ผลการดำเนินงาน H1/2025 ของ StashAway

23 July 2025

แชร์บทความนี้

  • linkedin
  • facebook
  • twitter
  • email

อยากอ่านเพิ่ม?

เราหวังว่าคุณจะได้ประโยชน์ จากบทความของเรา

ร่วมเป็นส่วนหนึ่งกับผู้คนอีกหลายแสนคนที่ต้องการวางแผนการเงินและการลงทุนอย่างยั่งยืนด้วยการสมัครรับบทความและบทวิเคราะห์ของเราที่จะส่งตรงถึงอีเมลของคุณ

ตามที่เราได้กล่าวไว้ใน 2025 Mid-Year Outlook: ตลาดแค่พักร้อนหรือการเปลี่ยนผ่านครั้งใหญ่กำลังจะมา? ว่า ตลาดในช่วงครึ่งปีแรกได้รับแรงขับเคลื่อนจากการกลับทิศทางของแนวคิด ‘US Exceptionalism’ โดยนักลงทุนทั่วโลกเริ่มลดการถือครองสินทรัพย์ในสหรัฐที่มีการกระจุกตัวค่อนข้างสูง นอกจากนี้ การประกาศ ‘Liberation Day’ ของประธานาธิบดี Donald Trump ก็ยิ่งเร่งให้การขายสินทรัพย์สหรัฐรุนแรงขึ้น

ไม่กี่สัปดาห์หลังจาก Liberation Day ตลาดหุ้นทั่วโลกกลับปรับตัวขึ้นแรง เนื่องจากความกังวลเรื่องนโยบายการค้าของสหรัฐเริ่มคลี่คลาย ส่งผลให้ตลาดหุ้นโลกจบครึ่งปีแรกด้วยผลตอบแทน +10.6% ขณะเดียวกัน ราคาทองคำยังคงพุ่งขึ้น และตลาดตราสารหนี้ทั่วโลกก็ยังแสดงความแข็งแกร่ง ท่ามกลางความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์และความไม่แน่นอนของนโยบายต่างๆ 

ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ใน H1/2025 พอร์ต General Investing ซึ่งเป็นพอร์ต Flagship ของเรา ยังคงให้ผลตอบแทนอย่างสม่ำเสมอ โดยทำผลตอบแทนได้ระหว่าง 5.4% ถึง 10.8% (เฉลี่ย 9.3%) ก่อนหักค่าธรรมเนียม หรือ 5.1% ถึง 10.5% (เฉลี่ย 9.0%) หลังหักค่าธรรมเนียม ในสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งดีกว่า Benchmark แบบดั้งเดิมที่มีแค่หุ้นและตราสารหนี้

ที่สำคัญคือ พอร์ตของเรายังสามารถบริหารความเสี่ยงได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยในช่วงที่ตลาดผันผวนหลัง Liberation Day พอร์ตความเสี่ยงสูงสุดของเรา (SRI 36%) มี Drawdown สูงสุดเพียง 13% ต่ำกว่าดัชนีหุ้นโลกที่ลดลง 16% ในขณะที่พอร์ตความเสี่ยงต่ำสุด (เน้นตราสารหนี้) มี Drawdown สูงสุดแค่ 1.5% เทียบกับพันธบัตรทั่วโลกที่ -2.2%

ผลตอบแทนที่สม่ำเสมอนี้เกิดขึ้นเพราะเทคโนโลยีการลงทุน Economic Regime-based Asset Allocation (ERAA™) ของเรา ช่วยให้พอร์ตของคุณมีการกระจายการลงทุนที่ดีในหุ้นทั่วโลก ตราสารหนี้ และทองคำ นอกจากนี้ ERAA™ ยังช่วยบริหารความเสี่ยงในพอร์ตเมื่อภาวะเศรษฐกิจมีการเปลี่ยนแปลง

แล้วผลการดำเนินงานของ StashAway ใน H1/2025 เป็นอย่างไร เราสรุปไว้ในบทความนี้:

  • พอร์ต General Investing และ Goal-based Investing (ใช้พอร์ตบริหารเดียวกันจึงสามารถดูผลการดำเนินงานร่วมกันได้)
  • Thematic Portfolio

พอร์ต General Investing และ Goal-based Investing 

ใน H1/2025 พอร์ต General Investing และ Goal-based Investing ทำผลตอบแทนได้อย่างแข็งแกร่ง โดยให้ผลตอบแทนเฉลี่ย +9.3% ก่อนหักค่าธรรมเนียม หรือ +9.0% หลังหักค่าธรรมเนียม ในสกุลเงินดอลลาร์ฯ (+4.2% ก่อนหักค่าธรรมเนียม หรือ +3.9% หลังหักค่าธรรมเนียม ในสกุลเงินบาท) เมื่อเทียบกับ Same-risk Benchmark* ที่ +9.5% โดยเฉลี่ย (ที่ยังไม่รวมค่าธรรมเนียมที่กองทุนรวมมักเรียกเก็บเฉลี่ยอยู่ที่ 1% ถึง 2% ต่อปี) ในสกุลเงินดอลลาร์ฯ 

สำหรับผลตอบแทนย้อนหลัง 12 เดือน พอร์ต General Investing ยังคงให้ผลตอบแทนแข็งแกร่งในทุกระดับความเสี่ยง โดยให้ผลตอบแทนเฉลี่ย +12.9% ก่อนหักค่าธรรมเนียม หรือ +12.2% หลังหักค่าธรรมเนียม ในสกุลเงินดอลลาร์ฯ เมื่อเทียบกับ Same-risk Benchmark* ที่ +14% โดยเฉลี่ยในสกุลเงินดอลลาร์ฯ หรือ Benchmark แบบดั้งเดิม (มีแค่หุ้นและตราสารหนี้) ที่ +12.5% โดยเฉลี่ยในสกุลเงินดอลลาร์ฯ

การกระจายการลงทุนที่ดียังคงเป็นปัจจัยสนับสนุนผลตอบแทนใน H1/2025

ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2025 ตลาดต้องเผชิญความผันผวนอย่างหนัก เนื่องจากนโยบายต่างๆ ของ Trump ทำให้เกิดแรงเทขายไม่เพียงเฉพาะในช่วงการประกาศ Liberation Day เท่านั้น แต่ยังรวมถึงในช่วงการประกาศมาตรการลดรายจ่ายภาครัฐและการขึ้นภาษีนำเข้าในช่วงต้นปีด้วย และแม้ว่าตลาดจะฟื้นตัวได้ในเวลาต่อมา แต่เหตุการณ์เหล่านี้ได้ตอกย้ำว่าพอร์ตที่มีการกระจายการลงทุนที่ดีทั่วโลกในหลากหลายสินทรัพย์ ยังคงมีความสำคัญต่อนักลงทุนเป็นอย่างมาก

ตามที่เราเคยกล่าวไว้ใน Q1/2025 พอร์ต General Investing ของเรา ซึ่งมีเทคโนโลยีการลงทุน ERAA™ ช่วยดูแล ถูกออกแบบให้สามารถปรับตัวตามภาวะเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไป โดยการกระจายการลงทุนในหลากหลายกลุ่มธุรกิจ สินทรัพย์ และภูมิภาค ทำให้พอร์ตของเราสามารถทนความผันผวน และพร้อมคว้าทุกโอกาสที่เกิดขึ้นในตลาด

ทั้งนี้ นับตั้งแต่เดือน เม.ย. 2024 เราได้เพิ่มทองคำเข้ามาใน Benchmark เนื่องจากเป็นสินทรัพย์ Defensive  ที่มักทำผลตอบแทนได้ดีในช่วงที่ตลาดผันผวนหรือมีความไม่แน่นอนสูง และทองคำยังช่วยกระจายความเสี่ยงได้ดี เพราะมักเคลื่อนไหวต่างจากหุ้นและตราสารหนี้ ซึ่งเหตุการณ์ในช่วง Liberation Day ก็เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนของเรื่องนี้

การเพิ่มทองคำเข้าไปใน Benchmark ของเรา ช่วยลดความผันผวน และช่วยเพิ่มผลตอบแทนปรับด้วยความเสี่ยง (Risk-adjusted Returns) ในทุกพอร์ตของเรา (ดูกราฟ 2) โดยเฉพาะพอร์ตที่มีระดับความเสี่ยงต่ำกว่า โดยในช่วง H1/2025 Benchmark ที่รวมทองคำ (แถบสีน้ำเงินเข้ม) มีผลตอบแทนปรับด้วยความเสี่ยงดีกว่า Benchmark แบบดั้งเดิมที่มีเฉพาะหุ้นและตราสารหนี้ (แถบสีเทา) หมายความว่า ในทางปฏิบัติ หากทั้งสองพอร์ตเผชิญความเสี่ยงในระดับเดียวกัน พอร์ต GeneraI Investing ของเรา จะสามารถสร้างผลตอบแทนได้มากกว่าพอร์ตแบบดั้งเดิมถึง 0.4 หน่วย

เมื่อพิจารณาสถานการณ์ในครึ่งปีหลัง ตลาดอาจมีการพักฐาน หลังจากปรับตัวขึ้นอย่างแข็งแกร่งในช่วงครึ่งปีแรก ซึ่งเป็นช่วงที่นักลงทุนเริ่ม Rotation ออกจากสินทรัพย์สหรัฐไปยังประเทศอื่นๆ มากขึ้น แม้ว่าปัจจัยเชิงโครงสร้าง ‘FAT’ หรือนโยบายการคลังที่ขยายตัวมากขึ้น (Fiscal Dominance) ความก้าวหน้าของ AI (AI Advancements) และนโยบายของ Trump (Trump’s Policies) จะยังคงมีบทบาทสำคัญในระยะกลาง แต่ในระยะสั้น ตลาดอาจมีความผันผวนจากปัจจัยชั่วคราว เช่น แนวโน้มตามฤดูกาล หรือการปรับพอร์ตของนักลงทุน

ดังนั้น แทนที่จะมองการพักฐานเป็นเหตุผลในการลดขนาดพอร์ต นักลงทุนสามารถใช้จังหวะนี้เพิ่มการลงทุนในพอร์ตที่มีการกระจายการลงทุนที่ดี โดยเน้นธีมระยะยาวอย่างการเติบโตนอกสหรัฐ นวัตกรรมที่ขับเคลื่อนด้วย AI และบทบาทป้องกันความเสี่ยงของทองคำ เพราะการลงทุนในช่วงที่ตลาดผันผวน มักให้ผลลัพธ์ที่ดีกว่าการไล่ซื้อสินทรัพย์เมื่อราคาปรับตัวขึ้นไปแล้ว

(อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ใน 2025 Mid-Year Outlook: ตลาดแค่พักร้อนหรือการเปลี่ยนผ่านครั้งใหญ่กำลังจะมา?)

การอ่อนค่าของเงินดอลลาร์ฯ

ในช่วง H1/2025 เงินบาทแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ฯ ราว 4.9% ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเพราะ Valuation ของเงินดอลลาร์ฯ ที่ค่อนข้างตึงตัว และการที่นักลงทุนทั่วโลกเริ่มลดการถือครองสินทรัพย์สหรัฐ ส่งผลให้เงินดอลลาร์ฯ อ่อนค่าลง เมื่อเทียบกับสกุลเงินอื่นๆ

แนวโน้มนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เกิดขึ้นต่อเนื่องมาระยะหนึ่งแล้ว โดยในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา เงินบาทแข็งค่าขึ้นถึง 12.9% เมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ฯ สะท้อนให้เห็นแนวโน้มการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์ฯ ในวงกว้าง โดยการแข็งค่าของเงินบาทได้ส่งผลกระทบต่อผลตอบแทนในสกุลเงินบาท เพราะ ETF ที่อยู่ในพอร์ตของคุณมีการซื้อ-ขายกันในสกุลเงินดอลลาร์ฯ

อย่างไรก็ตาม พอร์ตที่บริหารโดย ERAA™ มีการกระจายการลงทุนในหลากหลายสกุลเงินทั่วโลก ไม่ได้กระจุกตัวอยู่ที่เงินดอลลาร์ฯ เพียงอย่างเดียว แม้การซื้อ-ขายจะอยู่ในสกุลเงินดอลลาร์ฯ แต่ไม่ได้หมายความว่าคุณมี USD Exposure 100% เพราะมีความแตกต่างกันระหว่าง ‘สกุลเงินที่ซื้อ-ขาย’ กับ ‘สกุลเงินที่เกี่ยวข้องกับรายได้จริงของบริษัท’ ตัวอย่างเช่น ETF หุ้นญี่ปุ่นที่มีการซื้อ-ขายเป็นเงินดอลลาร์ฯ แต่บริษัทญี่ปุ่นมีรายได้จริงเป็นเงินเยน หรือแม้แต่บริษัทสหรัฐเองหลายแห่งก็มีรายได้จากหลายสกุลเงินทั่วโลก

การกระจายความเสี่ยงด้านสกุลเงินในลักษณะนี้จึงช่วยลดผลกระทบจากความผันผวนของค่าเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น เมื่อเงินดอลลาร์ฯ แข็งค่าขึ้น สินทรัพย์ที่ซื้อ-ขายด้วยเงินดอลลาร์ฯ จะช่วยพยุงผลตอบแทนในพอร์ตของคุณ แต่หากเงินดอลลาร์ฯ อ่อนค่าลง สินทรัพย์อย่างหุ้นทั่วโลกหรือสินค้าโภคภัณฑ์ก็มักจะได้รับประโยชน์แทน

แนวทางการจัดพอร์ตแบบสมดุลของ ERAA™ ช่วยให้พอร์ตของเรารับมือกับการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์ฯ ได้อย่างมีประสิทธิภาพในช่วงครึ่งแรกของปี 2025 พร้อมคว้าโอกาสที่เกิดขึ้นในตลาดทั่วโลก ส่งผลให้พอร์ตทำผลตอบแทนได้อย่างแข็งแกร่งตลอดช่วงที่ผ่านมา ดังนั้น แทนที่จะพยายามจับจังหวะของค่าเงิน การกระจายการลงทุนทั่วโลกอย่างต่อเนื่อง จะช่วยให้พอร์ตของคุณสามารถรับประโยชน์จากวัฏจักรของสกุลเงินต่างๆ และเดินหน้าสู่เป้าหมายทางการเงินได้อย่างมั่นคงในระยะยาว

ทั้งนี้ เพื่อความชัดเจนในการเปรียบเทียบผลตอบแทน เมื่อเราพูดถึงผลการดำเนินงานของแต่ละสินทรัพย์ เราจะอ้างอิงเป็นเงินดอลลาร์ฯ เพื่อให้คุณเห็นภาพรวมของผลตอบแทนจริงก่อนจะพิจารณาผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งอาจส่งผลให้ผลตอบแทนในสกุลเงินบาทแตกต่างออกไปในแต่ละช่วงเวลา

ทองคำยังคงเปล่งประกาย ท่ามกลางความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์และนโยบายการคลัง

ทองคำยังคงให้ผลตอบแทนอย่างแข็งแกร่ง โดยปรับตัวขึ้น 24% ใน H1/2025 และเพิ่มขึ้นถึง 40% ในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา ซึ่งช่วยสนับสนุนผลตอบแทนในพอร์ต General Investing ของเราประมาณ 0.8%-2.6% (แล้วแต่ระดับความเสี่ยงที่เลือก) สะท้อนให้เห็นบทบาทของทองคำในฐานะเครื่องมือกระจายความเสี่ยงและการสร้างผลตอบแทนในช่วงที่มีความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจเพิ่มสูงขึ้น

อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่กลางเดือน เม.ย. ราคาทองคำเริ่มมีความผันผวน ซึ่งอาจเกิดขึ้นจากหลายปัจจัย เช่น การขายทำกำไรหลังจากราคาทะลุจุดสูงสุดเป็นประวัติการณ์ และระดับความผันผวนในตลาดที่ลดลง ซึ่งลดแรงจูงใจในการถือครองทองคำในฐานะสินทรัพย์ป้องกันความเสี่ยง รวมถึงการที่ Fed ชะลอการปรับลดอัตราดอกเบี้ย ซึ่งกดดัน Momentum ของทองคำ แม้ว่าแรงขับเคลื่อนเชิงโครงสร้างที่สนับสนุนราคาทองคำยังคงแข็งแกร่ง แต่ปัจจัยเหล่านี้อาจทำให้ราคาทองคำเข้าสู่ช่วงพักฐานในระยะสั้น

เมื่อมองในระยะข้างหน้า แม้การถือครองทองคำที่อยู่ในระดับสูงอาจทำให้ราคาทองคำอ่อนไหวต่อการปรับฐานในระยะสั้น (ผลสำรวจของ Bank of America Fund Manager Survey ประจำเดือน มิ.ย. 2025 พบว่า การถือทองคำเป็นการลงทุนที่ได้รับความนิยมมากที่สุด) แต่แนวโน้มของทองคำในระยะยาวยังคงสดใส โดยธนาคารกลางทั่วโลกยังคงเดินหน้าสะสมทองคำเป็นทุนสำรองระหว่างประเทศ และความกังวลเกี่ยวกับหนี้ของรัฐบาลสหรัฐที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้นักลงทุนเริ่มมองหาทางเลือกอื่นนอกเหนือจากพันธบัตรสหรัฐ ดังนั้น นอกเหนือจากบทบาทของทองคำในฐานะสินทรัพย์ป้องกันความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์แล้ว แรงขับเคลื่อนเชิงโครงสร้างเหล่านี้อาจยังสนับสนุนให้ทองคำกลายเป็นส่วนสำคัญยิ่งขึ้นของพอร์ตที่มีการกระจายการลงทุนที่ดีในระยะยาว

หุ้นโลกกลายเป็นผู้นำ หลังนักลงทุน Rotation ออกจากสินทรัพย์สหรัฐ

ในส่วนของหุ้น การที่นักลงทุน Rotation ออกจากสินทรัพย์สหรัฐ และหันไปหาโอกาสในประเทศอื่นๆ ถือเป็นธีมสำคัญของการลงทุนในช่วง H1/2025 โดยหุ้นทั่วโลก (ไม่รวมสหรัฐ) เริ่มเคลื่อนไหวแตกต่างจากหุ้นสหรัฐ และให้ผลตอบแทนที่สูงกว่าทั้งก่อนและหลังเหตุการณ์ Liberation Day ตามที่เห็นในกราฟ 3 โดยหุ้นทั่วโลก (ยกเว้นสหรัฐ) ปรับตัวขึ้น 17.7% ขณะที่หุ้นสหรัฐปรับตัวขึ้นเพียง 6.2% ในช่วง H1/2025

การบริหาร Asset Allocation ของเราไปยังตลาดทั่วโลกเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดที่ช่วยขับเคลื่อนผลตอบแทนในพอร์ตที่มีความเสี่ยงสูงกว่า ซึ่งเน้นลงทุนในหุ้น ตัวอย่างเช่น ETF ที่ติดตามหุ้นทั่วโลก (ไม่รวมสหรัฐ) มีส่วนช่วยเพิ่มผลตอบแทนโดยรวมได้ถึง 2.5% อย่างไรก็ตาม การมีสัดส่วนของหุ้นสหรัฐบางกลุ่มก็ยังมีบทบาทสำคัญเช่นกัน โดยเฉพาะในกลุ่มเทคโนโลยี ซึ่งยังได้รับแรงหนุนจากเทรนด์ AI รวมถึงกลุ่มธุรกิจการบินและกลาโหมที่ได้รับประโยชน์จากความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์

เมื่อมองในระยะข้างหน้า หุ้นนอกสหรัฐ อาจยังคงได้รับความสนใจจากนักลงทุนต่อไป เนื่องจากโอกาสเติบโตระยะยาวเริ่มปรากฏในหลายภูมิภาคทั่วโลก ขณะที่ภายในสหรัฐเอง ยังมีบางกลุ่มธุรกิจที่อาจทำผลงานได้ดี โดยเฉพาะบริษัทที่สามารถใช้ AI เพื่อเพิ่มรายได้และยกระดับประสิทธิภาพการทำงาน ซึ่งขยายไปไกลเกินกว่าแค่กลุ่ม Magnificent Seven แล้วในตอนนี้

การกระจายการลงทุนทั่วโลกช่วยสนับสนุนผลตอบแทนจากตราสารหนี้

ในส่วนของตราสารหนี้ ผลตอบแทนจากการบริหาร Asset Allocation ของ ERAA™ ได้รับแรงหนุนจากหลายปัจจัยร่วมกัน ได้แก่

  • การลงทุนในพันธบัตรสหรัฐระยะสั้น ยังคงให้ผลตอบแทนที่น่าดึงดูดราว 4.2%-4.3% ขณะที่มีความเสี่ยงต่ำมาก
  • ขณะที่ ตราสารหนี้ทั่วโลก ทั้งพันธบัตรรัฐบาลและหุ้นกู้คุณภาพดี ยังคงให้ผลตอบแทน (จากส่วนต่างราคา) ที่แข็งแกร่ง เนื่องจาก Yield ของตราสารหนี้ในยุโรปลดลงมากกว่าสหรัฐ ทำให้ตราสารหนี้ทั่วโลกทำผลงานได้ดีกว่า
  • ในกลุ่มหุ้นกู้ ตราสารหนี้ High Yield ทั่วโลกทำผลตอบแทนได้อย่างโดดเด่น เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยที่ลดลง และ Yield ที่น่าดึงดูด รวมถึงปัจจัยพื้นฐานของภาคธุรกิจและเศรษฐกิจที่ยังแข็งแกร่ง
  • นอกจากนี้ การอ่อนค่าของเงินดอลลาร์ฯ อย่างต่อเนื่องถึง 11% ในช่วง H1/2025 ยังช่วยเพิ่มผลตอบแทนในสกุลเงินดอลลาร์ฯ ของตราสารหนี้ในสกุลเงินหลักอื่นๆ เช่น ยูโรและเยน

เมื่อนำปัจจัยต่างๆ มารวมกัน ทั้ง Yield ที่สม่ำเสมอจากพันธบัตรระยะสั้น ผลตอบแทนที่สูงจากตราสารหนี้ High Yield ราคาที่เพิ่มขึ้นของตราสารหนี้ระยะยาวทั่วโลก และตราสารหนี้สกุลเงินหลักอื่นๆ ที่ได้ประโยชน์จากการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ฯ ล้วนช่วยสนับสนุนผลตอบแทนของตราสารหนี้ ซึ่งทั้งหมดนี้สะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของการกระจายการลงทุน แม้แต่ในตราสารหนี้เองก็ตาม

เมื่อมองในระยะข้างหน้า ตราสารหนี้ทั่วโลกยังอยู่ในตำแหน่งที่ดี หากธนาคารกลางยังคงผ่อนคลายนโยบายการเงินต่อไปในช่วงไม่กี่เดือนข้างหน้า ขณะที่ในสหรัฐ Fed ยังคงมีท่าทีระมัดระวังเรื่องการลดดอกเบี้ย และแรงกดดันจากนโยบายการคลังอาจทำให้ Yield ของพันธบัตรระยะสั้นยังอยู่ในระดับสูงต่อไป ซึ่งอาจทำให้ราคาพันธบัตรสหรัฐระยะยาวปรับตัวขึ้นได้ไม่มากนัก

Thematic Portfolio

ใน H1/2025 สินทรัพย์ Thematic ยังคงทำผลตอบแทนได้อย่างแข็งแกร่ง แม้ตลาดจะเผชิญความผันผวนจากเหตุการณ์ต่างๆ เช่น ความปั่นป่วนในวงการ AI ที่เกิดจาก DeepSeek เมื่อเดือน ม.ค. และการประกาศ Liberation Day ในเดือน เม.ย.

ธีม Technology Enablers ของเรา ยังทำผลตอบแทนได้ดีจากกลุ่มธุรกิจบล็อกเชนและ Cybersecurity ขณะที่ธีม Future of Consumer Tech ได้ประโยชน์จากกลุ่มธุรกิจเกมมิ่งที่ทำผลตอบแทนได้อย่างโดดเด่น ส่วนธีม Healthcare Innovation แต่ละกลุ่มธุรกิจทำผลตอบแทนได้แตกต่างกันไป โดยกลุ่มธุรกิจอุปกรณ์ทางการแพทย์ทำผลงานได้ดี แต่กลุ่มธุรกิจไบโอเทคเผชิญกับแรงกดดัน ขณะเดียวกัน ธีม Environment and Cleantech ทำผลงานได้ดีที่สุดในช่วง H1/2025 เป็นผลมาจาก Demand พลังงานนิวเคลียร์ที่พุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว

ผลการดำเนินงานของธีมต่างๆ เน้นย้ำให้เห็นถึงความสำคัญของการลงทุนระยะยาว แม้ว่าตลาดจะมีความผันผวนในระยะสั้นจากวัฏจักรเศรษฐกิจ แต่เมกะเทรนด์เหล่านี้จะยังคงเติบโตและพัฒนาอย่างต่อเนื่องในอีกหลายปีข้างหน้า

Technology Enablers

ใน H1/2025 ธีม Technology Enablers ทำผลตอบแทนโดยเฉลี่ยที่ +11.1% ก่อนหักค่าธรรมเนียม หรือ +10.8% หลังหักค่าธรรมเนียม ในสกุลเงินดอลลาร์ฯ (+5.9% ก่อนหักค่าธรรมเนียม หรือ +5.6% หลังหักค่าธรรมเนียม ในสกุลเงินบาท)

ส่วนในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา ธีมนี้ให้ผลตอบแทนโดยเฉลี่ยที่ +25.0% ก่อนหักค่าธรรมเนียม หรือ +24.3% หลังหักค่าธรรมเนียม ในสกุลเงินดอลลาร์ฯ (+10.7% ก่อนหักค่าธรรมเนียม หรือ +10.0% หลังหักค่าธรรมเนียม ในสกุลเงินบาท)

ในช่วงครึ่งแรกของปี 2025 มีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้นมากมายในกลุ่มเทคโนโลยี ไล่ตั้งแต่การเปิดตัวโมเดล AI ของ DeepSeek ไปจนถึงความกังวลเรื่อง Valuation ของหุ้น AI โดยกลุ่มธุรกิจบล็อกเชนทำผลตอบแทนได้โดดเด่นที่สุด เนื่องจากโครงสร้างพื้นฐานของ Cryptocurrency ได้รับอานิสงส์จากการที่นักลงทุนกลับมาให้ความสนใจ Bitcoin และ Stablecoins ต่างๆ ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ขณะที่ กลุ่มธุรกิจ Cybersecurity ก็สร้างผลตอบแทนที่แข็งแกร่งเช่นกัน โดยเฉพาะบริษัทอย่าง CrowdStrike ที่ได้รับประโยชน์จากการที่องค์กรต่างๆ เพิ่มงบประมาณในการรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ ซึ่งแนวโน้มในระยะข้างหน้า การลงทุนเพื่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานของ AI จะยังเป็นแรงสนับสนุนสำคัญให้กับธีมนี้

Future of Consumer Tech

ใน H1/2025 ธีม Future of Consumer Tech ทำผลตอบแทนโดยเฉลี่ยที่ +11.5% ก่อนหักค่าธรรมเนียม หรือ +11.1% หลังหักค่าธรรมเนียม ในสกุลเงินดอลลาร์ฯ (+6.2% ก่อนหักค่าธรรมเนียม หรือ +5.9% หลังหักค่าธรรมเนียม ในสกุลเงินบาท) 

ส่วนในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา ธีมนี้ให้ผลตอบแทนโดยเฉลี่ยที่ +24.2% ก่อนหักค่าธรรมเนียม หรือ +23.5% หลังหักค่าธรรมเนียม ในสกุลเงินดอลลาร์ฯ (+10.0% ก่อนหักค่าธรรมเนียม หรือ +9.3% หลังหักค่าธรรมเนียม ในสกุลเงินบาท)

ในช่วงครึ่งแรกของปี 2025 ธีม Future of Consumer Tech แสดงให้เห็น Momentum ที่แข็งแกร่ง โดยกลุ่มธุรกิจเกมมิ่งและ E-sport ยังคงทำผลงานได้โดดเด่น เนื่องจากได้รับแรงขับเคลื่อนจากการเติบโตของอุตสาหกรรมเกมทั่วโลก (เช่น Nintendo หรือ Tencent) ขณะที่ กลุ่มธุรกิจนวัตกรรมยานยนต์ก็มีบทบาทสำคัญเช่นกัน โดยได้รับแรงหนุนจากความสนใจในรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ที่ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้องกับ EV ที่ช่วยสนับสนุนบริษัทต่างๆ ตลอดทั้ง Value-chain 

ทั้งนี้ เมื่อ AI กลายเป็นสิ่งที่สำคัญมากขึ้นสำหรับประสบการณ์ของผู้บริโภค บริษัทต่างๆ ในธีมนี้จึงมีโอกาสสูงที่จะได้รับประโยชน์จากการเติบโตของเทรนด์นวัตกรรมต่างๆ และการนำเทคโนโลยีต่างๆ มาใช้ 

Healthcare Innovation

ใน H1/2025 ธีม Healthcare Innovation ทำผลตอบแทนโดยเฉลี่ยที่ +1.3% ก่อนหักค่าธรรมเนียม หรือ +1.0% หลังหักค่าธรรมเนียม ในสกุลเงินดอลลาร์ฯ (-3.4% ก่อนหักค่าธรรมเนียม หรือ -3.7% หลังหักค่าธรรมเนียม ในสกุลเงินบาท) 

ส่วนในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา ธีมนี้ให้ผลตอบแทนโดยเฉลี่ยที่ +0.6% ก่อนหักค่าธรรมเนียม หรือ 0.0% หลังหักค่าธรรมเนียม ในสกุลเงินดอลลาร์ฯ (-11.0% ก่อนหักค่าธรรมเนียม หรือ -11.5% หลังหักค่าธรรมเนียม ในสกุลเงินบาท)

ในช่วงครึ่งแรกของปี 2025 กลุ่มธุรกิจย่อยของธีม Healthcare ทำผลตอบแทนแตกต่างกันออกไป โดยกลุ่มธุรกิจไบโอเทคเป็นกลุ่มหลักที่ฉุดผลตอบแทนในธีมนี้ ซึ่งเหตุผลหลักคาดว่ามาจากปัญหาเกี่ยวกับกระบวนการอนุมัติยาในสหรัฐ รวมถึงแรงกดดันจากนโยบายภาษีนำเข้า ขณะที่ กลุ่มธุรกิจเภสัชกรรม ทำผลตอบแทนได้อย่างแข็งแกร่ง เนื่องจากผลการดำเนินงานของบริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง Eli Lilly ยังคงสนับสนุนกลุ่มธุรกิจนี้อย่างต่อเนื่อง ขณะที่ กลุ่มธุรกิจอุปกรณ์ทางการแพทย์ ช่วยสนับสนุนผลตอบแทนในธีมนี้มากที่สุด แม้จะได้รับผลกระทบจากนโยบายภาษีนำเข้า แต่เนื่องจากเป็นสินค้าจำเป็น ทำให้ Demand ของสินค้าในกลุ่มนี้มีความยืดหยุ่นต่ำ (Inelastic Demand)

โดยรวมแล้ว ธีม Healthcare ยังมีปัจจัยบวกในระยะข้างหน้า เช่น ความเป็นไปได้ในการควบรวมและซื้อกิจการ (M&A) ที่เพิ่มสูงขึ้น รวมถึง Valuation ที่น่าดึงดูดมากขึ้น ซึ่งอาจเปิดทางให้ราคาหุ้นฟื้นตัวได้ โดยเฉพาะหากความไม่แน่นอนด้านกฎระเบียบและภาษีนำเข้าเริ่มคลี่คลาย

Environment and Cleantech

ใน H1/2025 ธีม Environment and Cleantech ทำผลตอบแทนโดยเฉลี่ยที่ +12.8% ก่อนหักค่าธรรมเนียม หรือ +12.5% หลังหักค่าธรรมเนียม ในสกุลเงินดอลลาร์ฯ (+7.6% ก่อนหักค่าธรรมเนียม หรือ +7.2% หลังหักค่าธรรมเนียม ในสกุลเงินบาท) 

ส่วนในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา ธีมนี้ให้ผลตอบแทนโดยเฉลี่ยที่ +9.3% ก่อนหักค่าธรรมเนียม หรือ +8.6% หลังหักค่าธรรมเนียม ในสกุลเงินดอลลาร์ฯ (-3.2% ก่อนหักค่าธรรมเนียม หรือ -3.8% หลังหักค่าธรรมเนียม ในสกุลเงินบาท)

ในช่วงครึ่งแรกของปี 2025 ธีมเทคโนโลยีพลังงานสะอาด ทำผลตอบแทนได้ดีที่สุดในบรรดาพอร์ต Thematic ทั้งหมดของเรา โดยการลงทุนในกลุ่มธุรกิจเหมืองยูเรเนียมเป็นปัจจัยหลักของการเติบโตครั้งนี้ เนื่องจากได้รับแรงหนุนจาก Demand พลังงานนิวเคลียร์ที่พุ่งขึ้นอย่างรวดเร็ว หลังจากบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ประกาศแผนลงทุนครั้งมหาศาลเพื่อสร้างศูนย์ข้อมูลสำหรับ AI นอกจากนี้ กลุ่มธุรกิจระบบกักเก็บพลังงานและ Smart Grid ยังช่วยเสริมผลตอบแทนที่แข็งแกร่งให้กับธีมนี้ด้วย 

ทั้งนี้ การที่โลกกำลังเปลี่ยนผ่านไปใช้พลังงานนิวเคลียร์ในฐานะแหล่งพลังงานสะอาดที่มีเสถียรภาพและกำลังการผลิตสูง บวกกับเม็ดเงินลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานทั่วโลก ทำให้ธีมนี้มีแนวโน้มที่จะเติบโตต่อเนื่องในระยะยาว


หมายเหตุ:

*Benchmark ที่เราใช้ในการเปรียบเทียบมาจาก FTSE All-World Index ในส่วนของหุ้น (ก่อนวันที่ 31 กรกฎาคม 2024 ใช้ MSCI All Country World Index และ ก่อนวันที่ 1 มีนาคม 2023 ใช้ MSCI World Equity Index TRI) และ ใช้ FTSE World Government Bond TRI ในส่วนของตราสารหนี้ โดยหลังจากวันที่ 24 เมษายน 2024 เราได้เพิ่ม Bloomberg 1-3 Month US Treasury Bill Index ในส่วนของพันธบัตรสหรัฐระยะสั้น และ Bloomberg Gold Subindex Total Return Index ในส่วนของทองคำ เข้าไปใน Benchmark โดยน้ำหนักของ Benchmark ที่เราใช้จะมีค่าความผันผวนที่เกิดขึ้นจริง (Realized Volatility) ในระยะเวลา 10 ปีเท่ากับระดับความเสี่ยง StashAway Risk Index

ผลตอบแทนของโมเดลพอร์ตนี้เป็นมูลค่าทั้งหมดหลังหักค่าธรรมเนียม ค่าดูแลรักษาทรัพย์สิน และค่าธรรมเนียมอื่นๆ แต่ยังไม่หักภาษี ณ ที่จ่าย ภาษีกำไร และการขอคืนภาษีหัก ณ​ ที่จ่ายของเงินปันผล โดยแบบจำลองผลการดำเนินงานนี้ทำเพื่อชี้วัดประสิทธิภาพของกลยุทธ์การลงทุน ไม่รวมปัจจัยอื่นๆ

เนื่องจากเราคิดค่าธรรมเนียมบริหารจัดการแบบก้าวหน้า ดังนั้น ค่าธรรมเนียมที่ใช้ในการคำนวณผลตอบแทนของโมเดลพอร์ตจึงสะท้อนค่าธรรมเนียมเฉลี่ยที่บริษัทเรียกเก็บจริง โดยสามารถดูรายละเอียดทั้งหมดเกี่ยวกับค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายต่างๆ ตามนโยบายการลงทุนได้ที่ https://www.stashaway.co.th/th-TH/pricing

ผลตอบแทนที่เกิดขึ้นจริงในบัญชีอาจแตกต่างจากโมเดลพอร์ต ขึ้นอยู่กับช่วงเวลาดำเนินการซื้อขาย, ความแตกต่างของช่วงเวลาและความผันผวนระหว่างวันในการทำ Re-optimisation และการทำ Rebalancing, ค่าธรรมเนียม, ภาษีของเงินปันผล (และการขอคืนภาษี) และอื่นๆ โดยผลตอบแทนอยู่ในสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ

การลงทุนมีความเสี่ยง โปรดทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน และความเสี่ยง ก่อนตัดสินใจลงทุน; ผลการดำเนินงานในอดีตไม่ได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต; การลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศมีความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน

ข้อมูลนี้ไม่ถือเป็นคำเสนอ คำแนะนำ คำเชื้อเชิญ หรือการชักชวนให้ท่านซื้อผลิตภัณฑ์ทางการเงิน หรือเข้าทำธุรกรรมใดๆ

ข้อมูลนี้ไม่ได้จัดเตรียมขึ้นโดยคำนึงถึงสถานการณ์ส่วนบุคคลของท่าน (เช่น วัตถุประสงค์การลงทุน สถานการณ์ทางการเงิน หรือความต้องการโดยเฉพาะ) ท่านควรขอคำแนะนำจากที่ปรึกษาด้านการเงิน บัญชี ภาษี กฎหมาย และด้านอื่น ๆ ของท่านเอง


แชร์บทความนี้

  • linkedin
  • facebook
  • twitter
  • email

อยากอ่านเพิ่ม?

เราหวังว่าคุณจะได้ประโยชน์ จากบทความของเรา

ร่วมเป็นส่วนหนึ่งกับผู้คนอีกหลายแสนคนที่ต้องการวางแผนการเงินและการลงทุนอย่างยั่งยืนด้วยการสมัครรับบทความและบทวิเคราะห์ของเราที่จะส่งตรงถึงอีเมลของคุณ