ETF คืออะไร

01 March 2017

ETF หรือ Exchange-traded Fund เป็นกองทุนดัชนีที่ซื้อขายอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ ถ้าคุณอ่านประโยคนี้แล้วยังไม่ค่อยเข้าใจ ไม่ต้องกังวล เราจะอธิบายให้เข้าใจโดยแบ่งเป็นส่วนๆ

ก่อนอื่น เรามาทำความเข้าใจกันก่อนว่าดัชนีคืออะไร ดัชนีในความหมายของการลงทุนคือ ตัวเลขที่สะท้อนการเคลื่อนไหวของราคาหุ้นหรือหลักทรัพย์ที่ดัชนีนั้นอ้างอิง เช่น ดัชนี SET ที่เราได้ยินกันบ่อยๆ ก็คือดัชนีราคาหุ้นที่ซื้อ-ขายอยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ส่วนดัชนี S&P 500 เป็นดัชนีราคาหุ้นบริษัทขนาดใหญ่ 500 บริษัทที่ซื้อ-ขายอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ของสหรัฐอเมริกา ดัชนียังสามารถติดตามราคาสินทรัพย์ในหมวดธุรกิจต่างๆ ได้ด้วย เช่น ดัชนี S&P Technology Select Sector เป็นดัชนีราคาหุ้นของบริษัทเทคโนโลยีใน S&P 500 นอกจากนี้ ดัชนียังสามารถอ้างอิงกับราคาสินทรัพย์อื่นๆ ได้ เช่น ดัชนี FTSE World Government Bond ซึ่งเป็นดัชนีราคาพันธบัตรรัฐบาลจากมากกว่า 20 ประเทศทั่วโลก

แล้วกองทุนดัชนีคืออะไร กองทุนดัชนีก็คือกองทุนที่ลงทุนในหุ้นหรือหลักทรัพย์เพื่อให้ได้ผลตอบแทนใกล้เคียงกับดัชนีมากที่สุด เช่น กองทุนดัชนี S&P 500 ก็จะลงทุนในหลักทรัพย์ตามดัชนี S&P 500 โดยทั่วไปแล้ว กองทุนดัชนีจะเป็นกองทุนแบบ Passive ซึ่งเน้นการบริหารพอร์ตเพื่อให้มีหลักทรัพย์ตามสัดส่วนของดัชนีที่อ้างอิง แทนที่จะเน้นการเลือกหลักทรัพย์รายตัวและกะเวลาซื้อ-ขาย

อย่างไรก็ตาม ETF ไม่ได้เป็นแค่กองทุนดัชนีอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังเป็นกองทุนที่ซื้อ-ขายอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ด้วย ซึ่งมีข้อดีก็คือ สามารถซื้อ-ขายได้ทันทีแทนที่จะต้องรอ 1-3 วันเหมือนกองทุนรวม และราคาของ ETF จะมีการอัปเดตแบบ Real-Time ในเวลาทำการของตลาดหลักทรัพย์ ในขณะที่ราคาของกองทุนรวมจะอัปเดตตอนสิ้นวันทำการเท่านั้น สรุปง่ายๆ ก็คือ ETF เป็นกองทุนดัชนีที่มีการซื้อ-ขายและดูราคาได้เหมือนหุ้น

ตอนนี้เราก็ทราบแล้วว่า ETF คืออะไร แล้วการลงทุนใน ETF มีข้อดีอย่างไรบ้าง

เข้าถึงได้ง่าย

ข้อดีอย่างแรกของ ETF คือ ช่วยให้ผู้ลงทุนสามารถเข้าถึงสินทรัพย์ที่หลากหลายได้ง่าย ไม่ว่าจะเป็นสินทรัพย์ประเภทใด อยู่ในหมวดธุรกิจไหน หรืออยู่ในประเทศใดก็ตาม ถ้ามีดัชนีที่ติดตามราคาของสินทรัพย์นั้น ก็มักจะมี ETF ที่ลงทุนตามดัชนีนั้นด้วย คุณสามารถลงทุนได้ทั้งในหุ้น ตราสารหนี้ อสังหาริมทรัพย์ สินค้าอุปโภคบริโภค (Commodity) ต่างๆ หรือถ้าต้องการจะลงทุนในธุรกิจหมวดใดหมวดหนึ่ง เช่น เทคโนโลยี, E-Commerce, Healthcare หรือ Cloud-Computing ก็ทำได้เช่นกัน

มีการกระจายการลงทุน (Diversification) ที่ดี  

ETF ลงทุนในหลักทรัพย์จำนวนมากตามสัดส่วนของดัชนีที่อ้างอิง ถ้าราคาหลักทรัพย์ตัวใดตัวหนึ่งลดต่ำลง ผลกระทบก็จะไม่มากนักเพราะว่ายังมีหลักทรัพย์ตัวอื่นมาคอยเฉลี่ยให้ความผันผวนลดลง จากการศึกษาข้อมูลย้อนหลัง พบว่าพอร์ตที่กระจายการลงทุนที่ดีมักจะได้ผลตอบแทนที่ดีกว่าในระยะยาว

มีค่าธรรมเนียมการจัดการต่ำ

ETF ยังมีค่าธรรมเนียมการจัดการต่ำ โดยอยู่ที่ประมาณ 0.15%-0.25% ต่อปี เมื่อลองเปรียบเทียบกับกองทุนรวมในไทยที่ลงทุนในต่างประเทศ ซึ่งมีค่าธรรมเนียมโดยรวมประมาณ 1.5-3.0% (รวมค่าธรรมเนียมของ Master Fund) จะเห็นได้ว่าค่าธรรมเนียมของ ETF ต่ำกว่ามาก เพราะ ETF ใช้อัลกอริทึมในการบริหารพอร์ตเพื่อให้มีหลักทรัพย์ตามสัดส่วนของดัชนีที่อ้างอิง แทนที่จะใช้ผู้จัดการกองทุนคอยตัดสินใจทำการซื้อ-ขาย ซึ่งช่วยลดค่าใช้จ่ายในการจัดการให้ต่ำกว่ากองทุนรวม

มีความยืดหยุ่นในการซื้อ-ขาย

เนื่องจาก ETF มีการจดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ คุณจึงสามารถทำการซื้อ-ขายได้ตลอดเวลาทำการ ส่วนกองทุนรวมจะทำการซื้อ-ขายได้วันละครั้งเท่านั้น โดยคุณจะทราบราคาของหน่วยลงทุนได้ตอนสิ้นวันหรือนานกว่านั้นขึ้นอยู่กับประเภทสินทรัพย์ที่กองทุนรวมนั้นไปลงทุน

ข้อดีเหล่านี้ทำให้ตลาด ETF มีมูลค่าเพิ่มขึ้นประมาณ 4.7 เท่าในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา และจากข้อมูลของ Statista Research ตลาด ETF ทั่วโลกในปี 2019 นั้นมีมูลค่าสูงถึง 6 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 186 ล้านล้านบาท

เรามาดูตัวอย่าง ETF ที่ StashAway ใช้ในการจัดพอร์ตกัน

มี ETF หลายตัวลงทุนตามดัชนี S&P 500 แต่เราเลือก SPDR S&P 500 (SPY) บนตลาดหลักทรัพย์ที่สหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็น ETF ของดัชนี S&P 500 ที่มีมูลค่าสูงที่สุดโดยมีมูลค่าสินทรัพย์ที่จัดการมากกว่า 240,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 7.4 ล้านล้านบาท และเป็นหลักทรัพย์ที่มีการซื้อ-ขายมากที่สุดในทุกตลาดทั่วโลก SPY ช่วยให้ผู้ลงทุนได้ลงทุนในหุ้นของบริษัทขนาดใหญ่ของสหรัฐอเมริกา (US Large Cap Equities) โดยมีค่าธรรมเนียมการจัดการเพียงแค่ 0.09% ต่อปี เมื่อลองเปรียบเทียบกับกองทุนรวมในไทยที่ลงทุนในหุ้นสหรัฐฯ ซึ่งมีค่าธรรมเนียมโดยรวมประมาณ 1-3% (รวมค่าธรรมเนียมของ Master Fund) และอาจมีค่าธรรมเนียมการขาย (Front-end Fee) อีกด้วย


แชร์บทความนี้

  • linkedin
  • facebook
  • twitter
  • email

อยากอ่านเพิ่ม?

เราหวังว่าคุณจะได้ประโยชน์ จากบทความของเรา

ร่วมเป็นส่วนหนึ่งกับผู้คนอีกหลายแสนคนที่ต้องการวางแผนการเงินและการลงทุนอย่างยั่งยืนด้วยการสมัครรับบทความและบทวิเคราะห์ของเราที่จะส่งตรงถึงอีเมลของคุณ