Weekly Buzz: 📊 ทำไม Sentiment ตลาดถึงเปลี่ยนเร็ว
หากคุณจับตามองตลาดอย่างใกล้ชิด คุณอาจสังเกตเห็นว่าตลาดได้เปลี่ยนทิศทางอย่างรวดเร็วในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา โดยดัชนี S&P 500 ได้ปรับตัวขึ้นมากกว่า 7% นับตั้งแต่ต้นเดือน พ.ย.
ข้อมูลเชิงบวกเพิ่มความเชื่อมั่นให้นักลงทุน
ตั้งแต่เดือน ส.ค. ทั้งตลาดหุ้นและตลาดตราสารหนี้ต่างปรับตัวลดลง เนื่องจากการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ดีกว่าคาดและปัญหาเงินเฟ้อที่ยังยืดเยื้อ แต่เมื่อสิ้นสุดเดือน ต.ค. เงินเฟ้อเริ่มลดความร้อนแรงลง และ Fed เริ่มแสดงท่าที Dovish มากขึ้น ทำให้ตลาดเริ่มกลับตัว
หนึ่งในข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญที่สุด คือ Core Inflation ของสหรัฐ (ไม่รวมราคาอาหารและพลังงานที่ผันผวนสูง) ซึ่งปรับตัวลดลงมาอยู่ในระดับต่ำสุดในรอบ 2 ปี YoY ทำให้ตลาดเริ่มคาดหวังมากขึ้นว่า Fed น่าจะใกล้ยุติวงจรการขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่เร็วและแรงที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์นับตั้งแต่ทศวรรษ 1980 แล้ว
นอกจากนี้ ตลาดแรงงานสหรัฐที่ยังแข็งแกร่งทำให้มีความเป็นไปได้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะสามารถ Soft Landing (แก้ปัญหาเงินเฟ้อได้โดยเศรษฐกิจไม่เข้าสู่ Recession) ซึ่งหากเป็นเช่นนั้น เศรษฐกิจของประเทศอื่นๆ ก็ได้รับประโยชน์ตามไปด้วย
อย่างไรก็ตาม แม้นักลงทุนจะตอบรับข่าวดี จนตลาดหุ้นทั่วโลกปรับตัวขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา แต่อย่าลืมว่าเงินเฟ้อในปัจจุบันยังอยู่เหนือระดับเป้าหมายของ Fed ที่ 2%
Key Takeaway คืออะไร?
สถานการณ์ในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา แสดงให้เห็นว่า Investor Sentiment หรือความเชื่อมั่นของตลาด (อ่านเพิ่มเติมได้ใน ศัพท์โลกการลงทุน) สามารถเปลี่ยนแปลงได้เร็วมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัจจุบันที่เศรษฐกิจมีความไม่แน่นอนสูง อย่างไรก็ตาม ปัจจัยสำคัญของการลงทุนระยะยาวคือการยึดมั่นในกลยุทธ์การลงทุนที่ดีและไม่ตัดสินใจอย่างหุนหันพลันแล่น
แทนที่จะจับจังหวะตลาด วิธีที่เหมาะสมกว่าคือการ Stay Invested ในพอร์ตที่มีการกระจายการลงทุนที่ดี (อย่าง General Investing ของเรา 😎) โดยยึดมั่นในการลงทุนแบบ DCA ที่จะช่วยปกป้องพอร์ตจากความผันผวนของตลาด และจะช่วยให้นักลงทุนได้รับประโยชน์จากการลงทุนในระยะยาว
📰 ข่าวอื่นๆ ที่น่าสนใจ: BOJ ยุตินโยบาย Yield Curve Control
ท่ามกลางความกังวลเรื่องปัญหาเงินเฟ้อ ธนาคารกลางญี่ปุ่น (ฺBOJ) ได้เริ่มเปลี่ยนทิศทางนโยบายการเงิน หลังใช้มาตรการแบบผ่อนคลายพิเศษมานานหลายปี
ก่อนหน้านี้ เศรษฐกิจญี่ปุ่นหยุดเติบโตมานานหลายทศวรรษ โดย BOJ ได้ใช้นโยบาย Yield Curve Control เพื่อแก้ปัญหาเงินฝืดมาตั้งแต่ปี 2016 ซึ่งควบคุมอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นและระยะยาวให้อยู่ในระดับต่ำ เพื่อกระตุ้นให้ผู้บริโภคใช้เงินมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม นโยบายดังกล่าวอาจส่งผลกระทบดีเกินไป จนทำให้เงินเฟ้อขึ้นมาอยู่เหนือระดับเป้าหมาย และกดดันให้ BOJ ต้องเริ่มลดมาตรการแทรกแซง Yield ของพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่นอายุ 10 ปี ซึ่งเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญของอัตราดอกเบี้ยระยะยาว ตั้งแต่ 2-3 เดือนที่แล้ว
ในปัจจุบันเมื่อ BOJ ประกาศยกเลิกการควบคุม Yield ของพันธบัตรอายุ 10 ปี ทำให้แนวโน้มตลาดตราสารหนี้ญี่ปุ่นจะได้แรงขับเคลื่อนจากนักลงทุนมากขึ้น โดย Yield ของพันธบัตรอายุ 10 ปีปรับตัวขึ้นไปทำจุดสูงสุดในรอบเกือบ 9 ปีหลัง BOJ เริ่มลดมาตรการแทรกแซง
ทั้งนี้ เมื่อนักลงทุนต้องการ Yield มากขึ้น เพื่อชดเชยความไม่แน่นอนที่เพิ่มสูงขึ้น ก็อาจส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย โดยอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นจะทำให้เงินเยนเป็นที่สนใจของนักลงทุนต่างประเทศมากขึ้น ซึ่งอาจช่วยให้เงินเยนไม่อ่อนค่าลงไปมากกว่านี้
เนื้อหาในส่วนนี้เขียนขึ้นร่วมกับ Finimize
🎓ศัพท์โลกการลงทุน: Investor Sentiment
Investor Sentiment หรือความเชื่อมั่นของตลาด คืออารมณ์ของนักลงทุนที่มีต่อตลาด โดยจะได้รับอิทธิพลจากหลายปัจจัย เช่น ตัวเลขทางเศรษฐกิจหรือสถานการณ์โลก โดย Sentiment เหล่านี้สามารถขับเคลื่อนทิศทางของตลาดได้ เพราะหากนักลงทุนรู้สึกดีก็อาจซื้อสินทรัพย์มากขึ้น ในทางกลับกัน หากนักลงทุนรู้สึกแย่ ก็อาจเทขายสินทรัพย์อย่างหนักได้