สรุปผลการดำเนินงานปี 2023 ของ StashAway

09 February 2024

ปี 2023 ที่ผ่านมา ตลาดเต็มไปด้วยความผันผวนทั้งขึ้นและลง โดยเทคโนโลยี ERAA™ ของเรา ยังบ่งชี้ว่าเศรษฐกิจยังอยู่ในภาวะ Stagflation (ภาวะเศรษฐกิจหดตัว แต่เงินเฟ้อยังอยู่ในระดับสูง) เราจึงยังคงพอร์ตให้ Defensive ในช่วงที่ต้องเผชิญกับความไม่แน่นอน

กลยุทธ์ Defensive มีส่วนสำคัญต่อผลตอบแทนของพอร์ตในปี 2023 โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาถึงความผันผวนระดับสูงที่เกิดขึ้นในตลาด โดยการปกป้องพอร์ตให้ Defensive ช่วยให้ Risk-adjusted Return (ผลตอบแทนที่ปรับด้วยความเสี่ยง) ของเราเหนือกว่า Benchmark* และยังมีผลตอบแทนที่แข็งแกร่งเมื่อวัดผลแบบปกติ (Absolute Basis) 

ปี 2023 โดยรวม ถือเป็นปีที่ดีสำหรับตลาดหุ้นและตราสารหนี้ทั่วโลก โดยหุ้นปรับตัวเพิ่มขึ้น 23% และตราสารหนี้ปรับตัวเพิ่มขึ้น 5% ฟื้นตัวจากปี 2022 ที่ทั้ง 2 สินทรัพย์ติดลบถึง -18% และยังเหนือกว่าค่าเฉลี่ยระยะยาวของผลตอบแทนจากหุ้นที่ +9% และจากตราสารหนี้ที่ +5% นับตั้งแต่ปลายทศวรรษ 1980

อย่างไรก็ตาม เมื่อเจาะลึกลงไป คุณจะเห็นว่าตลาดเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน เพราะนับตั้งแต่ปลาย Q1 เราได้เห็นตลาดปรับตัวลงอย่างรวดเร็ว จากการล่มสลายของธนาคาร Silicon Valley Bank และ Credit Suisse จนกระทั่งธนาคารกลางยุโรปและสหรัฐต้องเข้ามาแทรกแซง จากนั้นเพียงไม่กี่เดือน เราได้เห็นตลาดปรับตัวขึ้นอย่างร้อนแรงจากกระแส AI โดยมีหุ้น Magnificent 7 เป็นผู้นำตลาด

ถัดมาในช่วงกลาง Q3 เนื่องจากเงินเฟ้อที่ยืดเยื้อ ข้อมูลเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง และท่าที Hawkish จาก Fed ทำให้นักลงทุนเทขายสินทรัพย์อย่างหนัก จนในช่วงสิ้นเดือน ต.ค. ผลตอบแทนจากหุ้นยังบวกอยู่เพียง +6% และผลตอบแทนจากตราสารหนี้เป็นลบที่ -4% 

จากนั้น Sentiment ของตลาดกลับเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยทั้งหุ้นและตราสารหนี้ปรับตัวขึ้นอีกครั้ง จากแนวโน้มเงินเฟ้อที่ลดลง รวมถึงตลาดแรงงานสหรัฐที่ลดความร้อนแรงลงเช่นกัน ทำให้ Fed เริ่มส่งสัญญาณว่าอาจปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงในปี 2024

ทั้งนี้ ปี 2023 เป็นตัวอย่างสำคัญที่แสดงให้เห็นว่า การคาดการณ์ตลาดให้ถูกต้อง 100% เป็นสิ่งที่ยากมาก และการ Stay Invested ในพอร์ตที่มีการกระจายการลงทุนที่ดีในระดับความเสี่ยงที่เหมาะกับตัวเอง จะช่วยให้คุณบริหารความเสี่ยงไปพร้อมๆ กับการคว้าโอกาสลงทุนที่ดีได้

แล้วผลการดำเนินงานของ StashAway ใน Q4 และปี 2023 เป็นอย่างไร เราสรุปไว้ในบทความนี้:  

พอร์ต General Investing และ Goal-based Investing

ใน Q4 พอร์ต General Investing (GI) ของ StashAway มีผลตอบแทนที่แข็งแกร่งในทุกระดับความเสี่ยง StashAway Risk Index (SRI) แต่จากการรักษาพอร์ตให้ Defensive ผลตอบแทนจึงต่ำกว่า Same-risk Benchmark* โดยในช่วง Q4 พอร์ต GI ให้ผลตอบแทนโดยเฉลี่ยที่ +7.0% ในสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ เมื่อเทียบกับ Same-risk Benchmark* ที่ +9.5% โดยเฉลี่ย

ขณะที่ตลอดทั้งปี 2023 พอร์ต GI ของเรา มีผลตอบแทนที่แข็งแกร่งในแบบ Absolute Basis ที่ +11.7% โดยเฉลี่ย แต่ต่ำกว่าเมื่อเทียบกับ Same-risk Benchmark* ที่ +13.3% โดยเฉลี่ย

ทั้งนี้ ตลอด 2 ปีที่ผ่านมา การรักษาพอร์ตให้ Defensive ช่วยให้ Drawdown ของพอร์ตเราน้อยกว่า Same-risk Benchmark* แต่การที่สินทรัพย์หลายประเภทปรับตัวขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงสิ้นปี 2023 ทำให้พอร์ตของเรามีผลตอบแทนน้อยกว่า Same-risk Benchmark* 

อย่างไรก็ตาม ในปี 2023 พอร์ต GI ของเรา มี Risk-adjusted Return (ผลตอบแทนปรับด้วยความเสี่ยง) ที่ 2.1 ซึ่งสูงกว่าเมื่อเทียบกับ Same-risk Benchmark* ที่ 1.7 (ตัวเลขนี้ยิ่งมากยิ่งดี) เนื่องจากพอร์ตของเรามีค่าความผันผวน (Volatility) โดยเฉลี่ยที่ 5.6% ซึ่งน้อยกว่า Benchmark* ที่ 7.6% ในสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ (ค่าความผันผวนยิ่งน้อยยิ่งดี)

ผลจากการบริหารความเสี่ยงที่ดี

เมื่อพอร์ตของเราเผชิญความผันผวนน้อยกว่า เราจึงสามารถลด Drawdown ของพอร์ตในช่วงที่ตลาดปรับตัวลง ซึ่งจะช่วยสร้างผลตอบแทนที่ดีขึ้นในระยะยาว

ตารางด้านล่างแสดงให้เห็นว่า การลด Drawdown ช่วยให้ผลตอบแทนเฉลี่ยในพอร์ตของเราดีกว่า Benchmark* ถึง 5 จุดโดยเฉลี่ยตลอด 2 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นช่วงที่ตลาดผันผวนสูงมาก

หุ้นเทคโนโลยีและหุ้น Large-cap คือปัจจัยขับเคลื่อนหลักของผลตอบแทนจากหุ้นใน Q4 และตลอดทั้งปี 2023

ใน Q4 สัดส่วนการลงทุนในหุ้นเทคโนโลยีและหุ้น Large-cap ของสหรัฐ เป็นหนึ่งในแรงขับเคลื่อนสำคัญของผลการดำเนินงานของเรา โดยเฉพาะในพอร์ตที่มี SRI สูงกว่า โดยสินทรัพย์เหล่านี้ได้ปรับตัวขึ้นอย่างร้อนแรงในช่วงปลาย ต.ค. เนื่องจาก Sentiment ของตลาดเปลี่ยนแปลงไป จากสภาวะเศรษฐกิจโลกโดยรวมที่เป็นใจมากขึ้น และท่าทีของ Fed ที่อาจปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงในระยะข้างหน้า

เมื่อพิจารณาปี 2023 โดยรวม หุ้นเทคโนโลยีและหุ้น Large-cap ของสหรัฐเป็นแรงขับเคลื่อนหลักของผลการดำเนินงานในพอร์ตของเราเช่นกัน โดยในช่วงปลายปี 2022 เราได้ปรับพอร์ตที่มี Exposure ในหุ้น Small-cap ไปเป็นหุ้น Large-cap ซึ่งมักจะมั่นคงกว่าในช่วงเศรษฐกิจเผชิญกับความไม่แน่นอน นอกจากนี้ การมี Exposure ในหุ้นเทคโนโลยีขนาดใหญ่ ทำให้พอร์ตของเราได้ประโยชน์จากกระแส AI เมื่อปีที่แล้ว

ขณะที่ สัดส่วนในหุ้นพลังงานของสหรัฐเป็นตัวฉุดรั้งผลการดำเนินงานในพอร์ตของเรา เพราะราคาน้ำมันที่ปรับตัวลง รวมถึงหุ้นกลุ่ม Healthcare ที่ทำผลตอบแทนได้ไม่ดีนัก เพราะนักลงทุนหันไปให้ความสนใจหุ้นเทคโนโลยีและหุ้น Growth

ตราสารหนี้ระยะยาวปรับตัวขึ้นใน Q4 ขณะที่ตราสารหนี้ระยะสั้นช่วยสร้างสมดุลให้กับพอร์ตตลอดทั้งปี 2023

ใน Q4 สัดส่วนในตราสารหนี้ระยะยาวช่วยขับเคลื่อนผลการดำเนินงานในพอร์ตของเรา เนื่องจาก Fed เริ่มเปลี่ยนทิศทางว่าจะลดอัตราดอกเบี้ยในปีนี้ ซึ่งช่วยให้ตลาดตราสารหนี้ปรับตัวขึ้น

สำหรับปี 2023 การที่ ERAA™ ยังคง Overweight พันธบัตรสหรัฐระยะสั้นในพอร์ตระดับ SRI ต่ำ-ปานกลาง ช่วยให้พอร์ตของเราผ่านความผันผวนในตลาดได้ตลอดทั้งปี เนื่องจากพันธบัตรสหรัฐมีความเสี่ยงต่ำและให้ Yield ในระดับสูง

ทั้งนี้ ในช่วง 1 ปีข้างหน้า เทคโนโลยี ERAA™ จะเปลี่ยนไป Overweight ตราสารหนี้ระยะยาวมากขึ้นเมื่อข้อมูลทางเศรษฐกิจแสดงให้เห็นว่า ภาวะเศรษฐกิจเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจน (เราเจาะลึกเรื่องนี้ไว้ใน CIO Insights: ความผันผวนในตลาดตราสารหนี้ครั้งนี้ เราจะผ่านมันไปได้อย่างไร)

ทองคำให้ผลตอบแทนที่ดีท่ามกลางความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์, โอกาสที่ Fed จะลดดอกเบี้ย และเงินดอลลาร์ที่อ่อนค่าลง

การที่เรา Overweight ทองคำ ซึ่งเป็นสินทรัพย์ Safe-haven ช่วยสร้างผลตอบแทนที่ดีให้กับพอร์ตของเราทั้งใน Q4 และตลอดปี 2023 

โดยใน Q4 ทองคำมีผลตอบแทนที่ +11.5% ในสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งได้แรงสนับสนุนจากเงินดอลลาร์สหรัฐที่อ่อนค่าลง รวมถึง Yield ตราสารหนี้ที่ปรับตัวลดลง เนื่องจากนักลงทุนได้ Priced In ความเป็นไปได้ที่ Fed จะลดอัตราดอกเบี้ยลง และความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์ที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งแนวโน้มเหล่านี้น่าจะคงอยู่ต่อไปในปี 2024 นี้ 

ขณะที่ตลอดทั้งปี 2023 ทองคำให้ผลตอบแทนที่ +12.7% ในสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ

Thematic Portfolio

การปรับตัวขึ้นของตลาดในช่วงสิ้นปี ส่งผลดีต่อ Thematic Portfolio ของเรา เพราะธีมเหล่านี้มี Exposure ในสินทรัพย์เสี่ยงค่อนข้างมาก เมื่อบวกกับการที่นักลงทุนให้ความสนใจกลุ่มธุรกิจเทคโนโลยีอย่างล้นหลามเมื่อปีที่แล้ว ส่งผลให้ธีม Technology Enablers และ Future of Consumer Tech มีผลตอบแทนเป็นบวกถึง 2 หลัก ขณะที่ธีม Healthcare Innovation และ Environment and Cleantech มีผลตอบแทนเป็นบวกเช่นกัน

Technology Enablers

ใน Q4 ธีม Technology Enablers ทำผลตอบแทนที่ +13.2% โดยเฉลี่ยในสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ และทั้งปี 2023 ทำผลตอบแทนที่ +31.8% โดยเฉลี่ยในสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ

ในปี 2023 ธีม Technology Enablers ได้รับประโยชน์จากการที่นักลงทุนให้ความสนใจกลุ่มเทคโนโลยีอย่างล้นหลาม โดยสินทรัพย์ตามธีม (Thematic Assets) ในกลุ่มธุรกิจ AI, บล็อกเชน และเซมิคอนดักเตอร์ ทำผลตอบแทนได้สูงสุดในธีมนี้ ขณะที่สินทรัพย์ปรับสมดุล (Balancing Assets) อย่างตราสารหนี้ระยะสั้นและทองคำ ยังช่วยปกป้องพอร์ตในช่วงตลาดปรับตัวลง โดยเฉพาะพอร์ตที่ SRI ต่ำกว่า

Future of Consumer Tech

ใน Q4 ธีม Future of Consumer Tech ทำผลตอบแทนที่ +12.8% โดยเฉลี่ยในสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ และทั้งปี 2023 ทำผลตอบแทนที่ +26.4% โดยเฉลี่ยในสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ

ธีม Future of Consumer Tech ได้แรงสนับสนุนจากการปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีใน Q4 และตลอดทั้งปี 2023 โดยการฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งของ Digital Bank และผู้ให้บริการ Payment หลังเกิดวิกฤติภาคธนาคารในช่วง Q1 ช่วยให้กลุ่มธุรกิจ FinTech กลายเป็นแรงขับเคลื่อนหลักของผลการดำเนินงานในธีมนี้ เช่นเดียวกับกลุ่มนวัตกรรมยานยนต์และเกมมิ่ง โดยการมีสัดส่วนในตราสารหนี้ระยะสั้นและทองคำช่วยปกป้องพอร์ตในช่วงที่ตลาดปรับตัวลง

Healthcare Innovation

ใน Q4 ธีม Healthcare Innovation ได้ประโยชน์จากการปรับตัวขึ้นของตลาดในช่วงสิ้นปี ทำให้มีผลตอบแทนที่ +10.3% โดยเฉลี่ยในสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ และทั้งปี 2023 ยังทำผลตอบแทนที่ +5.9% โดยเฉลี่ยในสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ

สินทรัพย์ในกลุ่มธุรกิจจีโนมิกส์ ยังคงเป็นแรงขับเคลื่อนหลักสำหรับธีมนี้ ขณะที่เทคโนโลยีการแพทย์และไบโอเทคกลับมาทำผลตอบแทนได้ดีอีกครั้งใน Q4 โดยสินทรัพย์ปรับสมดุลยังช่วยสร้างผลตอบแทนในพอร์ต โดยเฉพาะพอร์ตที่มี SRI ต่ำกว่า

Environment and Cleantech

ใน Q4 ธีม Environment and Cleantech ทำผลตอบแทนที่ +9.7% โดยเฉลี่ยในสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ และทั้งปี 2023 ที่ +4.1% โดยเฉลี่ยในสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ

กลุ่มธุรกิจระบบกักเก็บพลังงานและ Smart Grid รวมถึงเทคโนโลยีการจัดการน้ำและสิ่งแวดล้อม เป็นแรงขับเคลื่อนหลักของผลตอบแทนในธีมนี้ตลอดทั้งปี 2023 ส่วนหุ้นกลุ่มพลังงานทดแทนปรับตัวลดลง ขณะที่การมีสัดส่วนในตราสารหนี้สีเขียวยังช่วยสร้างผลตอบแทนที่ดี

*หมายเหตุ:

Benchmark ที่เราใช้ในการเปรียบเทียบมาจาก MSCI All Country World Equity Index TRI ในส่วนของหุ้น (ก่อนวันที่ 1 มีนาคม 2566 ใช้ MSCI World Equity Index TRI) และใช้ FTSE World Government Bond TRI ในส่วนของตราสารหนี้ โดยนํ้าหนักของ Benchmark ที่เราใช้จะมีค่าความผันผวนที่เกิดขึ้นจริง (Realized Volatility) ในระยะเวลา 10 ปีเท่ากับระดับความเสี่ยง StashAway Risk Index

ผลตอบแทนของโมเดลพอร์ตนี้เป็นมูลค่าทั้งหมดก่อนหักค่าธรรมเนียม ภาษีมูลค่าเพิ่ม และการขอคืนภาษีหัก ณ​ ที่จ่ายของเงินปันผล โดยแบบจำลองผลการดำเนินงานนี้ทำเพื่อชี้วัดประสิทธิภาพของกลยุทธ์การลงทุน ไม่รวมปัจจัยอื่นๆ

ผลตอบแทนที่เกิดขึ้นจริงในบัญชีอาจแตกต่างจากโมเดลพอร์ต ขึ้นอยู่กับช่วงเวลาดำเนินการซื้อขาย, ความแตกต่างของช่วงเวลาและความผันผวนระหว่างวันในการทำ Re-optimisation และการทำ Rebalancing, ค่าธรรมเนียม, ภาษีของเงินปันผล (และการขอคืนภาษี) และอื่นๆ โดยผลตอบแทนอยู่ในสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ

การลงทุนมีความเสี่ยง โปรดทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน และความเสี่ยง ก่อนตัดสินใจลงทุน; ผลการดำเนินงานในอดีตไม่ได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต

ข้อมูลนี้ไม่ถือเป็นคำเสนอ คำแนะนำ คำเชื้อเชิญ หรือการชักชวนให้ท่านซื้อผลิตภัณฑ์ทางการเงิน หรือเข้าทำธุรกรรมใดๆ

ข้อมูลนี้ไม่ได้จัดเตรียมขึ้นโดยคำนึงถึงสถานการณ์ส่วนบุคคลของท่าน (เช่น วัตถุประสงค์การลงทุน สถานการณ์ทางการเงิน หรือความความต้องการโดยเฉพาะ) ท่านควรขอคำแนะนำจากที่ปรึกษาด้านการเงิน บัญชี ภาษี กฎหมาย และด้านอื่น ๆ ของท่านเอง


แชร์บทความนี้

  • linkedin
  • facebook
  • twitter
  • email

อยากอ่านเพิ่ม?

เราหวังว่าคุณจะได้ประโยชน์ จากบทความของเรา

ร่วมเป็นส่วนหนึ่งกับผู้คนอีกหลายแสนคนที่ต้องการวางแผนการเงินและการลงทุนอย่างยั่งยืนด้วยการสมัครรับบทความและบทวิเคราะห์ของเราที่จะส่งตรงถึงอีเมลของคุณ