Weekly Buzz: ทำไม Recession (ยัง)มาไม่ถึง

07 July 2023

แชร์บทความนี้

  • linkedin
  • facebook
  • twitter
  • email

อยากอ่านเพิ่ม?

เราหวังว่าคุณจะได้ประโยชน์ จากบทความของเรา

ร่วมเป็นส่วนหนึ่งกับผู้คนอีกหลายแสนคนที่ต้องการวางแผนการเงินและการลงทุนอย่างยั่งยืนด้วยการสมัครรับบทความและบทวิเคราะห์ของเราที่จะส่งตรงถึงอีเมลของคุณ

⏰ กำลังมา แต่(ยัง)ไม่ถึงเสียที                                   

ดูเหมือนว่า Recession หรือภาวะเศรษฐกิจถดถอยยังดูคลุมเครือว่าน่าจะเกิดขึ้นแต่ก็ยังมาไม่ถึง เพราะตั้งแต่ธนาคารกลางประเทศต่างๆ เริ่มขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างรวดเร็วเพื่อต่อสู้กับภาวะเงินเฟ้อ ผู้เชี่ยวชาญหลายรายเตือนว่าจะทำให้เกิดภาวะ Recession ตามมา อย่างไรก็ตาม จนถึงตอนนี้เศรษฐกิจก็ยังไม่เป็นอย่างที่หลายฝ่ายได้คาดการณ์ไว้ แม้อัตราดอกเบี้ยในสหรัฐ อังกฤษและยุโรปจะอยู่ในระดับสูงสุดในรอบ 20 ปี

อะไรทำให้ Recession มาช้า?

  • ผู้บริโภคมีเงินเก็บในธนาคารจำนวนมาก จากนโยบายช่วยเหลือมูลค่าหลายล้านล้านดอลลาร์จากรัฐบาลประเทศต่างๆ ในช่วงเกิด COVID-19 นอกจากนี้ ธนาคารยังให้ดอกเบี้ยเงินฝากในระดับสูงเช่นเดียวกัน เท่ากับว่าผู้บริโภคยังมีกำลังซื้อตราบเท่าที่ยังมีเงินเก็บ
  • รัฐบาลต่างๆ ก็ใช้จ่ายเงินนับล้านล้านดอลลาร์เช่นเดียวกัน ยกตัวอย่างให้เห็นภาพชัด เช่น ทั่วโลกต่างหันไปหาพลังงานสะอาด ซึ่งการเปลี่ยนผ่านลักษณะนี้ต้องใช้เงินมหาศาล โดย International Energy Agency หรือ IEA พบว่าประเทศต่างๆ ได้จัดสรรงบประมาณราว 1.34 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐเพื่อสนับสนุนการใช้พลังงานสะอาด นับตั้งแต่ปี 2020 เป็นต้นมา
  • อัตราดอกเบี้ยดูเหมือนจะอยู่ในระดับสูง แต่ ‘อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง’ (อ่านเพิ่มเติมได้ใน ศัพท์โลกการลงทุน) ในสหรัฐ เพิ่งเริ่มเข้าสู่แดนบวก ขณะที่อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงในยุโรปยังคงอยู่ในแดนลบ แม้ว่าธนาคารกลางยุโรป (ECB) เพิ่งขึ้นอัตราดอกเบี้ยมาอยู่ที่ 3.5% ในเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา นอกจากนี้ ธนาคารกลางทั่วโลกยังยืนยันว่าจะไม่ยอมถอยจากการต่อสู้กับภาวะเงินเฟ้อในเร็วๆ นี้ เราจึงอาจเห็นอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงขึ้นสูงกว่านี้ก่อนที่เศรษฐกิจจะเข้าสู่ช่วงขาลง

ความแน่นอนคือความไม่แน่นอน

เมื่อตอนต้นปี ผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่วาดภาพเศรษฐกิจสำหรับปีนี้ไว้ไม่ค่อยดีนัก ซึ่งเข้าใจได้เพราะในตอนนั้น อัตราเงินเฟ้อกำลังเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและเศรษฐกิจก็เริ่มชะลอตัว ทั้งนี้ นักวิเคราะห์ไม่สามารถทำนายอนาคตได้ แต่พวกเขาคาดการณ์จากข้อมูลที่มีอยู่อย่างสุดความสามารถ ซึ่งปกติแล้ว Surprise ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยนัก แต่หลังจากผ่าน 2023 มาครึ่งทาง เราก็ยังไม่ได้เห็นภาพอย่างที่ผู้เชี่ยวชาญวาดไว้

อันที่จริง การระบุชัดว่า Recession จะเกิดขึ้นเมื่อใด เป็นเรื่องที่ยากแม้แต่กับผู้เชี่ยวชาญ แต่การเตรียมพร้อมให้รับมือกับทุกสถานการณ์เป็นสิ่งสำคัญ เพื่อที่เราจะได้ตัดสินใจเรื่องการลงทุนได้อย่างรอบคอบ เพราะเมื่อพูดถึงการลงทุนแล้ว ความแน่นอนก็คือความไม่แน่นอน

ทั้งนี้ การรับมือสถานการณ์ความไม่แน่นอนอย่างในปัจจุบันไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับนักลงทุน และการที่เศรษฐกิจยังอยู่ในภาวะ Stagflation (ภาวะที่เงินเฟ้อสูง แต่เศรษฐกิจชะลอตัว) ซึ่งเป็นภาวะที่ยากต่อการลงทุน ดังนั้น การตั้งรับอาจเป็นการรับมือที่ดีที่สุดในตอนนี้

เนื้อหาในส่วนนี้เขียนขึ้นร่วมกับ Finimize

🎓ศัพท์โลกการลงทุน: Real Interest Rate (อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง)

Real Interest Rate หรือ อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง คือต้นทุนที่แท้จริงในการกู้ยืมเงิน โดยรวมถึงผลกระทบของเงินเฟ้อ และสะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงของ ‘กำลังซื้อ’ ต่างจาก Nominal Interest Rate หรือ ‘อัตราดอกเบี้ยที่ระบุไว้’ ที่จะไม่คำนึงถึงผลกระทบของเงินเฟ้อ

ยกตัวอย่าง ถ้าคุณกู้เงินด้วยอัตราดอกเบี้ยที่ระบุไว้ที่ 5% และอัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ 2% ดังนั้น อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงจะเท่ากับ 3% โดยต้นทุนที่แท้จริงในการกู้ยืมจะต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยที่ระบุไว้ เนื่องจากเงินเฟ้อจะทำให้มูลค่าของเงินที่เรากู้ยืมนั้นลดลง

การทำความเข้าใจข้อแตกต่างระหว่าง ‘อัตราดอกเบี้ยที่ระบุไว้’ กับ ‘อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง’ จะช่วยให้คุณตัดสินใจได้ดีขึ้นเมื่อถึงเวลาที่คุณต้องกู้ยืมเงินหรือลงทุน


แชร์บทความนี้

  • linkedin
  • facebook
  • twitter
  • email

อยากอ่านเพิ่ม?

เราหวังว่าคุณจะได้ประโยชน์ จากบทความของเรา

ร่วมเป็นส่วนหนึ่งกับผู้คนอีกหลายแสนคนที่ต้องการวางแผนการเงินและการลงทุนอย่างยั่งยืนด้วยการสมัครรับบทความและบทวิเคราะห์ของเราที่จะส่งตรงถึงอีเมลของคุณ