Weekly Buzz: ถนนทุกสายกำลังมุ่งหน้าสู่ ‘อินเดีย’ 🐅

ผลสำรวจผู้จัดการกองทุนล่าสุดจาก Bank of America พบว่า อินเดียขึ้นแท่นเป็นตลาดหุ้นที่นักลงทุนชื่นชอบมากที่สุดในทวีปเอเชีย โดยมีผู้จัดการกองทุนถึง 42% ที่เลือกให้อินเดียเป็นเป้าหมายหลัก แซงหน้าญี่ปุ่นที่ 39% และจีนที่มีเพียง 6% เท่านั้น
นับเป็นการพลิกสถานการณ์ครั้งสำคัญ เพราะเพียงไม่กี่เดือนก่อน ตลาดหุ้นอินเดียยังได้รับความนิยมน้อยที่สุดเป็นอันดับ 2 ของเอเชีย แต่หลังจากที่นักลงทุนต่างชาติขายหุ้นอย่างต่อเนื่องมาหลายเดือน พวกเขาก็กลับมา ‘ซื้อสุทธิ’ อีกครั้งในช่วงกลางเดือน เม.ย. โดยเฉพาะในวันที่ 24 วันเดียว ตลาดหุ้นอินเดียมีเงินทุนไหลเข้าถึง 345 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่งผลให้มูลค่าของตลาดหุ้นอินเดียเพิ่มขึ้นราว 489,000 ล้านดอลลาร์ฯ และขยับเข้าใกล้ระดับ 4.4 ล้านล้านดอลลาร์ฯ แล้ว

ทำไมอินเดียถึงน่าสนใจ? เหตุผลแรกคือ เศรษฐกิจอินเดียขับเคลื่อนด้วยตลาดในประเทศเป็นหลักและพึ่งพาการส่งออกค่อนข้างน้อย ทำให้มีความเสี่ยงจากสงครามการค้าน้อยกว่าหลายๆ ประเทศ นอกจากนี้ อินเดียยังมีแนวโน้มได้รับประโยชน์จากมาตรการภาษีนำเข้าทั่วโลก เช่น การที่ Apple มีแผนจะย้ายการประกอบ iPhone ที่จะส่งออกไปยังสหรัฐ มาที่อินเดียภายในปี 2026 ยิ่งไปกว่านั้น โครงสร้างประชากรของอินเดียที่มีแรงงานอายุน้อยจำนวนมาก รวมถึงชนชั้นกลางที่กำลังขยายตัวอย่างรวดเร็ว ยังเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญที่จะคอยหนุนศักยภาพการเติบโตของอินเดียในระยะยาว
อย่างไรก็ตาม การลงทุนในอินเดียก็ยังมีความท้าทาย เช่น ราคาหุ้นที่ค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ รวมถึงความตึงเครียดทางการเมืองกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างปากีสถาน แต่ถ้าหากคุณสนใจลงทุนในอินเดีย Flexible Portfolio ของเราช่วยให้คุณลงทุนในทุกภูมิภาคได้ตามต้องการ
💡 Investors’ Corner: อันดับเครดิตใหม่ของสหรัฐจะส่งผลอย่างไร?
สหรัฐเพิ่งโดน ‘หมัดฮุก’ เรื่องเครดิตเข้าเต็มๆ โดยล่าสุด Moody’s กลายเป็นบริษัทจัดอันดับเครดิตเจ้าใหญ่รายที่ 3 ที่ปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของสหรัฐ ต่อจาก Fitch ในปี 2023 และ S&P ตั้งแต่ปี 2011 ซึ่งแม้ว่าอันดับใหม่ ‘Aa1’ ของสหรัฐจะยังถือว่าแข็งแกร่ง แต่ก็เป็นสัญญาณเตือนว่าแม้แต่เศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่สุดในโลกก็ยังหนีไม่พ้นการถูกจับตามองเรื่องวินัยทางการคลัง
เกิดอะไรขึ้น?
การปรับลดอันดับของ Moody’s สะท้อนความกังวลเกี่ยวกับวินัยการคลังของสหรัฐ โดยเฉพาะในขณะที่รัฐสภาสหรัฐกำลังพิจารณามาตรการลดภาษีเงินได้ ซึ่งนักวิจารณ์เตือนว่าอาจเป็นการเพิ่มหนี้ให้รัฐบาลกลางอีกหลายล้านล้านดอลลาร์ฯ อธิบายให้เห็นภาพคือ สหรัฐเหมือนคนที่กำลังจะขอสมัครบัตรเครดิตเพิ่ม ในขณะที่เจ้าหนี้ยืนรออยู่หน้าประตู
ปัจจุบัน หนี้สาธารณะของสหรัฐ สูงถึง 36 ล้านล้านดอลลาร์ฯ หรือประมาณ 106,100 ดอลลาร์ต่อประชากร 1 คน โดย Moody’s คาดการณ์ว่า ภายในปี 2035 รัฐบาลอาจต้องใช้เงินจากรายได้ถึง 30% เพื่อไปจ่ายดอกเบี้ยเพียงอย่างเดียว

หลังจากข่าวดังกล่าว Yield พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 30 ปีพุ่งขึ้นเกิน 5% สะท้อนให้เห็นว่านักลงทุนเทขายสินทรัพย์ประเภทนี้ออกมา ขณะที่ตลาดหุ้นก็ปิดลบ และแม้ว่าอันดับเครดิตจะผลต่อการปล่อยกู้ แต่สหรัฐยังมีข้อได้เปรียบพิเศษจากสถานะของเงินดอลลาร์ฯ ที่ยังคงเป็นเงินสกุลหลักของโลก อย่างไรก็ตาม ข้อได้เปรียบนี้ก็อาจไม่ได้คงอยู่ตลอดไป และตลาดก็เริ่มสะท้อนความกังวลออกมาบ้างแล้ว
Key Takeaway
หากความเชื่อมั่นต่อวินัยการคลังของสหรัฐลดลง ก็อาจทำให้เงินดอลลาร์ฯ อ่อนค่า และเงินเฟ้อมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น รวมถึงความมั่นใจของผู้บริโภคที่อาจสั่นคลอนตามไปด้วย ปัจจัยเหล่านี้อาจทำให้ Fed ต้องคงดอกเบี้ยไว้ในระดับสูงต่อไป ซึ่งจะยิ่งสร้างแรงกดดันทางการคลังให้รัฐบาลสหรัฐมากกว่าเดิม แม้สถานการณ์ดังกล่าวจะยังไม่เกิดขึ้น แต่ในฐานะนักลงทุนระยะยาว เราก็ควรเฝ้าระวังเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด
ทั้งนี้ แม้สินทรัพย์สหรัฐจะยังเป็นส่วนสำคัญของพอร์ตทั่วโลก แต่การกระจายการลงทุนไปยังตลาดอื่นๆ จะช่วยลดความเสี่ยงจากการลงทุนแบบกระจุกตัวในประเทศใดประเทศหนึ่ง ซึ่งหากคุณกำลังมองหาพอร์ตที่มีกระจายการลงทุนที่ดีในหลากหลายสินทรัพย์ กลุ่มธุรกิจและภูมิภาค พอร์ต General Investing ของเรา อาจเป็นตัวเลือกที่เหมาะสม 😎
🎓 Simply Finance: อันดับเครดิต
อันดับเครดิต เปรียบเสมือนรายงานทางการเงินของรัฐบาลและบริษัทต่างๆ ที่แสดงให้เห็นความสามารถในการชำระหนี้ของผู้กู้ โดยสถาบันจัดอันดับอย่าง Moody’s และ S&P รวมถึง Fitch จะเป็นผู้ให้อันดับเหล่านี้ โดยอันดับที่ดีจะช่วยให้ต้นทุนการกู้ยืมต่ำลง เพราะผู้ให้กู้มองว่าผู้กู้มีความเสี่ยงต่ำ จึงคิดอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่า