็ยังถือว่าสูงเมื่อเทียบกับกลยุทธ์การลงทุนอื่นๆ (ดูกราฟ 6)

ความนิยมในทองคำนี้ อาจกลายเป็นแรงต้านระยะสั้น โดยเฉพาะเมื่อราคาทองปรับตัวขึ้นมาแล้วกว่า 60% ในช่วง 18 เดือนที่ผ่านมา หากปัจจัยโดยรวมเกิดการเปลี่ยนแปลง เช่น ความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์เริ่มคลี่คลาย หรือเงินดอลลาร์ฯ กลับมาแข็งค่าขึ้น ทองคำก็อาจเผชิญแรงขายและการปรับฐานได้เช่นกัน

ใน Q3 นักลงทุนอาจมีการปรับพอร์ตบ้าง แต่ธีมหลักยังคงเหมือนเดิม

เรายังยืนยันว่า แม้จะมีการปรับฐานระยะสั้นเกิดขึ้น แต่ก็ไม่ได้ขัดแย้งกับมุมมองการลงทุนระยะยาวของเรา เพราะเราเชื่อว่าปัจจัยหลักภายใต้ Framework ‘FAT’ ได้แก่ การขยายตัวของนโยบายการคลัง (Fiscal Expansion) ความก้าวหน้าของ AI (AI Advancement) และนโยบายของ Trump (Trump’s Policy Agenda) จะยังคงเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญของวัฏจักรเศรษฐกิจรอบถัดไป

โดยเฉพาะในระยะยาว เราอาจได้เห็นโอกาสการลงทุนที่หลากหลายมากขึ้น เช่น

  • หุ้นนอกสหรัฐ อาจยังได้รับความสนใจ เมื่อโอกาสเติบโตระยะยาวเริ่มเปิดกว้างในตลาดอื่นๆ ทั่วโลก
  • ทองคำ อาจมีบทบาทสำคัญในพอร์ตมากขึ้น ไม่ใช่แค่ในฐานะสินทรัพย์ป้องกันความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์ แต่ยังรวมถึงแรงซื้อเชิงโครงสร้างจากธนาคารกลาง และความกังวลเรื่องหนี้ของรัฐบาลสหรัฐที่เพิ่มสูงขึ้น
  • ผลกระทบจาก AI กำลังขยายวงกว้างไปไกลกว่าหุ้นกลุ่ม Magnificent Seven โดยผู้ชนะกลุ่มต่อไปน่าจะเป็นบริษัทที่สามารถนำ AI มาเพิ่มรายได้หรือลดต้นทุนได้

(อ่านเพิ่มเติมได้ใน CIO Insights: มุมมองระยะยาวหลัง Trump ประกาศ ‘Liberation Day’)

ปกติแล้ว ตลาดมักมีความผันผวนอยู่เสมอ โดยเฉพาะในช่วงที่มีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ โดยสิ่งที่เรากำลังเห็นในตอนนี้ คือ สินทรัพย์บางประเภทที่มี Valuation ค่อนข้างตึงตัว อาจมีการปรับฐาน ซึ่งเป็นกระบวนการปกติที่ตลาดใช้เพื่อปรับตัวเท่านั้น ไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงแนวโน้มหลัก

สำหรับนักลงทุน สถานการณ์ปัจจุบันต้องอาศัย ‘ความอดทน’ และ ‘กลยุทธ์ระยะยาว’ แทนที่จะไล่ตามความเคลื่อนไหวในระยะสั้น นักลงทุนควรให้ความสำคัญกับการสร้างพอร์ตที่สามารถคว้าโอกาสได้จากทุกตลาดและสถานการณ์ ซึ่งหมายถึงการลงทุนอย่างต่อเนื่องในพอร์ตที่มีการกระจายการลงทุนที่ดีทั่วโลก และใช้จังหวะการย่อตัวเพื่อถัวเฉลี่ยต้นทุน (DCA) ในธีมการลงทุนระยะยาว

เมื่อมองไปข้างหน้า แรงขับเคลื่อนรอบใหม่ของตลาดอาจต้องอาศัยปัจจัยกระตุ้นชุดใหม่ ไม่ว่าจะเป็นการชะลอตัวทางเศรษฐกิจที่เปิดทางให้ธนาคารกลางกลับมาใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายมากขึ้น หรือการคลี่คลายปัญหาการค้าโลก หรือการนำ AI มาใช้อย่างกว้างขวางมากขึ้น ซึ่งจนกว่าจะถึงจุดนั้น ตลาดก็อาจยังไม่มีทิศทางชัดเจนในช่วงที่นักลงทุนกำลังเฝ้ารอเพื่อรับมือกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อไป

หมายเหตุ:

การลงทุนมีความเสี่ยง โปรดทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน และความเสี่ยง ก่อนตัดสินใจลงทุน; ผลการดำเนินงานในอดีตไม่ได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต; การลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศมีความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน

ข้อมูลนี้ไม่ถือเป็นคำเสนอ คำแนะนำ คำเชื้อเชิญ หรือการชักชวนให้ท่านซื้อผลิตภัณฑ์ทางการเงิน หรือเข้าทำธุรกรรมใดๆ

ข้อมูลนี้ไม่ได้จัดเตรียมขึ้นโดยคำนึงถึงสถานการณ์ส่วนบุคคลของท่าน (เช่น วัตถุประสงค์การลงทุน สถานการณ์ทางการเงิน หรือความต้องการโดยเฉพาะ) ท่านควรขอคำแนะนำจากที่ปรึกษาด้านการเงิน บัญชี ภาษี กฎหมาย และด้านอื่นๆ ของท่านเอง


แชร์บทความนี้

  • linkedin
  • facebook
  • twitter
  • email

อยากอ่านเพิ่ม?

เราหวังว่าคุณจะได้ประโยชน์ จากบทความของเรา

ร่วมเป็นส่วนหนึ่งกับผู้คนอีกหลายแสนคนที่ต้องการวางแผนการเงินและการลงทุนอย่างยั่งยืนด้วยการสมัครรับบทความและบทวิเคราะห์ของเราที่จะส่งตรงถึงอีเมลของคุณ