จะลงทุน AI อย่างไร ในฐานะนักลงทุนระยะยาว

23 June 2023
Stephanie Leung
Group CIO

แม้กระแส AI จะมาแรงในกลุ่มนักลงทุน แต่โอกาสการเติบโตแบบก้าวกระโดดจะมาให้เห็นต่อเมื่อเราเล่นเกมนี้ในระยะยาว

ความสนใจในหุ้นที่เกี่ยวข้องกับ AI เป็นปัจจัยหลักที่ทำให้ตลาดหุ้นปรับตัวขึ้นอย่างรวดเร็วในปีนี้ แต่ศักยภาพในการเติบโตของเทรนด์นี้ยังมีอีกมาก ทำให้โอกาสในระยะยาวของนักลงทุนยังคงเปิดกว้าง ซึ่ง CIO Insights ในเดือนนี้ จะเปิดมุมมองเพื่อให้เห็นภาพมากขึ้นว่าการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีครั้งสำคัญนี้จะส่งผลกับพวกเราทุกคนอย่างไร และโอกาสในการลงทุนจะมีอะไรบ้าง

3 Key Takeaways มีดังนี้

  • ราคาหุ้นเทคโนโลยีขนาดใหญ่บางตัวปรับตัวขึ้นอย่างมาก ทำให้นักลงทุนบางส่วนเกิดความกังวลว่าฟองสบู่กำลังก่อตัวขึ้นในธุรกิจ AI หรือไม่ แต่ข้อมูลตลาดโดยรวมแสดงให้เห็นว่าไม่เป็นเช่นนั้น
  • การนำ AI มาใช้จะส่งผลในวงกว้างทั้งในภาคเศรษฐกิจ ธุรกิจ และบริษัทต่างๆ ซึ่งถือเป็นโอกาสที่สำคัญสำหรับนักลงทุนในระยะยาว 
  • ในแง่การลงทุน บริษัทเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนา AI คือ ผู้รับประโยชน์โดยตรง ข่าวดี คือ หากคุณลงทุนในดัชนีหุ้นโดยรวม คุณจะมี Exposure ในเทรนด์นี้เรียบร้อยแล้ว

เบื้องหลังการปรับตัวขึ้นของหุ้นเทคโนโลยี

การปรับตัวขึ้นของหุ้นเทคโนโลยีขนาดใหญ่ตั้งแต่ช่วงต้นปีส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากปัจจัยมหภาค ได้แก่

  • การที่ตลาดคาดการณ์ว่า Fed จะหยุดวงจรดอกเบี้ยขาขึ้น
  • สภาพคล่องที่ดีขึ้น หลังธนาคารกลางต่างๆ เร่งเยียวยาสถานการณ์ความวุ่นวายในกลุ่มธนาคาร
  • นักลงทุนต่างหันมาหลบภัยในบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ที่ถือเงินสดจำนวนมหาศาล

ตลอดช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา นักลงทุนจำนวนมากได้เข้าไปลงทุนในบริษัทที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนา AI ส่งผลให้ราคาหุ้นปรับตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว เห็นได้จากหุ้น Microsoft ที่ปรับตัวขึ้น 40% ในปีนี้ เนื่องจากผลกำไรที่แข็งแกร่ง รวมถึงความคาดหวังของนักลงทุนที่มองว่าการลงทุนใน OpenAI ซึ่งเป็นผู้พัฒนา ChatGPT จะส่งผลให้กำไรในอนาคตของบริษัทเติบโตมากขึ้นไปอีก ขณะที่หุ้นของผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์ยักษ์ใหญ่อย่าง Nvidia พุ่งสูงขึ้นเกือบ 200% แล้วตั้งแต่ต้นปี เพราะนักลงทุนเชื่อว่าผลิตภัณฑ์และบริการของบริษัทจะได้รับประโยชน์อย่างยิ่งจากการเติบโตของ AI  

แต่หากเราไม่นับหุ้นกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีที่ปรับตัวขึ้น ผลตอบแทนของดัชนี S&P 500 จะอยู่ในลักษณะแบนราบหรือติดลบด้วยซ้ำ ขณะที่การปรับตัวขึ้นของ Nasdaq ซึ่งเป็นดัชนีที่มีบริษัทเทคโนโลยีเป็นส่วนประกอบสำคัญ ผลตอบแทนจะลดเหลือเพียงแค่ครึ่งเดียวเท่านั้น เห็นได้จากข้อมูลด้านล่าง

แม้จะเป็นกระแสที่มาแรง แต่ตัวเลขบอกว่า AI ไม่ได้อยู่ในฟองสบู่

ความตื่นเต้นกับ AI ในช่วงที่ผ่านมาทำให้ราคาหุ้นปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากนักลงทุนเริ่มมองเห็นศักยภาพของเทคโนโลยีนี้ที่จะช่วยให้บริษัททำกำไรมากขึ้นได้ในอนาคต เห็นได้จากค่า P/E ล่วงหน้า 12 เดือน (ค่าที่สะท้อนการประเมินมูลค่าของนักลงทุนตามศักยภาพการทำกำไรในอนาคต) ของ Microsoft เพิ่มสูงขึ้นถึง 35 เท่า ส่วน P/E ล่วงหน้า 12 เดือนของ Nvidia เมื่อปลายเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา ขึ้นไประดับสูงสุดที่เกือบ 65 เท่า

ขณะที่ ราคาหุ้นบางตัวอาจปรับขึ้นมามาก แต่ข้อมูลแสดงให้เห็นว่าตลาดโดยรวมยังไม่อยู่ในภาวะฟองสบู่และยังอยู่ในราคาที่สมเหตุสมผล โดยค่า P/E ล่วงหน้าของดัชนี Nasdaq ปรับตัวขึ้นมาอยู่ที่ 28 เท่า ในช่วงกลางเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา จากจุดต่ำสุดเมื่อปีที่แล้วที่ระดับ 20 เท่า ค่าดังกล่าวยังต่ำกว่าระดับสูงสุดครั้งล่าสุดในปี 2021 ที่ 32 เท่า และยังต่ำกว่าระดับที่เคยเกิดขึ้นในช่วงฟองสบู่ดอทคอมที่ 75 เท่า ส่วนดัชนี S&P 500 ปรับขึ้นมาอยู่ที่ 20 เท่า ซึ่งไม่ไกลจากค่าเฉลี่ยระยะยาวที่ 18 เท่า

มองภาพใหญ่: AI คือ เทคโนโลยีเปลี่ยนโลก

AI จะสร้างความเปลี่ยนแปลงได้เหมือนครั้งที่โลกเปลี่ยนผ่านสู่ยุคอินเทอร์เน็ตได้หรือไม่ สิ่งหนึ่งที่ชัดเจน คือ AI มีแนวโน้มสร้างการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญต่อสังคมและเศรษฐกิจเหมือนที่เราเริ่มเห็นกันในปัจจุบัน เทคโนโลยีนี้เป็นส่วนสำคัญของสิ่งที่นักวิเคราะห์เรียกว่า การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 ซึ่งนวัตกรรมใหม่เหล่านี้จะเปลี่ยนรูปแบบการทำงานของผู้คน วิธีสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ของบริษัท รวมถึงการเติบโตทางเศรษฐกิจ

พลิกโฉมตลาดแรงงาน

คาดกันว่า การพัฒนา AI ในช่วงไม่นานมานี้ จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในตลาดแรงงานทั่วโลก งานวิจัยจาก Goldman Sachs แสดงให้เห็นว่า ตำแหน่งงาน 300 ล้านตำแหน่งอาจถูกทดแทนด้วยระบบอัตโนมัติ แม้บางส่วนจะถูกทดแทนโดยสมบูรณ์ แต่ AI จะกลายมาเป็นเครื่องมือช่วยเหลือแรงงานมากกว่าทดแทน โดยผลสำรวจจาก World Economic Forum ที่มองไปในทิศทางเดียวกัน ระบุว่าบริษัทราว 50% คาดว่า AI จะทำให้เกิดการจ้างงานสุทธิเพิ่มขึ้น โดยมีเพียง 25% ที่มองว่าจะทำให้ตำแหน่งงานลดลง 

ท้ายที่สุดแล้วจะมีตำแหน่งงานใหม่ๆ เกิดขึ้น แต่งานเหล่านี้จะมีรูปแบบต่างไปจากในปัจจุบัน เห็นได้จาก งานวิจัยของ David Autor นักเศรษฐศาสตร์จาก MIT ซึ่งแสดงให้เห็นว่า 60% ของตำแหน่งงานที่มีในปัจจุบันนั้นไม่เคยมีอยู่ในช่วงทศวรรษ 1940

เพิ่มกำไรบริษัทและส่งเสริมให้เกิดนวัตกรรม

สำหรับภาคธุรกิจ AI มีศักยภาพที่จะเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานอย่างเห็นได้ชัด ด้วยระบบอัตโนมัติและความสามารถในการวิเคราะห์ข้อมูลมหาศาลได้อย่างรวดเร็ว สิ่งเหล่านี้ทำให้บริษัทต่างๆ ตัดสินใจได้เร็วขึ้น ลดค่าใช้จ่ายได้มากขึ้นและในท้ายที่สุดจะทำให้กำไรเพิ่มมากขึ้น โดย Goldman Sachs ประเมินว่า Generative AI สามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานได้ 1.5% ต่อปีตลอดทศวรรษหน้า ซึ่งอาจทำให้กำไรของบริษัทในดัชนี S&P 500 เพิ่มขึ้นถึง 30% ในช่วงเวลาดังกล่าว

กระตุ้นเศรษฐกิจในวงกว้าง

ในระยะยาว การเติบโตทางเศรษฐกิจจะมาจาก 3 ปัจจัยหลัก ได้แก่ เงินทุน แรงงาน และประสิทธิภาพในการทำงาน (Productivity) หากเรามองให้ลึกลงไปจะเห็นว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจจะเกิดขึ้นเมื่อเทคโนโลยีใหม่ๆ สามารถช่วยให้แรงงานหรือเครื่องจักรเพิ่มผลิตผลโดยใช้ด้วยจำนวนทรัพยากรเท่าเดิม สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นให้เราเห็นเมื่อมีการพัฒนา เครื่องจักรไอน้ำ และอินเทอร์เน็ต หากเป็นเช่นนั้น คาดกันว่า AI จะช่วยเพิ่ม GDP ทั่วโลกได้หลายล้านล้านดอลลาร์ โดย Goldman Sachs คาดว่า AI จะช่วยเพิ่ม GDP ได้มากถึง 7% หรือคิดเป็นเงิน 7 ล้านล้านดอลลาร์ ตลอดช่วงทศวรรษหน้า ส่วนงานวิจัยเมื่อเร็วๆ นี้ของ McKinsey ประเมินว่า Generative AI จะช่วยเพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจโลก 4.4 ล้านล้านดอลลาร์ต่อปี ซึ่งมากกว่า GDP ของสหราชอาณาจักรในปี 2021

การนำ AI มาใช้ประโยชน์มากขึ้นนี้ยังมาในช่วงเวลาที่เหมาะสม เพราะจำนวนประชากรผู้สูงอายุในหลายๆ ประเทศ เช่น เกาหลีใต้ สิงคโปร์ และญี่ปุ่น กำลังสร้างแรงกดดันต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ นับเป็นโชคดีที่บริษัทและรัฐบาลของประเทศเหล่านี้ได้มุ่งหน้าสู่ยุคหุ่นยนต์เรียบร้อยแล้ว โดยค่า Robot Density (จำนวนหุ่นยนต์ทำงานต่อแรงงาน 100 คน) ในประเทศเหล่านี้อยู่ที่ 10x 6.7x และ 4x ตามลำดับ ซึ่งมากกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกที่ 1.4x

การนำ AI มาใช้ยังนับว่าอยู่ในช่วงเริ่มต้น เห็นได้จากกราฟ S-curve ด้านล่าง ซึ่งแสดงให้เห็นเส้นทางการเป็นที่ยอมรับ (Adoption) ของเทคโนโลยีและเทรนด์ต่างๆ และ AI นั้นอยู่ในช่วงสุดท้ายของ Early Adopters ซึ่งก็ใกล้ถึงจุดเปลี่ยนที่สำคัญที่จะเติบโตแบบก้าวกระโดด

นักลงทุนจะได้รับประโยชน์จากเทรนด์นี้อย่างไร

เช่นเดียวกับการพัฒนาเทคโนโลยีที่น่าตื่นตาตื่นใจอื่นๆ ในช่วงเริ่มต้น ผลตอบแทนส่วนใหญ่จะมาจากบริษัทและภาคธุรกิจที่ได้รับประโยชน์โดยตรงจาก AI ในกรณีนี้ มีบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่เพียงไม่กี่แห่งที่จะเป็นผู้ชนะอย่างเด็ดขาดในระยะสั้น เนื่องจากบริษัทเหล่านี้สามารถทุ่มเม็ดเงินจำนวนมหาศาลเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีต้นทุนสูงอย่าง โมเดลภาษาขนาดใหญ่ (LLM) ที่เป็นส่วนสำคัญของ Generative AI

อย่างไรก็ตาม เมื่อ AI ถูกใช้ในวงกว้างมากขึ้น ผู้ได้รับประโยชน์รายต่อไปจะเป็นบริษัทและภาคธุรกิจข้างเคียง เช่น Supply Chain ของบริษัทเทคโนโลยีต่างๆ หรือบริษัทที่สามารถปรับใช้เทคโนโลยีนี้ได้อย่างรวดเร็ว เช่น ธุรกิจให้บริการผู้บริโภคหรือบริการด้านการเงิน

ข่าวดี คือ การลงทุนในดัชนีหุ้นโดยรวมมี Exposure ในบริษัทเหล่านี้อยู่แล้ว โดยเราประเมินว่า อุตสาหกรรมเทคโนโลยีและธุรกิจใกล้เคียงมีสัดส่วนถึง 46% ของดัชนี MSCI China และ 42% ของดัชนี S&P 500

การลงทุนใน AI คือ เกมระยะยาว

หนึ่งใน Takeaway ที่สำคัญของเรา คือ ในช่วงเริ่มต้นของเทคโนโลยีอย่าง AI นั้นเป็นเรื่องยากมากที่จะเลือกผู้ชนะ อย่างไรก็ดี ตามข้อมูลด้านบน หากคุณลงทุนในดัชนีหุ้นโดยรวมเหมือนในพอร์ต General Investing ของเรา คุณจะมี Exposure ในเทรนด์นี้อยู่แล้ว ยิ่งไปกว่านั้น ดัชนีเหล่านี้เป็นดัชนีตามมูลค่า หรือ Market Capitalisation-weighted Index ซึ่งจะปรับเพิ่ม-ลดบริษัทหรือปรับสัดส่วนตามการเปลี่ยนแปลงของมูลค่าตลาด ดังนั้นหากคุณ Stay Invested คุณจะมี Exposure ในบริษัทที่อาจเป็นผู้ชนะในอนาคตตามกลไกนี้

อย่างไรก็ตาม หากคุณสนใจการลงทุนใน AI โดยเฉพาะ Flexible Portfolio ของเรา มีประเภทสินทรัพย์ในกลุ่มธุรกิจนี้ เช่น คลาวด์คอมพิวติ้ง หรือเซมิคอนดักเตอร์ ขณะที่ธีม Technology Enablers ใน Thematic Portfolio ของเรา ยังมีการลงทุนที่เน้น AI และกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้องมากยิ่งขึ้น ควบคู่ไปกับ ‘สินทรัพย์ปรับสมดุล’ เช่น ทองคำ ซึ่งช่วยลดผลกระทบจากตลาดขาลงได้ด้วย

ช่วงเวลาที่เทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วอาจก่อให้เกิดความท้าทายในหลายๆ ด้าน แม้ในท้ายที่สุด เทคโนโลยีเหล่านี้จะทำให้คุณภาพชีวิตโดยรวมของพวกเราดีขึ้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้อาจดึงดูดให้นักลงทุนบางกลุ่มทุ่มเงินก้อนใหญ่ลงไปในเทรนด์นี้ แต่เราเชื่อว่าการ Stay Invested ในพอร์ตที่มีการกระจายการลงทุนที่ดีอย่างต่อเนื่อง ยังคงเป็นกลยุทธ์แห่งชัยชนะในยุคสมัยของ AI

หมายเหตุ:
การลงทุนมีความเสี่ยง โปรดทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน และความเสี่ยง ก่อนตัดสินใจลงทุน 


แชร์บทความนี้

  • linkedin
  • facebook
  • twitter
  • email

อยากอ่านเพิ่ม?

เราหวังว่าคุณจะได้ประโยชน์ จากบทความของเรา

ร่วมเป็นส่วนหนึ่งกับผู้คนอีกหลายแสนคนที่ต้องการวางแผนการเงินและการลงทุนอย่างยั่งยืนด้วยการสมัครรับบทความและบทวิเคราะห์ของเราที่จะส่งตรงถึงอีเมลของคุณ