Weekly Buzz: จากจีนสู่อินเดีย: เมื่อประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลกกำลังจะเปลี่ยนไป

🥇 เมื่ออินเดียจะกลายเป็นประเทศที่มีประชากรสูงที่สุดในโลก แต่เอเชียอาจต้องเจอกับ Demographic Cliff

หลายทศวรรษที่ผ่านมา จีนครองตำแหน่งประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลกมาตลอด แต่จากคาดการณ์ขององค์การสหประชาชาติ (UN) สถิตินี้ใกล้เข้าสู่จุดเปลี่ยนแล้ว

ข้อมูลจาก UN ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ระบุว่าภายในกลางปีนี้อินเดียจะมีจำนวนประชากรแตะ 1,429 ล้านคน ซึ่งจะสูงกว่าประเทศจีนแผ่นดินใหญ่ที่จะมีประชากรอยู่ 1,426 ล้านคน ขณะที่อเมริกาเหนือและประเทศในยุโรปมีจำนวนประชากรรวมอยู่ราว 1,100 ล้านคน ซึ่งเมื่อเทียบกับทั้งจีนหรืออินเดียแล้วยังมีจำนวนประชากรน้อยกว่า 300 ล้านคน

ทั้งนี้ รายงานนี้ได้ยืนยันแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของประชากรที่เราได้เห็นมาระยะหนึ่งแล้ว โดย UN คาดว่าการเติบโตของประชากรวัยหนุ่มสาวในอินเดียจะยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจนถึงจุดสูงสุดราวปี 2064 ในทางกลับกัน คาดว่าจำนวนประชากรของจีนจะลดลงต่อเนื่องหลังจากที่ได้ปรับลดลงครั้งแรกในปี 2022 โดย Shanghai Academy of Social Sciences คาดว่า ประชากรจีนอาจปรับลดลงเหลือ 587 ล้านคนในปี 2100 ซึ่งถือว่าลดลงเกินครึ่งจากจำนวนประชากรในปัจจุบัน

🧓 ความท้าทายของเอเชียตะวันออกเมื่อประชากรลดลง 

การเพิ่มขึ้นของประชากรอินเดียเป็นเพียงเหรียญด้านเดียวเท่านั้น เพราะในอีกด้านยังมี ‘Demographic Cliff’ (อ่านเพิ่มเติมได้ในศัพท์โลกการลงทุน) ซึ่งเป็นความท้าทายหลักของเศรษฐกิจในหลายประเทศในภูมิภาคนี้

ตัวอย่างที่น่าสนใจ: ญี่ปุ่น มีจำนวนผู้สูงวัยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและต้องเจอกับปัญหาจำนวนประชากรลดลงมานานกว่าสิบปี โดยข้อมูลจาก World Bank คาดว่าในปี 2050 ญี่ปุ่นจะมีสัดส่วนของประชากรวัยทำงาน (อายุ 15-64 ปี) ลดลงมาที่ 51% จากปัจจุบันที่ราว 59% ของประชากรทั้งหมด

ในระยะสั้น จำนวนวัยทำงานที่ลดลงเพิ่มอุปสรรคในการเข้าถึงแรงงานซึ่งเป็นความท้าทายหลักของหลายภาคธุรกิจในญี่ปุ่น โดยในระยะกลางถึงยาว ความท้าทายด้านประชากรจะเพิ่มอุปสรรคต่อระบบเศรษฐกิจ เพราะเมื่อ Supply ด้านแรงงานลดลงจะส่งผลต่อศักยภาพการผลิตของประเทศและจะฉุดรั้งการเติบโตทางเศรษฐกิจในท้ายที่สุด

ญี่ปุ่นไม่ใช่ประเทศเดียวที่ต้องเจอกับปัญหาประชากรสูงวัยที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยในปี 2025 คาดว่าทั้งเกาหลีใต้และไต้หวันจะเข้าสู่สังคมสูงอายุระดับสุดยอด (Super-aged Society) ซึ่งหมายถึง การมีประชากรผู้สูงอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป มากกว่า 20% ของประชากรทั้งหมด ซึ่งความท้าทายที่มาพร้อมกับสังคมสูงวัยเป็นสิ่งที่ประเทศอุตสาหกรรมต่างต้องเผชิญในระยะข้างหน้า

จากที่เราได้พูดถึงใน CIO Insights เดือน มี.ค. ปีที่แล้ว ว่าความต้องการเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การป้องกัน การวินิจฉัยและรักษาโรคในกลุ่มประชากรผู้สูงอายุจะมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งเท่ากับว่าค่าใช้จ่ายโดยรวมด้าน Healthcare จะเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย

หากคุณสนใจการลงทุนในนวัตกรรมและเทคโนโลยีด้านสุขภาพ สามารถลงทุนได้ผ่านธีม Healthcare Innovation ใน Thematic Portfolio ของเรา

👶 ประชากรวัยหนุ่มสาวของอินเดียคือกุญแจสำคัญต่ออนาคตของประเทศ 

จำนวนประชากรของอินเดียไม่เพียงแต่มีขนาดใหญ่แต่อยู่ในวัยหนุ่มสาว โดยปัจจุบัน เกินกว่า 50% ของประชากรมีอายุต่ำกว่า 30 ปี และประชากรกว่า 2 ใน 3 ยังอยู่ในวัยแรงงาน ซึ่งหากอินเดียสามารถสร้างโอกาสจาก Demographic Dividend นี้ได้ จะทำให้อินเดียปลดล็อกศักยภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพและอาจมีบทบาทมากขึ้นได้ในเวทีโลก

อย่างไรก็ตาม ความสัมพันธ์ระหว่างประชากรและการเติบโตทางเศรษฐกิจยังมีมิติที่ซับซ้อนอีกหลายด้าน โดยจำนวนประชากรวัยหนุ่มสาวที่กำลังเติบโตถือเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจ แต่หากเติบโตเร็วเกินไปอาจกลายเป็นอุปสรรคในการพัฒนาทางสังคมและเศรษฐกิจของประเทศได้ นอกจากนี้ หากมองลึกลงไปเราจะเห็นรายละเอียดที่แตกต่างกันเพราะในบางรัฐของอินเดียที่มีความเจริญและประชากรมีระดับการศึกษาสูงกว่า กลับพบว่าจำนวนประชากรเริ่มปรับลดลง

🌎 เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจในสัปดาห์ที่ผ่านมา

🪅 ไตรมาส 1 บริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ทำกำไรดีกว่าที่คาดการณ์ไว้ 

หุ้นกลุ่มเทคโนโลยีปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นมาตั้งแต่ต้นปีจากการที่นักลงทุนมองว่าบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่มีความปลอดภัยและหันไปลงทุนมากขึ้น โดยในสัปดาห์นี้ เราต่างเห็นแล้วว่านักลงทุนตัดสินใจถูกต้อง เพราะบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่อย่าง Meta, Microsoft และ Alphabet ได้ประกาศผลกำไรในไตรมาส 1 ซึ่งดีเกินคาดกว่าที่นักวิเคราะห์ได้คาดการณ์ไว้

👁️ ติดตามเงินเฟ้ออย่างต่อเนื่อง 

วันศุกร์ที่ผ่านมา มี 2 ตัวเลขชี้วัดสำคัญที่จะช่วยให้เราเข้าใจสถานการณ์เงินเฟ้อปัจจุบันได้ดีขึ้น คือ 1) ดัชนี Core PCE ซึ่งเป็นเครื่องมือชี้วัดที่ Fed เลือกใช้ และ 2) ดัชนี Employment Cost Index (ECI) ทั้งนี้ Bloomberg consensus คาดการณ์ไว้ว่าดัชนี Core PCE เดือน มี.ค. จะทรงตัวอยู่ที่ 0.3% MoM และดัชนี ECI จะแสดงให้เห็นอัตราค่าแรงที่ปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อย

ทั้งหมดนี้จะสะท้อนว่าแรงกดดันจากเงินเฟ้อที่ยืดเยื้อยังคงมีอยู่ และอาจเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้ Fed ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายฯ ในการประชุมครั้งถัดไปช่วงต้นเดือน พ.ค. ขณะที่ FOMC ได้ส่งสัญญาณว่ามีโอกาสที่จะหยุดการขึ้นอัตราดอกเบี้ยฯ หลังจากเดือน พ.ค. นี้

🎓 ศัพท์โลกการลงทุน: Demographic Cliff

Demographic Cliff คือ การเติบโตของจำนวนประชากรลดลงอย่างรวดเร็ว โดยเกิดจากปัจจัยด้านอายุขัยที่เพิ่มขึ้นและอัตราการมีลูกที่ลดลง ซึ่งอาจส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจชะลอตัวลงอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ข้อมูลในอดีตยังพบว่าเมื่อประเทศใดต้องเจอกับสถานการณ์ Demographic Cliff และจำนวนประชากรลดลงแล้ว อาจเป็นไปได้ยากที่อัตราการเติบโตของประชากรจะกลับมาเพิ่มขึ้นอีกครั้ง

ทั้งนี้ เมื่อเกิด Demographic Cliff ขึ้นอาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศ เนื่องจากจำนวนประชากรวัยทำงานมีไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาดแรงงาน ขณะเดียวกันกลุ่มคนวัยทำงานที่มีจำนวนน้อยกว่ายังต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายในการดูแลผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ Harry Dent นักเศรษฐศาสตร์ยังได้เสริมไว้ว่า Demographic Cliff อาจนำไปสู่ Consumption Cliff หรือ การบริโภคที่ลดลงอย่างรวดเร็ว เนื่องจากประชากรวัยทำงานซึ่งเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อสินค้าและบริการมีจำนวนน้อยลง

📅 ชมคลิปย้อนหลัง

ผลการดำเนินงาน Q1/2023 และ Q2 Market Outlook

Webinar ล่าสุดของเรา โดย Stephanie Leung, Group CIO และ Michele Ferrario, Co-founder และ Group CEO ของเราได้พูดคุยถึงผลการดำเนินงานในไตรมาสแรก และอัปเดตทิศทางตลาดในระยะข้างหน้าไปเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ชมย้อนหลังได้ที่นี่


แชร์บทความนี้

  • linkedin
  • facebook
  • twitter
  • email

อยากอ่านเพิ่ม?

เราหวังว่าคุณจะได้ประโยชน์ จากบทความของเรา

ร่วมเป็นส่วนหนึ่งกับผู้คนอีกหลายแสนคนที่ต้องการวางแผนการเงินและการลงทุนอย่างยั่งยืนด้วยการสมัครรับบทความและบทวิเคราะห์ของเราที่จะส่งตรงถึงอีเมลของคุณ